สำนักข่าว SHAN รายงานเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ผู้นำกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม เช่น พล.อ.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA และคณะ รวมถึง นายพลมูตูเซพอ อดีตประธาน KNU ได้เดินทางไปยังกรุงเนปีดอว์ เพื่อเข้าร่วมงานครบรอบ 8 ปี การลงนามหยุดยิงแห่งชาติกับกองทัพพม่า ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ขณะที่สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า กลุ่มที่เคยลงนามหยุดยิง 3 กลุ่ม อาทิ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF) และแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) ประกาศจุดยืนจะไม่เข้าร่วมงานที่ทางการพม่าจัดขึ้น และจะไม่มีการเจรจาใดๆ กับกองทัพพม่า จนกว่าการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในประเทศจะยุติลง
ทั้ง 3 กลุ่มที่ได้ต่อสู้เพื่อต่อต้านกองทัพพม่าร่วมกับกลุ่มต่อต้านอื่นๆ ระบุว่า การรัฐประหารเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ทำลายหัวใจสำคัญของการลงนามหยุดยิง แถลงการณ์ร่วมยังระบุว่า การโจมตีพลเรือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของรัฐบาลทหารถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และตอกย้ำว่า การลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) นั้น ใช้ไม่ได้อีกต่อไป และแสดงให้เห็นว่ากองทัพพม่าได้ละทิ้งแนวทางสันติในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ ทั้ง 3 กลุ่มยังเห็นพ้องตรงกันว่า การสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตยแบบยั่งยืนนั้น จำเป็นจำต้องโค่นล้มระบอบทหารและทหารไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง นอกจากนี้จะต้องปฏิรูปและจัดระเบียบกองทัพใหม่ทั้งหมดภายใต้การควบคุมของพลเรือน รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่บนพื้นฐานของสหพันธรัฐประชาธิปไตย นอกจากนี้จะต้องให้ความยุติธรรมให้กับเหยื่อของความขัดแย้ง เป็นต้น ทั้ง 3 กลุ่มยังกล่าวเรียกร้องให้ประชาชน กลุ่มติดอาวุธอื่นๆที่ลงนามหยุดยิง และประชาคมระหว่างประเทศคว่ำบาตรกิจกรรมของทหารพม่าทั้งหมด
พะโด ซอว์เคลอ เซ โฆษกของ KNU เผยกับสำนักข่าวกะเหรี่ยง Karen Information Center ว่า การที่อดีตผู้นำประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ซึ่งก็คือ นายพล มูตู เซพอ ได้เข้าพบกับพล.อ.มินอ่องหลาย ผู้นำกองทัพพม่า จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆกับกองทัพพม่า เพราะนายพลมูตู เซพอได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว
โฆษกของ KNU ยังระบุว่า อดีตผู้นำของกะเหรี่ยงได้รับคำเชิญเป็นการส่วนตัวและปัจจุบันก็ไม่ได้มีอิทธิพลกับ KNU แล้ว จึงเชื่อว่าจะไม่ส่งผลทางการทหารใดๆต่อกองทัพพม่า การพบปะดังกล่าวทางกองทัพพม่ามุ่งหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากตอนนี้ ในสนามรบนั้น กองทัพพม่านั้นกำลังสูญเสียเพราะสู้รบกับ KNU อย่างหนัก
พะโด ซอว์เคลอ เซ กล่าวย้ำว่า ในฐานะ KNU ต้องการทำให้ชัดเจนว่า KNU นั้น จะยืนหยัดในการต่อสู้กับเผด็จการทหารตามแผนที่กำหนดไว้ และในช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และกองทัพร่วมอื่นๆ ได้ปฏิบัติการทางทหารภายในดินแดนที่ KNU ควบคุม ส่งผลให้สามารถยึดฐานที่มั่นของทหารพม่าได้มากกว่า 60 แห่งและเนื่องจากพื้นที่ควบคุมของทหารพม่าลดน้อยลง กองทัพพม่าจึงเพิ่มการใช้กระสุนปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศในรัฐกะเหรี่ยงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นกว่า 630,000 คน ตามรายงานของเครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (KPSN)
ทางด้านไนย บะหย่า มอน นักวิเคราะห์การเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ มองว่า การพบกันระหว่างผู้นำกองทัพพม่าและอดีตผู้นำ KNU เป็นความพยายามของกองทัพพม่าในการแบ่งแยก KNU และกองกำลังปฏิวัติอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายที่จะรื้อฟื้นข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) เพื่อที่จะทำให้รัฐธรรมนูญปี 2008 กลับมามีผลบังคับใช้ และวิธีนี้ยังจะทำให้นานาชาติยอมรับกองทัพพม่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ พะโด ซอ ทา ดอว์มู หัวหน้าฝ่ายโฆษกของ KNU เผยว่า KNU ไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินตามข้อตกลงหยุดยิงสันติภาพที่ทำร่วมกับกองทัพพม่าอีกต่อไป เพราะทหารพม่าได้เหยียบย่ำและทำลายข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศไปแล้ว ดังนั้น การใช้การลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ เพื่อหลอกลวงประชาคมระหว่างประเทศหรือต่อสาธารณะนั้นไม่เกี่ยวข้องกับ KNU โดยยังระบุอีกว่า KNU ในฐานะองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์นั้นเป็นเสาหลักในการปฏิวัติในพม่าครั้งนี้ และยังเป็นพันธมิตรกับรัฐบาล NUG
————-