วันที่ 10 กันยายน 2566 นางวากือชี เทนเนอร์ (Wahkushee Tenner) ผู้อำนวยการเครือข่ายสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network) ให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ที่หมู่บ้านทีกอท่า ต.เดวโล ในเขตอุทยานสันตภาพสาละวิน (ตรงข้าม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน) รัฐกะเหรี่ยง มีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของกองทัพพม่า ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงเสียชีวิตทันที 4 คน โดยเป็นครู และเด็กนักเรียน และมีผู้บาดเจ็บ 6 คน ซึ่งเป็นครูและนักเรียนเช่นเดียวกัน และที่หมู่บ้านเตทูคี ต.ลูต่อ ๖ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน) ก็มีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของกองทัพพม่า ทำให้มีนักเรียนบาดเจ็บ 1 คน
ผอ.เครือข่ายสันติภาพกะเหรี่ยงกล่าวว่า กองทัพพม่าส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดอยู่แทบทุกวันในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง และมีการยิงปืน ค. ระยะไกล อาคารต่างๆ ถูกทำลาย ทั้งโรงพยาบาล โบสถ์ โรงเรียน เป้าหมายของกองทัพพม่าที่โจมตีคือประชาชน คือชาวบ้าน ไม่ใช่ทหาร ทำให้เวลานี้ประชาชนต้องอยู่กันอย่างยากลำบาก ไม่สามารถอาศัยอยู่ในหมู่บ้านได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต่อเนื่องตั้งแต่เกิดรัฐประหารในพม่า
ผอ.กะเหรี่ยงกล่าวอีกว่าอย่างไรก็ตาม มีหลายอย่างชี้ให้เห็นได้ชัดเจนว่า ขณะนี้กองทัพพม่ามีความอ่อนแอมาก บางครั้งพบทหารพม่าในฝั่งไทยเนื่องจากฐานถูกปิดเส้นทาง กองทัพพม่าไม่มีการส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ และเวลานี้ในรัฐกะเหรี่ยง มีฐานทหารพม่า 22 ฐานถูกทิ้งเนื่องจากทหารพม่าหนีออกไปหมด และมี 31 ฐานที่โดนยึดโดยกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU)
ส่วนสถานการณ์ในรัฐคะเรนนี ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง และอ.ขุนยวม เครือข่ายภาคประชาสังคมคะเรนนี (Karenni Civil Society Network – KCSN) ได้ออกรายงานสรุปสถานการณ์การพลัดถิ่นของประชาชนในรัฐคะเรนีเนื่องจากการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพพม่า ว่าขณะนี้มีผู้พลัดถิ่นภายใน (Internally Displaced Person-IDP) จำนวน 232,615 คน โดยทุกเมืองในรัฐคะเรนนีถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องทั้งโดยเครื่องบินรบและโดรน
นายพฤ โอโดเชา ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ระดมข้าวสารและของจำเป็นจากชาวบ้านเครือข่ายชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ไปบริจาคให้ชาวคะเรนนี ที่ต้องอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในพื้นที่ชั่วคราวในประเทศไทย ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านพบว่าสถานการณ์ยังคงไม่สงบ ชาวบ้านได้บอกกับตนว่าตอนนี้ต่างละลายตัวตนของกลุ่มต่างๆ หรือแม้กระทั่งชนเผ่าของตน ให้เหลือเพียงความเป็นคน เป็นการเคารพในความเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม เพราะประชาชนชาวพม่าทั่วทั้งประเทศต่างกำลังเผชิญกับอำนาจที่กดขี่เข่นฆ่าประชาชน ซึ่งชาวพม่าไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศแบบเผด็จการทหาร และประชาชนพม่าต่างมีความหวังที่จะให้เกิดสันติภาพได้คืนสู่แผ่นดินของตนโดยเร็ว

สำหรับตัวเลขจำนวนผู้หนีภัยการสู้รบล่าสุด รายงานของกระทรวงมหาดไทยระบุว่ามีจำนวนผู้หนีภัยความไม่สงบจากพม่า พำนักในฝั่งไทยจำนวน 8,629 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 5 แห่ง ใน อ.แม่สะเรียง อ.ขุนยวม และอ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อวันที่ 7 และ 8 กันยายนที่ผ่านมามีผู้เดินทางกลับเมียนมากว่า 100 คน ทั้งๆที่สถานการณ์การสู้รบในพื้นที่ยังรุนแรง