เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง ให้สัมภาษณ์ท่าทีของรัฐที่กำลังเดินหน้าโครงการโขง เลย ชี มูล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการผันแม่น้ำโขงลงแม่น้ำเลยและชี โดยรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ได้แสดงท่าทีผลักดันโครงการชัดเจน ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีก็มีท่าทีสนับสนุนโครงการโดยไม่ได้ฟังความเห็นจากภาคประชาชนและนักวิชาการเลย
นายสิริศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรศึกษาบทเรียนการจัดการน้ำที่ล้มเหลวกรณีโครงการโขง ชี มูล เดิม ซึ่งในสมัยนั้นคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อ พ.ศ.2532 หลังจากนั้นทยอยสร้างเขื่อนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลจำนวน 14 เขื่อน ซึ่งปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล และกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนในนามสมัชชาคนจนเขื่อนรษีไศล เขื่อนหัวนา ได้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยเยียวยาและแก้ไขปัญที่เกิดขึ้น ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี ก็ยังแก้ไขปัญหานี้ไม่เสร็จ ในส่วนของเครือข่ายชาวบ้านแม่น้ำชีก็เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเข้าปีที่ 15 แล้ว
“ปัจจุบันโครงการโขง ชี มูล เดิม ยังซ้ำเติมปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร สาเหตุจากเขื่อนในแม่น้ำชี ทั้งในพื้นที่ร้อยเอ็ด ยโสธร-พนมไพร บริหารจัดการน้ำผิดพลาดทำให้พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนถึงปัจจุบัน ประกอบกับที่ผ่านมามวลน้ำอีกส่วนหนึ่งมาจากการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ หลังจากได้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีก็ยิ่งทำให้น้ำต้นทุนเดิมที่ท่วมอยู่แล้วยิ่งท่วมเพิ่มสูงขึ้นอีก ยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก ถึงแม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเขื่อนลำปาวและเขื่อนอุบลรัตน์ได้ชะลอการระบายน้ำทำให้ปริมาณน้ำเริ่มลดลงแล้วแต่ต้นข้าวนั้นเน่าเสียหายเป็นบริเวณกว้าง จึงอยากสะท้อนบทเรียนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ที่ดิน การเกษตร ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ ให้พี่น้องที่จะมีคลองผันน้ำ คลองชักน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำ ในพื้นที่จะมีโครงการโขง เลย ชี มูล ผ่านได้รับรู้ข้อมูลแล้วนำไปตัดสินใจเอง” นายสิริศักดิ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2566 เครือข่ายนักวิชาการ องค์กรชาวบ้าน และภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดโครงการอบรมสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่จะมีโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ณ วัดสังคมสามัคคี ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองลำภู
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน ได้กล่าวถึงภาพรวมของโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐทำขึ้นเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาใช้ ผ่านแม่น้ำเลย แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล มาในพื้นที่ภาคอีสาน โดยระยะแรก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) และกรมชลประทาน ได้ทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งทางเครือข่ายประชาชนได้ร้องเรียนไปยัง กสม. พบว่า EIA ฉบับนี้ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และกสม. ได้เสนอรายงานให้ สทนช. และกรมชลประทาน ทบทวนและศึกษาความเหมาะสมของ EIA ใหม่ตามเงื่อนไขในรายงานภายใน 180 วัน
นายวิทูวัจน์ ทองบุ ทนายความจากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กล่าวว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หน่วยงานภาครัฐต้องให้ข้อมูลข่าวสารของโครงการรอบด้านและทั่วถึง โดยเฉพาะในเรื่องของ EIA ที่ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานรัฐควรให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างถูกต้องและรอบด้าน ซึ่งสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล เพราะรัฐไทยได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถึงแม้ว่าจะผ่านมานานแล้วแต่ตนก็ยังเห็นว่ารัฐไทยมักจะละเลยและไม่เคารพสิทธิมนุษยชน
นายภพธรรม สุนันธรรม นักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า กสม.ได้ตรวจสอบและทำรายงานตรวจสอบเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีเนื้อหาโดยสรุปคือ ให้ สทนช.ชะลอการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงทุกระยะ และทบทวนผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนผู้ใช้น้ำได้มีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน และกสม.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทบทวน EIA ฉบับนี้แล้ว ในช่วงของตรวจสอบโครงการที่ผ่านมานี้ กสม.ได้ลงพื้นที่จัดประชุมกับชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ เจ้าของโครงการและผู้ว่าราชการจังหวัด สิ่งที่พบ คือ ชาวบ้านขาดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทางกสม. จึงมีความยินดีที่จะให้ความรู้และสนับสนุนให้จัดเวทีเพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน
แม่ถม คำชนะ ชาวบ้านดงสำราญ ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการขุดลอกและขยายลำน้ำโมง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2556-2557 กล่าวว่า ผู้นำหมู่บ้านในสมัยนั้นได้มาหาตนที่เถียงนา ขณะที่กำลังทำนา แล้วเอาเอกสารฉบับหนึ่งมาให้เซ็น ซึ่งตนได้เซ็นไปเพราะว่าเห็นด้วยหากจะมีการขุดลอกลำน้ำโมงให้กว้างขึ้น เพื่อจะได้กักเก็บน้ำให้มากขึ้น แต่ปรากฏภายหลังว่า เป็นเอกสารที่ยินยอมยกที่ดินให้หน่วยงานรัฐโดยที่ตนนั้นไม่ได้รับค่าชดเชยแม้แต่บาทเดียว ปัจจุบันได้ยื่นเรื่องร้องต่อ กสม. ให้ช่วยเหลือ
“วันนี้ก็ได้มาตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ด้วย จึงได้มาเล่าบทเรียน เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ และรู้เท่าทันกลโกงของหน่วยงานรัฐ” แม่ถม กล่าว