Search

บุกทลายช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์-ช่วยคนไทยกว่าร้อย แต่ทางการไทยยังเงียบฉี่ กสม.เชื่อยังมีอีกหลายพัน เสนอตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา “กัณวีร์” แนะส่งเครื่องบินไปรับเพื่อนร่วมชาติ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีที่มีคนไทย 116 คนตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ชาวจีนและถูกนำไปกักขังในพื้นที่บ่มเพาะอาชญากรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้การดูแลของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยคนเหล่านี้พยายามร้องเรียนขอความช่วยเหลือมายังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทยมานานนับสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทหารและตำรวจในประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้บุกเข้าไปตรวจค้นและช่วยเหลือบรรดาคนไทยและชาวต่างชาติที่ถูกกักขังเหล่านี้แล้วโดยสามารถช่วยเหลือเหยื่อนับร้อยคนไว้ได้ แต่ยังมีเหยื่ออีกบางส่วนถูกพาตัวไปหลบซ่อนเป็นตัวประกัน

ทั้งนี้ครอบครัวผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลโดยระบุว่า คนในครอบครัวถูกหลอกไปทำงานผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นบริษัทของนายทุนจีน บริเวณเมืองแห่งหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านโดยลักษณะการทำงานไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลง และถูกนายจ้างชาวจีนยึดโทรศัพท์ กักขังไว้ภายในตึก ทำร้ายร่างกายและบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย หญิงตั้งครรภ์ถูกบังคับให้ทำแท้ง ผู้เสียหายบางส่วนต้องอาศัยบัญชีปลอมที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้หลอกลวงผู้อื่นในการส่งข่าวเพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือ

ในหนังสือร้องเรียนขอความช่วยเหลือระบุว่า บริเวณที่เหยื่อถูกกักตัวเป็นตึกที่มีน้ำล้อมรอบและมีรั้วกั้นสูงและมีทางออกเพียงทางเดียว โดยมีคนไทยกว่า 100 คนอยู่ในตึกแห่งหนึ่ง แต่คาดว่ามีคนไทยไม่ต่ำกว่า 400 คนถูกหลอกไปอยู่ตามตึกต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง นอกจากนี้มีเหยื่อต่างชาติอีกไม่น้อยกว่า 1,000 คน

นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า หลังได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ก็ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ประสานกับหลายหน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมและกรมสืบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้เร่งช่วยกันทุกทาง แต่ปัญหาไปเร็วกว่าราชการเนื่องจากเป็นพื้นที่นอกประเทศไทย นอกอำนาจของราชการไทย มีความสลับซับซ้อนเพราะเป็นพื้นที่สีเทา จึงอาจจำเป็นต้องใช้กลไกระหว่างรัฐบาล

นางปรีดากล่าวว่า เวลานี้จะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นหลายจุดตลอดแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เท่าที่ทราบยังมีเหยื่ออีกหลายพันคน ในกัมพูชาทราบว่ามีกว่า 3,000 คน ในจุดที่กำลังเกิดเหตุนี้มีชาวไทยตกเป็นเหยื่อมากกว่า 1,000 คน ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้เพียงจำนวนหนึ่ง การวางแผนเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวให้ทำได้จริงเป็นสิ่งที่สำคัญ

“คนกลุ่มนี้คือเหยื่อของธุรกิจผิดกฎหมาย รัฐบาลต้องช่วยอย่างเต็มที่โดยไม่ควรมีอคติ ปัญหาทุนจีนสีเทากำลังสร้างปัญหาให้ไทยและเป็นปัญหาร่วมของสังคมในภูมิภาค อาเซียนต้องยึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” นางปรีดา กล่าว

นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่าได้รับแจ้งว่ามีการช่วยเหลือคนไทยกลุ่มนี้แล้วโดยความร่วมมือของตำรวจ 2 ประเทศ แต่ยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ออกมา สิ่งที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้เลยคือรัฐบาลทราบอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ไหน ดังนั้นควรให้ความคุ้มครองคนไทยที่ได้รับความช่วยเหลือออกมาแล้วให้ได้กลับประเทศโดยกระทรวงการต่างประเทศต้องหารือถึงความช่วยเหลือกับเจ้าของประเทศ

“สิ่งจำเป็นเร่งด่วนคือรัฐบาลไทยต้องหารือกับรัฐบาลเจ้าของประเทศนั้น เพื่อเข้าไปช่วยเหลือคนไทยที่ออกมาแล้ว ทั้งในเรื่องที่พักและอาหาร รวมทั้งการเดินทางกลับซึ่งอาจต้องส่งเครื่องบินไปรับพวกเขา เมื่อช่วยเหลือออกมาแล้วเกรงว่าจะไม่มีผู้ที่รับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ เราต้องช่วยจนกว่าเหยื่อเหล่านี้จะกลับถึงประเทศ” นายกัณวีร์ กล่าว

On Key

Related Posts

หวั่นดินโคลนไหลตามลำน้ำสายปนเปื้อน ผู้เชี่ยวชาญ-นักวิชาการจี้รัฐเร่งตรวจสอบ-กลัวแพร่กระจาย หลังฝนตกห่าใหญ่ท่วมขังประจานมาตรการรับมือ-แจ้งเตือนภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ในช่วงบ่าย 15.00 น.นายชRead More →

ชาวนาลุ่มน้ำกกนับแสนไร่หวั่นแช่สารพิษระหว่างดำนา สภาเกษตรกรเชียงรายจี้รัฐชี้แจงด่วน เผยทุกข์ซ้ำหลังจากราคาข้าวตก ผวจ.เชียงรายเผยตรวจคุณภาพน้ำ-ตะกอนดินได้ไม่ต่อเนื่องเหตุข้อจำกัดด้านห้องปฎิบัติการ

นายวรวัฒน์ เดชวงค์ยา สาธารณสุขอำเภอแม่อาย เชียงใหมRead More →