เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า เกิดเหตุระเบิดในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) ชาวคะฉิ่น ใกล้กับฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army : KIA)
ในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า เมื่อเวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 9 ตุลาคม 2566เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 29 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กและคนชรารวมอยู่ด้วยจำนวนมาก เหตุทิ้งระเบิดครั้งนี้ ยังทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 56 คน และสภาพค่ายผู้พลัดถิ่นภายในแห่งนี้ได้รับความเสียหายย่อยยับ
ทางทหาร KIA เผยว่า ไม่ได้ยินเสียงเครื่องบิน แต่คาดการณ์ว่า กองทัพพม่าอาจใช้โดรนบังคับเพื่อโจมตีเป้าหมายค่ายแห่งนี้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองไลซา และติดกับชายแดนจีน ซึ่งทาง KIA กำลังเร่งสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
ขณะที่เมื่อปีที่แล้ว กองทัพพม่าได้ใช้เครื่องโจมตีงานคอนเสิร์ตแห่งหนึ่งในรัฐคะฉิ่น เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย และบาดเจ็บอีก 70 ราย ทั้งสองฝ่ายมักปะทะสู้รบกันบ่อยครั้ง
ด้านสำนักข่าว Myanmar Now ได้รายงานว่า ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในตั้งอยู่ในหมู่บ้าน มอนไลเค็ต ห่างจากเมืองไลซาไปราว 3.2 กิโลเมตร มีผู้พลัดถิ่นภายในจากสงครามอาศัยอยู่ที่ค่ายแห่งนี้ 500 คน จนถึงขณะนี้ยังมีการระดมค้นหาร่างผู้เสียชีวิต
“นี่เป็นการสังหารหมู่ต่อประชาชนชาวคะฉิ่น เป็นการใช้การทหารเข่นฆ่าชาติพันธุ์” พันเอกหน่อบู โฆษกของ KIA กล่าว
ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่ารัฐบาลทหารพม่ายิงถล่มค่ายผู้ลี้ภัยในรัฐคะฉิ่น สันติภาพใกล้ตัวที่เราต้องช่วยกันเรียกร้องและประณามการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ตอนนี้ประเด็นสงครามและสันติภาพที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือประเด็นที่เกิดขึ้นในอิสราเอล การโจมตีอย่างไร้มนุษยธรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อหมู่มวลมนุษยชาติ ในประเทศไทยได้มีหลายภาคส่วนให้ความคิดเห็นและแสดงจุดยืนกันหลากหลาย เนื่องจากพี่น้องประชาชนคนไทยหลายหมื่นคนได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาซึ่งอยู่ติดกับไทยฝั่งตะวันตก ดูเหมือนการให้ความสำคัญน้อยกว่าควรที่จะเป็น
สส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่าผลกระทบฝั่งตะวันตกของไทยมีมาก แต่อาจดูว่าผลกระทบของความรุนแรงที่กระทบต่อคนไทยน้อยกว่าที่อิสราเอล แต่ในความเป็นจริงนั้นผลกระทบยาวนานและได้ฝังรากลึก จนดูเหมือนสิ่งที่ไม่ธรรมดาอันนี้กลายเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้น ที่ทำให้ไทยเริ่มมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา
“อย่าหลงทิศกันนะครับ เราควรให้ความใส่ใจในประเด็นปัญหาสงครามและสันติภาพในทุกภูมิภาคบนโลกใบนี้แบบเท่าเทียมและดูว่าอะไรจะเป็นผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เวลาเราวิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์โลกออกมาจะสามารถเห็นได้ว่าประเทศไทยควรวางตัวในจุดใดบนเวทีระหว่างประเทศ
หากมองให้ดีจะเห็นว่าปัญหาในเมียนมา ประเทศไทยสามารถมีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพได้ดีที่สุด ทั้งในแง่มุมของภูมิรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งหากวางจุดยืนทางการทูตของไทยดีๆ จะทำให้ผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ผลกระทบจะสามารถเบาบางลง”นายกัณวีร์กล่าว
นายกัณวีร์กล่าวว่า การยิงถล่มค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่รัฐคะฉิ่น ที่มีพื้นที่ใกล้กับจีนนั้น อาจดูเหมือนห่างไกลกับไทย แต่จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ที่จะกลับเข้ามากระทบต่อฝั่งไทยในไม่ช้า ทหารพม่าเริ่มเปลี่ยนจุดยุทธศาสตร์ทางทหารไปในดินแดนที่ติดกับจีน อาจเป็นด้วยเหตุผลที่รัฐบาลจีนมิได้มีความเคลื่อนไหวต่อต้านการลิดรอนสิทธิมนุษยชนในเมียนมาเนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อนด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนอย่างมาก ซึ่งหากรัฐบาลไทยหลงทาง เดินตามนโยบายเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับทหารพม่าเพียงอย่างเดียวแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานทหารพม่าจะกลับมาเพิ่มระดับการปฏิบัติการทางทหารในฝั่งระเบียงชายแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดกับไทยในไม่ช้า
“การวิเคราะห์เรื่องสงครามและสันติภาพโลกอย่างครอบคลุม จะทำให้ไทยมีจุดยืนที่สง่าผ่าเผย รวมทั้ง รักษาอำนาจอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งดินแดนไว้อย่างมั่นคง และที่สำคัญที่สุดคือผลประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่กับพี่น้องประชาชนคนไทยและประเทศชาติโดยรวม”สส.พรรคเป็นธรรม กล่าว
———-
ภาพจาก Myanmar Now