เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่โรงแรมเชียงคาน ริเวอร์เมาท์เทน รีสอร์ท จังหวัดเลย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดเวทีให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.เป็นประธาน โดยมีเข้าผู้ร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีการถ่ายทอดสดผ่าน facebook live
ท่านพอนปะเสิด พูลิพัน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ สปป. ลาว (LNMC) กล่าวว่าวันนี้ได้มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรีนี้เพื่อจะได้เข้าอกเข้าใจ ให้ความร่วมมือกับสปป.ลาว และทางการลาวไม่มีทางเลือกกอื่น เพราะพลังงานน้ำเป็นพลังงานบริสุทธิ์ไม่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การพัฒนาย่อมมีผลกระทบแต่ผลกระทบต้องร่วมมือกันแก้ไขต่อไป
ขณะที่ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) นำเสนอการติดตามปลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2012-2023 เป็นการใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยทางโครงการได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย ได้ติดแท็กปลาเพื่อดูว่าปลาขึ้นมากขนาดไหน ส่วนของ Fish log สำหรับการปล่อยน้ำเพื่อให้ปลาผ่านมา มีตัวที่จะดึงปลาขึ้น และเข้าใจว่ามีการเก็บลูกพันธุ์ปลา เมื่อปลาเข้ามาจะเก็บเป็นข้อมูลสถิติ ทางปลาเข้าและทางปลาผ่านจะมีการนับจำนวนตัว
ในช่วงคำถามจากผู้เข้าร่วม นายวีระ วงศ์สุวรรณ ผู้แทนชุมชนจาก จ.อำนาจเจริญ ได้สอบถามว่าเขื่อนไซยะบุรีเก็บน้ำไว้ 400 ล้านลบ.เมตร หากกรณีมีฝนตกหนัก ถ้าเขื่อนไม่สามารถรับน้ำและแตก จะส่งผลกระทบต่อประชาชนท้ายน้ำอย่างไร เขื่อนอยู่บนรอยเลื่อนแต่ว่าเจ้าของโครงการบอกว่าเป็นรอยเลื่อนเก่า ไม่มีแอคทิฟแล้ว รอยเลื่อนไม่มีพลัง แต่เป็นความกังวลของชาวบ้านที่อาจจะเกิดขึ้น และกระทบต่อโครงสร้างของเขื่อน และจะมีวิธีการป้องกันอย่างไร
ผู้แทนทางการลาวกล่าวว่า ได้รับฟังคำถามก็เป็นห่วงและพิจารณาส่งให้ทางการ ทั้งนี้เขื่อนไซยะบุรีถูกออกแบบให้ไม่สูงและระดับน้ำท่วมก็เท่ากับฤดูน้ำท่วมเดิม กรณีเขื่อนแตกนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะว่ามีมาตรฐานในการออกแบบ ถ้าน้ำมามาก เขื่อนก็จะระบายน้ำออกตามธรรมชาติ กรณีตะกอนจะระบาย มีการวิเคราะห์และออกแบบแล้วว่าการระบายตะกอนเป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run off river- ROR) แต่เขื่อนในน้ำสาขาและเขื่อนในจีนที่เป็น เขื่อนแบบกักเก็บน้ำ (storage) และเห็นว่า ผลการเปลี่ยนแปลงของน้ำกรณีน้ำโขงใสนั้น อาจจะเป็นเขื่อนน้ำสาขาก็ได้ กรณีปลาที่อพยพผ่านกังหันผลิตไฟฟ้า ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล ระบบข้อมูลเกี่ยวกับจะมีการแชร์ร่วมกัน รัฐบาลลาวก็ยังไม่สามารถเข้าถึง
นายอนันต์ ทวีสุข จากจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่าประเด็นน้ำโขงใส ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เป็นธรรมชาติตามฤดูกาล แต่ต่อมาเมื่อมีเขื่อนไซยะบุรี พบว่าน้ำโขงใสตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แต่ก่อนแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นอย่างนี้ ธรรมชาติต่างๆ พืชน้ำ ต้นไคร้ ต้นกะโดนน้ำ ที่อยู่ริมตลิ่งของแม่น้ำโขงที่ชาวบ้านได้ใช้ได้กิน ก็ไม่มีแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อสร้างเขื่อน สร้างความเสียหายให้กับลำน้ำโขง ตนเองอยู่จังหวัดมุกดาหาร ชนิดปลาสูญหาย มีปริมาณลดน้อยลง เคยมีปลากว่า 300 ชนิด ตอนนี้เหลือ 50 ชนิด เช่น ปลาเลิม ปลาพอน หายไป เหลือแต่ชื่อ ปลาหนู ปลายอน ปลายาว ปลารากกล้วย แข้วไก้
นายอำนาจ ไตรจักร ตัวแทนชุมชน จ.นครพนม กล่าวว่าที่พูดต่อไปนี้ไม่มีอคติใดๆ เราใช้แม่น้ำโขง สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นกับพวกเราจริงๆ เมื่อเปิดใช้เขื่อนไซยะบุรี เห็นได้ชัด พบว่าตลิ่งทรุด กระทบต่อเส้นเขตแดนที่ฝรั่งเศสบอกว่าใช้ร่องน้ำลึก นอกจากนี้ตนเองรู้สึกแปลกใจที่การจัดเวทีวันนี้ตรงกับวันออกพรรษา กรรมการชุมชนริมโขงอยากมาให้ข้อมูลแต่ติดงานใหญ่ระดับประเทศ ทุกคนต้องอยู่ช่วยกัน งานบั้งไฟพญานาคซึ่งนายกรัฐมนตรีมาลงพื้นที่ แต่กลับจัดในวันนี้ ปัญหาเขื่อนไซยะบุรียังแก้ไม่หาย เขื่อนสานะคามจะมาอีกแล้ว อยากให้ สทนช.ถามพี่น้องริมโขง อย่าทำให้แค่ผ่านๆเท่านั้น เพราะประชาชนเราเดือดร้อนจริงๆ
ตัวแทนชุมชน จ.อุบล กล่าวว่าเข้าร่วมประชุมวันนี้เห็นความย้อนแย้งของข้อมูล ที่ชัดเจนที่เป็นผลกระทบ สทนช.ควรทำการศึกษาให้ครบถ้วนทุกมิติ หากข้อมูลภายใต้ MRC ยังเป็นแบบนี้ คือศึกษาไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิด ไม่อยากให้เกิด มีคำถามว่าทำไมข้อมูลไม่ชัด มีเพียงข้อมูลว่าทำการศึกษา แต่ไม่มีผลการศึกษา วันนี้ยังไม่ได้คำตอบ มีข้อเสนอว่าเรื่องนี้ต้องคุยให้ชัดเจน ให้ที่ปรึกษาเป็นผู้ที่พี่น้องประชาชนเลือกมา ไม่ใช่เป็นการล๊อกสเปค เสนอว่าโครงการต่างๆ ขอให้ชะลอก่อนจนกว่าการศึกษาจะครบถ้วน แล้วจึงดำเนินการต่อ ตอนนี้วิถีชีวิต อาชีพของประชาชน ต้องเปลี่ยนไป หน้าฝนน้ำโขงน้อย หน้าแล้งน้ำโขงท่วม อันนี้ไม่ใช่ธรรมชาติแล้ว
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ชี้แจงว่าเขื่อนเป็นแบบ run off river น้ำเข้าวันนี้ออกวันนี้ไม่ได้ออกวันอื่น เขื่อนเก็บน้ำไม่ได้เพราะกระทบการผลิตไฟฟ้า หากเก็บน้ำข้างหลังก็จะมีผล คือเรากักน้ำให้ความสูงต่างกันเพื่อผลิตไฟฟ้า เรื่องปล่อยน้ำมากหรือน้อยกว่าที่ออกแบบจะมีผลต่อการผลิต
เลขาธิการสทนช. กล่าวว่าไม่ได้แก้ตัว วันนี้ก็มีผู้แทนสปป.ลาวมาร่วม ด้วยความจริงใจเราเอาข้อมูล คลิปวิดีโอ รูปภาพ กราฟ เราแชร์ในเว็บไซต์ข้อมูลน้ำเข้าน้ำออก เข้าวันนี้ก็ออกวันนี้ เรียกง่ายๆ คือน้ำไหลผ่าน พื้นที่ก่อสร้างที่หลวงพระบาง เป็นการก่อสร้างบนพื้นดิน มีการขยายลำน้ำไปออกจากลำน้ำเดิม
“น้ำที่เข้ามาก็ออกไปแบบนั้น ไม่ได้จะเก็บกี่วันแล้วจะปล่อย แล้วมีผลกระทบ ต้องเข้าใจว่าจากไซยะยุรีถึงเชียงคาน 100 กว่ากิโลเมตร ระหว่างทาง ฝนตก มีน้ำ side flow ตามหุบเขา น้ำก็ลงมาแบบนั้นส่วนหนึ่ง ลำน้ำสาขาที่ไหลลงมารวมเท่าไหร่ ไม่ได้จากไซยะบุรี ไม่ได้เป็นระบบปิด ปริมาน้ำเข้าออกเป็นไปตามทีเขาโชว์ ว่าวัดหน้าเขื่อน ท้ายเขื่อน ปริมาณตะกอนวันนี้รายละเอียดยังไม่ได้พูด ตะกอนก็ไหล flow ไป ส่วนหนึ่งที่ตกก็มีการเปิดปิดบานระบาย แต่จำนวนเท่าไหร่ ผมว่าผู้ประกอบการมีข้อมูลตรงนั้น ฝากสปป.ลาวเอาข้อมูลที่พี่น้องประชาชนอยากทราบ เรามีความจริงใจ วันหลังเอาข้อมูลมาให้ท่านได้ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลง 8 จังหวัดริมโขงเกิดจากเขื่อนไซยะบุรีหรือไม่ หรือฝีมือมนุษย์ เกิดจากหลายๆ เหตุรวมกัน ท่านลองคิดดูที่เราดูดทรายน้ำโขงกระทบหรือไม่ แต่เราไม่ได้พูดถึงเลย เราทำแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาผลกระทบ แต่ไม่ใช่ผลกระทบจากเขื่อนน้ำโขง แต่เป็นผลกระทบจากหลายๆ สาเหตุ สทนช.จะทำแผนและอาจประชุม หากไม่มีงบก็อาจวิดีโอคอล หากโอเคก็จะเดินหน้า ฝากทาง MRCS ให้เป็นตัวกลางทำวิจัยร่วมกับชุมชน ไม่ได้มีผลกระทบแค่เรา เวียดนามก็กระทบ MRCS ค่อยๆ ทำวิจัยกับพี่น้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง มีส่วนร่วม เป็นบทพิสูจน์ที่ไม้เคลือบแคลงสงสัย”เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ในภาคบ่ายเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมสอบถาม โดยนายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มประมงพื้นบ้านเชียงคาน กล่าวว่าตั้งแต่เปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรีพบชัดเจนว่าแม่น้ำโขงขึ้นลงทุกวัน เมื่อขอข้อมูลอุทกวิทยาก็แสดงชัดเจนว่ากราฟขึ้นลงตลอดเห็นชัดเจน อีกความเป็นห่วงคือเขตแดนไทยลาวที่เกาะดอนเปลี่ยนไป ตลิ่งก็พังเพราะน้ำขึ้นลงรายวัน หากทำพนังป้องกันตลิ่งพังก็จะยิ่งเป็นการสูญเสียงงบประมาณแผ่นดิน
“ในเรื่องการท่องเที่ยว แก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน ชาวบ้านสูญเสียรายได้รวมนับแสนบาทต่อวันเมื่อน้ำขึ้นกะทันหัน ซุ้มต่างๆ ที่ไปสร้างรับนักท่องเที่ยวก็จมในน้ำที่หลากมา การสูญเสียทางประมงเกิดขึ้น จะบอกว่าเขื่อนน้ำไหลเข้าเท่ากับไหลออกขอข้อมูลให้ชัดเจน พี่น้องทางฝั่งลาวก็ฝากมาบอกว่าให้คนไทยช่วยพูดให้ ผลกระทบฝั่งลาวก็ไม่ต่างจากไทย แต่พี่น้องลาวพูดไม่ได้ การผลิตไฟฟ้าขายหากไม่สร้างผลกระทบก็ไม่ว่าอะไร วันนี้นายกฯไทยไปลาวเสนอขอซื้อไฟฟ้าลาวเพิ่ม การประชุมวันนี้เป็นเพื่อให้รับซื้อไฟฟ้าเขื่อนอีกหรือไม่ จริงๆ แล้วหากเกิดปัญหาควรแก้ไขให้ชัดเจน” นายชาญณรงค์ กล่าว
ผู้แทนลุ่มน้ำโขงเหนือ จ.เชียงราย กล่าวว่าวันที่ได้เดินทางไปดูเขื่อนไซยะบุรี เห็นว่าปลาไปว่ายออที่หน้าลิฟท์จำนวนเยอะมาก แล้วปลามันรอไม่ได้ มีปลาตายมากถึง 5-6 % ดูขนาดของปลาแล้ว ตัวใหญ่ข้ามเขื่อนไปไม่ได้แน่นอน ห่วงเรื่องปลา เรื่องปริมาณน้ำที่กักไว้คล้ายฝายน้ำล้น กรณีปลาที่มันมาว่ายออหน้าเขื่อนอยากจะขึ้นไป มีจำนวนมาก สงสัยว่าปลาที่รอดขึ้นไปคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ส่วนที่ไม่มีความสามารถก็ถอยกลับ และตาย ไหลไปตามน้ำเลย
“สิ่งที่คิดอยู่ว่าจำนวนปลาที่เพิ่มขึ้นที่มีการสำรวจนั้น และรอดขึ้นไปได้นเท่าไหร่ ไม่ได้คำตอบ เราจะหนีไม่พ้นการสร้างเขื่อนต่อไป เป็นห่วงเรื่องโครงการเขื่อนปากแบง อยู่ห่างจากชายแดนไทยไม่ถึงร้อยกิโลเมตร น้ำเท้อจากเขื่อนไซยะบุรีไปถึงเมืองหลวงพระบาง แต่น้ำเท้อจากเขื่อนปากแบงไปถึง อ.เวียงแก่นอย่างไรก็ต้องถึง ชาวบ้านก็เป็นห่วง ทั้งเรื่องตะกอน ความเสียหายตลิ่ง วิถีชีวิตริมฝั่ง ทั้งสปป.ลาวและไทย จะต้องตามมาอย่างแน่นอน อยากฝากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง”