เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนปากแบง (Pak Beng) ซึ่งจะกั้นแม่น้ำโขง ที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว อยู่ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กว่า 90 กิโลเมตร โดยล่าสุดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ทบทวนการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง

ทั้งนี้เนื้อหาสำคัญที่ กสม.ส่งถึงนายกรัฐมนตรีระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 กรณีรัฐบาลไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง โดยผู้ร้องเห็นว่าโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจาก จ.เชียงราย เพียง 97 กม. และจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จึงขอให้ตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้

1. กสม.ได้ตรวจสอบกรณีข้างต้น และมีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังนี้ 1.1 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณารับซื้อพลังงานจากโครงการเขื่อนปากแบง นำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGP on Business and Human Rights) ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจ โดยครม.ได้รับข้อเสนอของกสม.และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

1.2ให้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยเสนอให้สปป.ลาว สร้างความมั่นใจว่าการดำเนินโครงการปากแบงจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนสองฝั่งริมแม่น้ำโขง หรือต่อระบบนิเวศและระดับน้ำในแม่น้ำโขง ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ (SDGs) โดยให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

2. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 และ 14-15 กันยายน กสม. ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและประชุมกับผู้เกี่ยวข้อง ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้ 2.1 ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการเขื่อนปากแบง อีกทั้งการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนที่ผ่านมา มีผลกระทบสะสม เช่น ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ เกิดข้อพิพาทการอ้างสิทธิครอบครองเกาะดอนแม่น้ำโขง ทั้งนี้ผู้พัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงไม่ได้ศึกษาและประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนตามข้อห่วงกังวลของประชาชน ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย รวมทั้งภาคประชาชนได้แสดงข้อห่วงกังวลและสอบถามหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับข้อมูลความชัดเจน

หนังสือกสม.ยังระบุอีกว่า เมื่อปี 2562 กรมทรัพยากรน้ำได้จัดทำโครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จ.เชียงราย จากการพัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง โดยสำรวจค่าพิกัด พบว่าหากเขื่อนปากแบงมีระดับกักเก็บน้ำ 349 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะมี 10 หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วม ได้แก่ บ.หัวเวียง บ.เวียงแก้ว บ.โจ้โก้ บ.เต๋น บ.ปากอิงใต้ บ.ปากอิง บ.ห้วยเอียน บ.แจมป๋อง บ.ไทยเจริญ และบ.ห้วยลึก

ขณะที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนไทยลาว ตามสนธิสัญญา คศ.1926 ว่าให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นแบ่งแดนในแม่น้ำโขง ซึ่งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยลาว สำรวจและทำหลักเขตแดนทางบกไปแล้วร้อยละ 96 เหลืออีกร้อยละ 4 คือบริเวณแก่งผาได อ.เวียงแก่น ซึ่งห่างจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนปากแบง 96 กม. ทั้งนี้การสร้างเขื่อนดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึก และกระทบต่อการเจรจากำหนดเส้นเขตแดนไทยลาว

3. สถานะล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 รัฐบาลไทยโดยกฟผ.ได้ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง 920 เมกกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 29 ปี และแม้จะมีเงื่อนไขแนบท้ายสัญญาระบุให้ผู้พัฒนาโครงการรับผิดชอบผลกระทบต่อประเทศไทย และเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งต้องปฏิบัติตามแผน แต่หน่วยงานในพื้นที่และประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งแผนปฏิบัติการต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

4. ข้อพิจารณา กสม.เห็นว่าแม้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงจะดำเนินการในเขตของ สปป.ลาว แต่เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ และไหลผ่าน 8 จังหวัดของประเทศไทย ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและการดำรงชีพ แม่น้ำโขงจึงถือเป็นทรัพยากรร่วมของประชาชนทุกคน การที่กฟผ. ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวในลักษณะที่กระบวนการศึกษาและประเมินผลกระทบตามแผนปฏิบัติการร่วมยังไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งมาตรการป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดนตามข้อห่วงกังวลที่คณะกรรมการร่วมในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้แถลงการณ์ร่วมกันยังไม่มีความชัดเจน อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชน ทำให้ประชาชนและชุมชนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงมีความกังวลเป็นอย่างมาก ทั้งยังไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 43 ประกอบมาตรา 57 ที่ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

“เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องนำข้อห่วงกังวลและความเห็นของประชาชนไปพิจารณาก่อนจะตัดสินใจดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลไทย โดยกฟผ.ทบทวนการลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบงเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน” หนังสือของ กสม. ระบุ

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.