Search

โวย กฟผ.งุบงิบลงนามสัญญาซื้อไฟเขื่อนปากแบง กสม.-ภาคประชาชน-ข้าราชการท้องถิ่นงงเสียงท้วงติงไม่ได้รับการพิจารณา “ครูตี๋” จวกหน่วยงานรัฐไม่ทำหน้าที่คุ้มครองชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการจัดการประชุมรับฟังข้อเท็จจริงกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง มีนางศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธาน โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย  คณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch) กอรมน.เชียงราย นายอำเภอเชียงของ และผู้นำท้องที่-ท้องถิ่น ใน อ.เชียงของ และอ.เวียงแก่น   

ทั้งนี้ผู้แทนหน่วยงานต่างๆได้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อน ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านและเครือข่ายต่างแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่างๆ โดยไม่ทราบมาก่อนว่ามีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงแล้ว โดยตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งในที่ประชุมในช่วงท้ายว่าได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง 920 MW เมื่อวันที่13 กันยายน 2566 ระยะเวลาสัญญา 29 ปี กำหนดเริ่มขายไฟฟ้า พศ. 2576 ราคารับซื้อไฟฟ้า 2.70 บาท โดยโครงการเขื่อนปากแบง ปากลาย และหลวงพระบาง ซึ่งเป็น 3 โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงที่มีการลงนามซื้อไฟฟ้าล่าสุด มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นกว่าเขื่อนไซยะบุรี 

ผู้แทนกฟผ. ระบุว่าสัญญาเขื่อนปากแบง มีเงื่อนไขสำคัญที่ต่างจากเขื่อนไซยะบุรี คือมาตรการลดผลกระทบข้ามพรมแดน กองทุนเยียวยา ซึ่งเขื่อนไซยะบุรีไม่มีกำหนดไว้ กองทุนเยียวยาเขื่อนปากแบง 45 ล้านบาท/ปี เขื่อนหลวงพระบาง 73 ล้านบาท/ปี โดยวงเงินเยียวยานี้จะปรับทุก 5 ปี และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้พัฒนาโครงการที่จะดูแล ต้องศึกษาให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มก่อสร้างโครงการ ในสัญญาระบุถึงการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม

ทันทีที่ทุกคนในห้องประชุมทราบว่ามีการรับซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบงแล้ว หลายคนรู้สึกไม่พอใจเพราะการที่หลายฝ่ายต่างแสดงความเป็นห่วงมาโดยตลอดกลับไม่ได้รับการพิจารณาใดๆ เลย

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาค International Rivers กล่าวว่าสัญญาซื้อไฟฟ้าที่ลงนามไปแล้วไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ทำให้เห็นว่าทุกอย่างที่เครือข่ายประชาชนได้ร้องเรียน ได้ส่งหนังสือไปคัดค้าน สอบถาม ทำให้โปร่งใสและรับผิดชอบต่อแม่น้ำโขงและประชาชนไทย ถูกเพิกเฉยไม่รับฟังโดยหน่วยงานรัฐและผู้มีอำนาจ ไฟฟ้าของไทยกำลังล้นระบบ บางเดือนเหลือถึงครึ่ง แต่ประชาชนไทยกลับต้องจ่ายไฟฟ้าแพงอยู่ตลอดเวลา เขื่อนนี้ไม่จำเป็นต่อไทย แต่กลับสร้างความมั่งคั่งให้ใคร 

นางศยามล กสม. กล่าวว่าเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนกลุ่มรักษ์เชียงของ ก็เรียกจัดประชุมเพราะการให้ได้ข้อมูลข่าวสารจะสามารถทำให้เกิดการป้องกันแก้ไขปัญหาได้ กสม.จึงให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นและรับฟังประชาชน แม้โครงการนี้จะลงทุนโดยบริษัทจีน และต่อมาร่วมทุนโดยบริษัทไทย และจะรับซื้อไฟฟ้าโดยกฟผ. กสม. สามารถตรวจสอบได้โดยหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยก็ตาม เป็นการตรวจสอบผลกระทบสุขภาพ หากมีข้อห่วงกังวลอย่างไรให้หารือ หากสิ่งใดเป็นอำนาจของรัฐบาล กสม.ก็จะทำเรื่องเสนอไป 

นางศยามลกล่าวว่า เมื่อวานนี้ได้ลงไปคุยชาวบ้าน พบว่าเมื่อลำน้ำสาขาไหลลงมาฝนตกหนัก เขื่อนจิงหงกะเปล่อยน้ำ แต่เราต้องใช้งบประมาณแผ่นดินชดเชยเยียวยา จะแก้ปัญหานี้อย่างไร แผนการรับมือปัญหาที่จะเกิดเราได้เตรียมไว้อย่างไร ก่อนหน้านี้ได้มีการร้องเรียนมาก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดกระบวนการรับฟัง (PNPCA) ซึ่งกสม.ชุดที่ 3 ได้พิจารณาเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม แต่มีกาฟ้องศาลปกครอง จึงยุติการตรวจสอบ ในขณะนั้นกสม. ได้ตรวจสอบเรื่องผลกระทบ ประเด็นน้ำเท้อและผลกระทบต่อแผ่นดินไทยซึ่งเป็นข้อกังวล และเห็นว่ารัฐไทยต้องป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงมีข้อเสนอไปยังคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ให้ชี้แจง 8 ข้อกังวลหลักจาก PNPCA ว่าจะมีมาตรการแก้ไขอย่างไร และส่งไปยังคณะรัฐมนตรีว่าการรับซื้อไฟฟ้าต้องนำหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR) มาพิจารณา 

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า เขื่อนปากแบงจะสร้างห่างจากไทยไม่มาก แม่น้ำโขงเราเห็นแล้วว่าผลกระทบจากเขื่อนต่างๆ รุนแรงมากมาย ปริมาณน้ำที่หายไป การไหลของน้ำเป็นไปไม่ตามฤดูกาล ตะกอนหาย ทุกอย่างเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี มีการผลักดันเขื่อนปากแบงตั้งแต่ปี 2559 ในการรับฟังความเห็นชาวบ้านพูดชัดเจน น้ำเท้อเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด พื้นที่เกษตรจะเสียหาย ไม่ใช่เฉพาะแม่น้ำโขงแต่ท่วมไปถึงน้ำสาขา เขื่อนปากแบงจะกระทบถึงประเทศชาติ กระทบต่อเขตแดนและพื้นที่ที่ประชาขชนเคยได้ใช้ประโยชน์ ผาไดที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวและประเพณี ก็จะถูกน้ำที่กักเก็บ 340 ม.รทก. จากเขื่อนปากแบงท่วม แก่งผาไดจะจมตลอดไป หาดบ้านดอน ซึ่งในฤดูแล้วเป็นหาดสำคัญที่สุดของ อ.เชียงของ เป็นแหล่งท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ขายมีรายได้ในฤดูแล้ง และผลกระทบต่อไก สาหร่ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักหนึ่งของคนเชียงของ 3 เดือนจะมีรายได้ราว 8-9 หมื่นบาท หากน้ำนิ่ง หากแม่น้ำโขงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ไก ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และจะไม่หวนคืนกลับมาอีก เกาะแก่งหินผาที่เคยโผล่ในฤดูแล้งก็จะไม่มีแล้ว นกอพยพจะไม่มีที่วางไข่ ผมเพิ่งขึ้นไปที่แก่งช่องไทร ทราบว่าน้ำโขงเวลานี้คือ 340 ม.รทก. ก็คือน้ำจะท่วมแบบนี้ 

“เขื่อนปากแบงไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะอธิบายความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง ชาวบ้าน และประเทศชาติ กี่ปีมาแล้วชาวบ้าน ประชาชน ใช้เหตุผลทุกอย่างในการเรียกร้องให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปโดยถูกต้อง ใช้ข้อมูล ใช้ความจริง แต่วันนี้เห็นแล้วว่าการตัดสินใจลงนาม PPA เมื่อ 3 วันที่แล้ว ไม่ได้ใช้เหตุผลหรือข้อมูล แต่เป็นผลประโยชน์ เสียใจมากที่หน่วยงานนรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองประชาชน” นายนิวัฒน์ กล่าว

นางสาวไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าคำถามคือทำไมประเทศไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ชาวบ้านได้ทำหนังสือส่งไปเพื่อติดตามและแสดงความกังวลโดยตลอด ต่อมาได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการในรัฐสภา เพื่อให้ตรวจสอบและขอให้ชะลอกานรลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เนื่องจากเห็นความเร่งรัดในการลงนาม PPA หลังจากมีบริษัทเอกชนไทยเข้ามาร่วมทุน ต่อมา กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ขอข้อมูลร่าง PPA แต่ก็พบว่าไม่มีข้อมูลเปิดเผยให้ เห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีความเป็นธรรม สำหรับคนไทยในฐานะที่เห็นผู้ซื้อไฟฟ้าและต้องรับภาระต้นทุนและผลกระทบ 

นายมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง อ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบงกำหนดระดับกักเก็บไว้ 340 มรทก. แต่เส้นน้ำท่วมในแผนที่ทางการกลับหาย ไปไม่เข้ามายังลำน้ำสาขา การศึกษาของ MRC แสดงให้เห็นว่าระดับน้ำเท้อจะท่วมแก่งผาได เท้อได้ถึง 350 ม.รทก. เรื่องเขตแดนนั้นแม่น้ำโขงคือร่องน้ำลึก จากเสาวัดระกับน้ำที่กรมทรัพยากรน้ำปักไว้ แก่งผาไดจะจมหายตลอดไป แล้วเส้นแบ่งเขตแดนจะเข้ามาทางไทยหรือไม่ เป็นสิ่งที่มีความกังวล ในลำน้ำสาขา แม่น้ำงาว ไม่มีการปักหมุด แต่ท่วมอย่างแน่นอน

ดร.วินัย วังพิมูล วิศวกรชำนาญ สทนช. กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการเขื่อนปากแบงว่ามีระยะทางตามลำน้ำถึงชายแดนไทยลาวที่ผาได้ 96 กม. ผ่านกระบวนการ PNPCA แล้ว แต่เขื่อนสานะคามกำลังทำ PC มีประเด็นวิกฤติเรื่องพรมแดนเพราะจะมีผลกัดเซาะร่องน้ำ ระดับ 340 เขื่อนกักเก็บน้ำเป็นระดับสูงสุด full storage 912 MW จำนวนเครื่องผลิตไฟฟ้า 16 เขื่อน ความยาวอาคาร 410 เมตร การตอบสนองของสปป.ลาวต่อข้อห่วงกังวลของ MRC จาก Reply Form  การตอบจะใช้ความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลจากรัฐบาลลาว ที่ MRCs ส่งให้ประเทศสมาชิก เราได้จัด 4 ครั้ง นำความเห็นข้อห่วงกังวลไปใส่ และ Technical Review Report ที่มีผู้เชี่ยวชาญจัดทำ ซึ่งหน่วยงานเราได้ติดตามและออกหนังสือแจ้งทวงถามไปตลอดว่า JAP เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งคำตอบก็แจ้งว่ายังไม่มีความคืบหน้าของโครงการ แต่มีขอโครงการหลวงพระบาง เนื่องจาก TNMC ถามทุกเขื่อน

“ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดกับประเทศไทย น้ำเท้อ ประมงและทางผ่านปลา ตะกอน คำแนะนำเรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบและระบบติดตาม มาตรการการชดเชยเยียวยา ฯลฯ  สทนช.มีมาตรการหรือแผนบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน คือ สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมจากโครงการปากแบง ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ 2562 ตั้งเสาแสดงค่าระกับน้ำ ม.รทก. การเตรียมการจัดตั้งสถานีวัดน้ำ อ.เวียงแก่น ซึ่งจะวัดน้ำทุก 15 นาที กำลังอยู่ระหว่างการประสานงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลก่อการสร้างเขื่อน” ดร.วินัย กล่าว

ขณะที่นายอำเภอเชียงของ กล่าวว่าเมื่อมีการแจ้งเตือนเราก็ได้แต่รับรู้รับทราบ ทำอะไรไม่ได้ ดูแล้วก็ไม่สามารถจะแก้ผลกระทบได้ และได้แต่รู้อย่างเดียว มีการแจ้งทุกหมู่บ้าน แชร์ไลน์ก็ไปรวดเร็ว ว่ามันขึ้นนะลงนะ ก็ได้แค่นี้ 

ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าประเด็นเขตแดนเป็นหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบ อรนุสัญญาเขตแดนไทยลาว เขตแดนทางบกแก่งผาได เป็นเขตแดนจากแม่น้ำโขงไปตามสันปันน้ำ ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส เขตแดนแม่น้ำโขง 1926 เป็นไปตามร่องน้ำลึก ยกเว้นเกาะ 42 แห่ง สำหรับเชียงราย สบรวก ถึงแก่งผาได กำหนดไว้ตั้งแต่สมัยสยามฝรั่งเศสตกลงไว้ มีการหารือไทยลาว 2539 มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทยลาว (JBC) ปัจจุบันทำหลักเขตแดนไปแล้ว 96% เหลือแก่งผาได เป็นส่วนที่เหลือ 4%

“สำหรับคำถามจากผู้เข้าร่วม ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงจากเขื่อนปากแบง ในสปป.ลาว กระทบต่อเขตแดนมั้ย ตอบว่า กระทบต่อการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะทำงาน การที่น้ำเท้อทำให้เส้นเขตแดนทางบกไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะกระทบต่อการเจรจา สำหรับเส้นเขตแดนแม่น้ำโขง ตามร่องน้ำลึก การสร้างเขื่อนย่อมกระทบต่อร่องน้ำลึก และเกาะดอนของไทยและลาว กรมมีหน้าที่เจรจาบนพื้นฐานของกฎหมาย การดูเรื่องผลกระทบเขตแดน ดูกฎหมายและผลการตรวจสอบทางเทคนิค ว่ามีกระทบหรือไม่ ขอให้กรมแผนที่ทหาร ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ฯลฯ ดูว่ากระทบหรือไม่

ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าเราต้องซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากเพื่อนบ้านซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาด มีส่วนช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอน  กระบวนการรับซื้อไฟฟ้า ไทยลาวมีข้อตกลง MOU มีคณะอุกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพิจารณาโครงการให้สอดคล้อง โครงการที่นำเสนอต้องมีบริษัทไทย แสดงความพร้อม ราคารับซื้อที่เหมาะสม มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น tariff MOU มีเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการรับผิดชอบในการเยียวยาผลกระทบ รวมถึงผลกระทบข้ามแดน เป็นการรับซื้อไฟฟ้าที่ราคาคงที่ตลอดอายุสัญญา ปากแบงผ่านกระบวนการในลาวมาแล้วอย่างครบถ้วนตามเกณฑ์ มีการจัดทำร่าง PPA โดยมอบหมายให้ กฟผ. ลงนาม

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →