จตุพร สุสวดโม้
“ผมไม่มีใบเกิดก็เลยสมัครเรียนไม่ได้” เสียงของสามเณรชาวไทใหญ่ที่ตัดสินใจบวชเรียนหลังหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี เพราะไร้หลักฐานทางทะเบียนทั้งสองประเทศ
แม้ว่าปี 2548 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายการจัดการศึกษาให้แก่คนทุกคนอย่างเสมอภาค หรือ Education for all แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรงเรียนหลายแห่งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กลับเลือกปฏิบัติกับเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
การบวชเรียนจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุของเด็กไร้รัฐสัญชาติ ที่ไร้โรงเรียนรองรับเข้าสู่ระบบการศึกษาจึงตัดสินใจเข้ามาอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาเหมือนเด็กคนไทยคนอื่นๆ
“ผมอพยพตามพ่อกับแม่เข้ามาในไทย 5 ปีแล้ว ตอนเข้ามาผมไม่มีบัตรประชาชนทั้งของไทยและพม่า จึงไม่มีที่ให้เรียน” เหตุผลของสามเณรหยิบยกมาอธิบายถึงการไม่มีหลักฐานทางทะเบียน
“ผมอยากเรียนหนังสือแต่ไม่มีโรงเรียนไหนรับเข้าเรียน พ่อแม่จึงพามาบวชที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่” สามเณรบอกถึงเหตุผลหนึ่งหลังจากหลุดออกจากระบบการศึกษานานกว่า 5 ปี เพราะไร้เอกสารรับรอง
ตึก 3 ชั้น สีขาว ถูกใช้เป็นอาคารเรียน จัดการเรียนการสอนให้กับพระภิกษุ ที่ชื่อว่า “โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ตั้งอยู่ที่ตำบลสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
ตึกแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนสำหรับนักธรรมวินัย ในสังกัดโรงเรียนปริยัติธรรมศึกษา (มจร.) แผนกสามัญศึกษา ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
แม้สถานศึกษาแห่งนี้จัดการศึกษาให้แก่สามเณรที่อยู่ในระดับชั้นม.1-3 ขึ้นไป แต่สามเณรหลายคนในระดับประถมยังเข้าเรียนในสถานศึกษาแห่งนี้เป็นการชั่วคราว
ภายในโรงเรียนมีม้านั่งหินอ่อนสีขาว ที่พระภิกษุ สามเณร ใช้นั่งพักระหว่างเที่ยงวันก่อนเข้าเรียนในภาคบ่าย
บริเวณโต๊ะนั่งมี “สามเณรร้อนแสง” ชาวไทใหญ่ ประเทศพม่า อายุ 15 ปี ซึ่งกำลังศึกษาเล่าเรียนในระดับชั้นม.1 แม้อายุจะเกินเกณฑ์ไปหลายปี
“ตอนแรกไม่ได้จะบวชเรียนหรอกครับ อยากเข้าเรียนโรงเรียนทั่วไป รอนานกว่า 5 ปี ก็ไม่มีโรงเรียนไหนรับเข้าเรียนเลย” เป็นเหตุผลที่สามเณรหยิบยกมาอธิบายการตัดสินใจบวชเรียนเพราะไร้สถานศึกษารองรับ
หลังจากเขารอโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.นานกว่า 5 ปี แต่ไร้วี่แววจะได้รับโอกาสทางการศึกษาจึงบวชเรียน
เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เขาจึงตัดสินใจบรรพชาเข้ามาจำพรรษาในวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ และเล็งเห็นว่าการบวชอาจจะมีโอกาสได้รับศึกษา
สามเณรมีโอกาสได้เข้าเรียนที่ที่รร. สาธิต มจร. สัปดาห์ละ 3 วัน เท่านั้น คือ วันจันทร์-พฤหัส เวลา 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น หลังเลิกเรียนก็เดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัด หากวันไหนไม่ได้ไปโรงเรียนก็จะเรียนพระธรรมวินัยที่วัดกับพระอาจารย์
“ตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ม.1 วิชาที่ชอบคือภาษาไทย หากสามารถใช้ภาษาได้คล่องแคล่ว ก็อยากใช้ความรู้เพื่อเป็นล่ามช่วยเหลือชาวไทใหญ่” นักเรียนแผนกสามัญศึกษาเล่าถึงสาเหตุความมุ่งมั่นในการเรียนภาษาไทย แม้ว่าตอนนี้เรียนอยู่ม.1 แต่การเรียนต้องเริ่มเรียนใหม่ทั้งหมด เพราะไม่มีพื้นฐานการเรียนมาก่อน
“พึ่งบวชเรียนได้ 3 เดือน ก่อนหน้านี้ได้มีการเรียนพื้นฐานภาษาไทย ก-ฮ กับพระอาจารย์ที่วัดก่อนเข้ามาเรียน ม.1 ที่นี่ แม้จะเรียนทันเพื่อนบ้างไม่ทันบ้าง แต่อาศัยฝึกเขียนภาษาไทยในทุก ๆ วัน” ศิษย์พระตถาคตถอนหายใจแม้พยายามเรียนภาษาไทยอย่างเต็มที่แต่ตอนนี้ก็ยังสื่อสารติดๆขัดๆ
ถัดไปอีกที่นั่งไม่ไกลนัก มีที่นั่งไม้เก่า ๆ แม้แดดร้อนแต่สามเณรก็อาศัยร่มเงาต้นมะขามรวมกลุ่มพูดคุยกันขณะที่ “ทุน สามเณรวัย 14 ปี” ชาวไทใหญ่ ประเทศพม่า นั่งสนทนาพูดคุยกับเพื่อนสามเณรตามประสาวัยเรียน
สามเณรรายนี้เล่าว่า เข้าเรียนที่นี่เป็นเวลา 3 เดือน แต่พอได้มาบวชเรียนแล้วได้เจอกับเพื่อน ๆ ที่มีปัญหาไม่มีที่เรียนเหมือนกัน ทำให้สนิทกันเร็ว และทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
“ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่ามีความฝันอะไร แต่แค่ได้มีที่เรียนก็ดีมากแล้ว ได้มีเพื่อนพูดคุยทำให้ไม่เหงาเหมือนตอนเล่นเกมส์อยู่บ้าน”
สามเณรเล่าย้อนชีวิตก่อนมาบวชเรียนว่า พ่อแม่ต้องไปทำงานในเมืองจึงต้องอยู่บ้านคนเดียว ก่อนหน้านี้พ่อแม่พาไปฝากเข้าเรียนแต่ไม่มีที่ไหนรับเลยพามาบวชและเข้าศึกษาที่นี่
“แค่ไม่มีบัตรประชาชน ทำไมถึงเข้าเรียนไม่ได้ ทำให้รู้สึกเหมือนชีวิตเราไร้ค่า แค่ที่เรียนยังไม่มีเลย” สามเณรทุนอธิบายถึงความรู้สึกของตนเองที่ไม่มีโรงเรียนรองรับ
สามเณรทุนเล่าถึงชีวิตและครอบครัวว่า ตอนนี้จำพรรษาอยู่วัดแห่งหนึ่งแถวคูเมืองเชียงใหม่ พ่อกับแม่จะมาเยี่ยมเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น เพราะครอบครัวทำงานแถวอำเภอสันทราย ด้วยความห่างไกลและเข้าใจว่าพ่อแม่ต้องหาเงินแม้อาจจะคิดถึงแต่ก็เข้าใจดี
“แม้ต้องห่างกับพ่อแม่ แต่ก็อยากบวชเรียนต่อ เพราะหากลาสิกขาก็ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหนเหมือนกัน การบวชเรียนก็ไม่ได้แย่นะครับ เพราะพระอาจารย์ดูแลเราเหมือนลูกคนนึง” สามเณรเล่าถึงชีวิตของตนเองในขณะที่ต้องบวชเรียนและห่างกับครอบครัว
วันนี้ทั้งสามเณรร้อนแสง และสามเณรทุน เยาวชนชาวไทใหญ่ต่างมีชะตาชีวิตที่ไม่แตกต่างกัน ศาสนาเป็นที่พึ่งเพื่อให้สามเณรเหล่านี้ได้พัฒนาตัวเองศึกษาเล่าเรียน เช่นเดียวกับในอดีตที่สังคมไทยมีวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา แต่ยุคปัจจุบัน การศึกษายุคใหม่กับทอดทิ้งนักบวช ถึงขนาดมีการออกกฎกติกาจากบางหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่ยอมจัดการศึกษาให้กับสามเณร
ทำไมเขาถึงใจร้ายกับคนไร้รัฐไร้สัญชาตินัก แม้กระทั่งสามเณรก็ยังถูกปิดกั้นการศึกษา