เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแถลงข่าว การขยายระยะเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นคณะกรรมการ(บอร์ด)ประกันสังคมว่า ได้ขยายเวลารับสมัครเลือกตั้งฯ ตั้งแต่วันที่ 1 – 10 พฤศจิกายน 2566 โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือ นายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง และเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจัดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00 -16.00 น.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า มีผู้ประกันตนที่มาลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว 4.9 แสนคน และมีผู้ประกันตนที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นบอร์ด 179 คน ส่วนผู้แทนนายจ้างที่ลงสมัครมี 44 คน ดังนั้นเพื่อให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยสามารถเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนจากจำนวนผู้สมัครที่เพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่นายจ้างและผู้ประกันตน สอดคล้องกับการขยายกำหนดเวลาการลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งฯ มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง และขยายเวลาเปิดรับสมัครผู้แทนฝ่ายนายจ้างผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ออกไปอีก 10 วัน
“ผู้สนใจสมัครรับเลือกตั้งสามารถยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ) พร้อมประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหมายเลขผู้สมัคร ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เพื่อได้ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในบอร์ดประกันสังคม ในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของนายจ้าง ผู้ประกันตน”นายพิพัฒน์ กล่าว และว่าสามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง โทร. 02-956-2222
ด้าน ดร กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ตัวเลขผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 แสนคน แต่ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนของผู้ประกันตน ดังนั้นจึงต้องตั้งข้อสังเกตว่าทำไมผู้ประกันตนถึงมาลงทะเบียนน้อย ทั้งๆที่ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด มีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิการว่างงานสูงมาก
“อาจเป็นเพราะประกันสังคมถูกออกแบบให้ดูมีมาตรฐานขั้นต่ำในระบบประกันสุขภาพ ลูกจ้างจำนวนมากที่จบปริญญาตรีทำงานในบริษัทเอกชน ต่างก็มีประกันสุขภาพที่บริษัททำไว้ให้ซึ่งมีมาตรฐานที่ดีกว่า ทำให้ไม่มาใช้ระบบประกันสังคม ทำให้ขาดความเป็นเจ้าของ ผมเคยทำวิจัยเรื่องแรงงานนอกระบบ เมื่อคุยถึงประกันสังคม ชาวบ้านบอกว่าต้องการสมัครประกันเอกชนมากกว่า เพราะสิทธิประโยชน์ต่ำ ทั้งในเรื่องการสงเคราะห์บุตรหรือการเสียชีวิต” อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ กล่าว
ดร.กฤษฎากล่าวว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการแก้ไขในประกันสังคม คือต้องทบทวนสิทธิประโยชน์หลักๆและต้องตอบโจทย์การจ้างงานในปัจจุบันได้หรือไม่ เพื่อให้คนในวัยทำงานได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น และหากมีการปรับฐานเงินการจ่ายเงินสมทบควรต้องดูด้วยว่าขยายสิทธิประโยชน์อะไรได้อีก ขณะเดียวกันในเรื่องของการลงทุนมีความสำคัญมากที่ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส และทำให้มีดอกผลที่นำมารองรับภารกิจมากขึ้น ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้ว่าเอาเงินลงทุนต่างๆเอาไปลงทุนทำอะไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำนวนผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้มีด้วยกันราว 14 ล้านคน แต่การที่มีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนน้อย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สปส.ว่าล้มเหลว จนกระทั่งผู้บริหารกระทรวงแรงงานต้องเรียกผู้บริหาร สปส.มาชี้แจง และสั่งการให้เร่งประชาสัมพันธ์ โดยตั้งเป้าว่าอย่างน้อยขอให้ผู้ประกันตนมาลงทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน