เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร กลุ่มชาวแรงงานชาวพม่าในไทยได้จัดกิจกรรมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากรณีออกมาตรการบังคับคนทำงานในต่างประเทศให้ส่งเงินกลับประเทศสัดส่วน 1 ใน 4 ของรายได้โดยผ่านระบบธนาคารพม่า หากฝ่าฝืนจะถูกห้ามทำงานในต่างประเทศ 3 ปี ขณะที่แรงงานพม่าในไทยชี้เป็นการรีดไถเงินจากประชาชนเพื่อเอาไปเลี้ยงรัฐบาลเผด็จการ นอกจากนี้กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้มีการอ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือร้องเรียนถึง UN เร่งกดดันรัฐบาลพม่า
หนังสือร้องเรียนระบุว่า รัฐบาลทหารพม่าเตรียมออกมาตรการให้แรงงานข้ามชาติชาวพม่าต้องส่งเงินรายได้สกุลเงินต่างชาติกลับประเทศเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้ทั้งหมดผ่านระบบธนาคารที่ทางการรับรอง หากฝ่าฝืนจะถูกห้ามทำงานต่างประเทศ 3 ปี กลุ่ม Bright Future ซึ่งเป็นแรงงานชาวพม่าในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นต้องออกมาคัดค้านพฤติกรรมการกดขี่ขูดรีดแรงงานดังกล่าวให้ถึงที่สุด ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา คนธรรมดาได้ร่วมกันต่อต้านรัฐประหารทั้งด้วยสันติวิธีและการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศจนกระทั่งรัฐบาลทหารของพล.อ.มินอ่องหลายเริ่มทำการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ทำให้นักสู้บางส่วนต้องพลัดถิ่นไปทำงานหาเลี้ยงชีพในต่างแดน
หนังสือร้องเรียนระบุว่า ถึงวันนี้รัฐบาลทหารของพล.อ.มินอ่องหลายได้คุมขังนักโทษการเมืองกว่า 23,000 คน ใช้อาวุธปืนไปจนถึงการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบเข่นฆ่าประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 3,728 คน และต้องมีผู้ลี้ภัยอีกนับไม่ถ้วน เหตุที่ประเทศพม่าในวันนี้ขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพราะการทำรัฐประหารล้มประชาธิปไตย เพราะในเมื่อความมั่งคั่งของประเทศมาจากประชาชนผู้ใช้แรงงานที่ผลิตสินค้าและบริการ รัฐบาลของพล.อ.มินอ่องหลาย ที่ตั้งตนเป็นศัตรูของประชาชนเช่นนี้ จึงไม่มีแรงงานผู้ใดสนใจทำงานให้อีกต่อไป จึงเหลือหนทางเดียวคือการปล้นประชาชนด้วยกฎหมายและความรุนแรง ซึ่งนอกจากจะเป็นอาชญากรรมแล้ว ยังเป็นความโง่เขลาที่จะยิ่งทำให้ปัญหาทุกด้านแย่ลงด้วย
“พวกเราขอเรียกร้องไปยังสหประชาชาติ รัฐบาลไทย และประชาคมอาเซียนดังนี้ 1.เร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามโมเดล Humanitarian Corridor บริเวณชายแดนไทย โดยกําหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและปราศจากปฏิบัติการทางทหาร 2.เร่งกดดันแผนการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (Five-point Consensus) โดยเฉพาะข้อที่หนึ่ง คือการยุติความรุนแรงทั้งหมดในประเทศเมียนมา และข้อที่สี่ คือภารกิจด้านมนุษยธรรมในเมียนมา 3.ให้รัฐบาลไทยเร่งยอมรับขบวนการประชาธิปไตยเมียนมาในรูปแบบของการรับฟังและร่วมมือกับกลุ่ม Civil Disobedience Movement (CDM), People’s Defence Force (PDF), และรัฐบาลพลัด ถิ่น National Unity Government of Myanmar (NUG) โดยเฉพาะภายในพื้นที่ประเทศไทย 4.กดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้เร่งคืนอำนาจประชาธิปไตยสู่ประชาชน คืนความยุติธรรมและปล่อยตัว นักโทษทางการเมืองทุกคน เพื่อนำประเทศกลับสู่สภาวะปกติและสร้างเสถียรภาพในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องพึ่งพาแผนการรีดไถเงินจากผู้ใช้แรงงานดังในปัจจุบัน เงินของเราจะไม่มีวันตกถึงมือรัฐบาลฆาตกร” หนังสือร้องเรียน ระบุ
ด้านนายสุรัช กีรี นักกิจกรรมชาวพม่าในไทย กล่าวว่า แรงงานพม่าในไทยไม่ต้องการให้รัฐบาลริบเงินที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรงจากการทำงาน การออกมาตรการของรัฐบาลพม่าคือการพยายามรีดไถเงินจากประชาชนเพื่อเอาเงินไปเลี้ยงรัฐบาลฆาตกร จึงออกมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า
“แรงงานพม่าในไทยต่างต้องเสียภาษีรายได้ให้รัฐบาลไทย บางคนเข้าไม่ถึงสิทธิของแรงงานด้วยซ้ำ หากต้องส่งเงินกลับประเทศผ่านธนาคารพม่า เราก็คงไม่เหลือเงินที่ได้จากการทำงาน เพราะถูกรัฐบาลเผด็จการริบเงินเพื่อไปเลี้ยงความอยู่รอดของพวกพ้องตนเอง“สุรัชกล่าว
ขณะที่ ‘ดอว์ อะซีน’ แรงงานเมียนมาในไทย กล่าวว่า เราต้องหนีตายจากประเทศบ้านเกิดมาทำงานในต่างประเทศก็เพราะเผด็จการทหารพม่า อยู่ที่ไทยเราต้องทำงานหนักเพื่อให้มีชีวิตรอด
“เราต้องใช้เงินส่งให้ลูกๆ เรียนหนังสือ จ่ายค่าเช่า ค่าอยู่ค่ากิน ทำงาน 2 คนผัวเมีย แต่ละเดือนไม่เคยเหลือเงินเก็บ หากออกมาตราบังคับต้องเอาเงินที่ได้จากการทำงานส่งกลับประเทศบ้านเกิด พวกเขาคงจะขโมยเงินของพวกเราไป” ‘ดอว์ อะซีน’ กล่าว
ด้านนายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ Migrant working group กล่าวว่า หากมีการบังคับใช้มาตรการนี้จริง แรงงานจะถูกตัดสิทธิการเดินทางออกนอกประเทศ 3 ปี การบังคับให้ส่งเงิน 25% กลับบ้านที่พม่าเป็นการสร้างภาระให้กับแรงงานโดยใช่เหตุ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานข้ามชาติจะหนีออกนอกระบบเอ็มโอยู และแอบเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายมากขึ้น แรงงานข้ามชาติมีความไม่แน่นอน โดยเท่าที่เข้าใจรัฐบาลพม่าต้องการให้บริษัทที่ส่งไปทำงานต่างประเทศเป็นคนทำบัญชีให้ด้วย ซึ่งเป็นเหมือนการบังคับ
“ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่ส่งเงินกลับบ้านผ่านนายหน้ามากกว่า สะดวกกว่า ส่งผ่านธนาคารแทบจะน้อยมากเพราะอัตราการแลกเปลี่ยนจะได้น้อยกว่า และส่งผ่านตลาดมืดจะได้เงินมากกว่า ช่วงหลัง ๆ เริ่มมีการส่งเงินผ่าน True Money Wallet เพิ่มมากขึ้น หากมีการบังคับใช้มาตรการนี้จริง แรงงานคงเลือกที่จะไม่ส่งเงินกลับบ้านและพอครบสัญญาเขาจะหนีออกนอกระบบซึ่งจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยและแผนของรัฐบาลที่วางไว้ในอนาคต” นายอดิศรกล่าว