สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

“กรมชล”ลักไก่ตั้งท่ากั้นแม่น้ำชีอีกอ้างสร้างอาคารบังคับน้ำ ชาวบ้านยกพลค้านสุดตัว-เผยไม่เคยรับรู้ข้อมูลใดๆ ทำหนังสือจี้นายก-ธรรมนัส เร่งแก้ปัญหาด่วน หวั่นซ้ำเติมของเก่าที่ยังแก้ไม่ตก

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด ประมาณ 50 คน ยืนถือป้ายและปราศรัยคัดค้านโครงการโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำ(เขื่อนกั้น)ในลำน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณพื้นที่บ้านไชยวาน พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ยุติการดำเนินโครงการที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน

นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่ากรมชลประทานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องโครงการอาคารบังคับน้ำหรือเขื่อน ที่จะก่อสร้างขึ้นที่บริเวณ บ้านไชยวาน ต.นาเลิง อ.เสลภูม และบริเวณพื้นที่การเกษตรบ้านบาก ต.โพนเมือง อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด พวกตนจึงเดินทางมาคัดค้านโครงการอาคารบังคับน้ำหรือเขื่อนที่กรมชลประทานมีแผนจะสร้างในแม่น้ำชี เนื่องจากว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบน้ำท่วมต่อพื้นที่การเกษตรและชุมชนเพิ่มอีก ที่ผ่านมาเขื่อนก็ทำลายวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำชีมามากพอแล้วและยังแก้ไขไม่ได้ จะมาสร้างเขื่อนใหม่เพิ่มอีกในแม่น้ำชีได้อย่างไร

นายจันทรา จันทาทอง กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่าเรามาแสดงจุดยืนว่าไม่เอาโครงก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ(เขื่อน)ที่จะขวางกั้นแม่น้ำชี และยื่นหนังสือในเวทีรับฟังความคิดเห็นบอกว่าเราไม่เห็นด้วย เนื่องจาก โครงการ โขง ชี มูล เดิมที่สร้างปัญหาไว้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข อยากจะให้ไปดูพื้นที่สถานการณ์น้ำในตอนนี้ก็ยังไม่ทันได้ลด ปัญหาเดิมยังแก้ไขไม่ได้ ยังจะมีโครงการสร้างเขื่อนใหม่มาซ้ำเติมเพิ่มความลำบากอีก ถ้าหากมีการลักลอบย้ายสถานที่ก่อสร้างไปบริเวณอื่นในแม่น้ำชี

หลังจากนั้นได้ยื่นหนังสือส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่มีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีและจะไม่มีการสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำชีพร้อมลงลายมือชื่อเครือข่ายชาวบ้านจึงยุติและแยกย้ายเดินทางกลับบ้าน

ในวันเดียวกันชาวบ้านเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดยโสธร ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นถึงสภาพปัญหาน้ำท่วมและข้อเสนอในการจัดการน้ำในพื้นที่ตำบลกุดกุง ตำบลสงเปือย ตำบลย่อ อำเภอคำเขื่อนแก้ว และ อำเภอเมืองยโสธร รวม 4 เวที โดยแต่ละจุดมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน โดยชาวบ้านได้สะท้อนปัญหาและจัดทำข้อเสนอการจัดการน้ำระดับชุมชน ก่อนเดินทางไปสันเขื่อนยโสธร-พนมไพร เพื่อยื่นหนังสือถึง ผู้อำนวยการโครงการบำรุงรักษาชีล่างและเซบาย นอกจากนี้ยังยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ที่บริหารจัดการน้ำผิดพลาด นอกจากนี้ยังได้ยื่นให้ตรวจสอบโครงการโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำ(เขื่อนกั้น)ในลำน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด เนื่องจากเป็นโครงการที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน

นายนิมิต หาระพันธุ์ กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี กล่าวว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีโดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อยที่ขวางกั้นแม่น้ำชี ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรซ้ำซากและกินระยะเวลายาวนานผิดปกติ 1-4 เดือน ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำไม่ได้สอดคล้องตามฤดูกาล

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี กล่าวว่า กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำ(เขื่อนกั้น)ในลำน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด เสมือนเป็นการลักไก่หรือเรียกว่ามัดมือชกอย่างชัดเจน เพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่รับรู้ข้อมูลและรับทราบเลยว่าจะมีการนำเสนอข้อมูลแอบแฝงมาในรูปแบบนี้ แต่ยังดีที่ตื่นตัวและร่วมกันค้านโครงการไว้

“อยากสื่อสารไปถึงกรมชลประทานว่า ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด ทำให้พี่น้องน้ำท่วมและน้ำยังไม่ลดเลย อย่าฉกฉวยโอกาสแบบนี้ในการหาผลประโยชน์จากงานศึกษา ควรกลับไปทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมาและแก้ไขปัญหาให้ได้ก่อน การศึกษาและสร้างไปเรื่อยๆยิ่งเพิ่มปัญหาให้ชาวบ้านมากขึ้น ยิ่งสร้าง ยิ่งก่อให้เกิดปัญหา ถึงแม้ว่าจะมีการลงนามหนังสือยืนยันร่วมกันว่าจะไม่ดำเนินโครงการก่อสร้างและไม่สร้างสิ่งกีดขวางในแม่น้ำชีแต่ทางเครือข่ายนจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด”นายสิริศักดิ์ กล่าว

นายสิริศักดิ์กล่าวว่า เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดยโสธร ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นถึงสาเหตุของปัญหาและข้อเสนอต่อการจัดการน้ำในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ พบว่าสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น คือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล เดิม ที่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ ชาวบ้านจึงได้สื่อสารไปหานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ถ้ายังไม่เร่งดำเนินการชาวบ้านจะเดินทางไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

ขณะที่ น.ส.สุภัสสรา เที่ยงผดุง กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร ได้อ่านแถลงการณ์ที่สันเขื่อนยโสธร-พนมไพร โดยมีเนื้อหาสรุปว่า สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น คือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล เดิม รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของเขื่อนทำให้พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังนานกว่าปกติ โดยชาวเครือข่ายมีข้อเสนอ 6 ข้อ อาทิ ให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปิด-ปิดเขื่อน ฤดูปลาวางไข่จะต้องเปิดเขื่อนเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ ให้ยุติการก่อสร้างสิ่งกีดขวางในแม่น้ำชี

On Key

Related Posts

คำประกาศแม่น้ำโขงชี้เขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด-ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน-สิ่งแวดล้อมรุนแรง แนะรัฐฟังเสียงประชาชน “วิโรจน์”เตรียมส่ง สตง.-ป.ป.ช.จี้นายกฯตรวจสอบอย่างโปร่งใส-รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อRead More →

ผู้แทนสถานทูตจีนแจงวิสัยทัศน์แม่น้ำโขงให้ชุมชนริมโขง เผย 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน  ศ.สุริชัยชี้ความโปร่งใสในการสร้างเขื่อนไม่มีจริง สส.ก้าวไกลถามหามาตรฐานอีไอเอ

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.Read More →

แนะดึง ป.ป.ช.-สตง.ตรวจสอบเขื่อนปากแบง “วิโรจน์”ชี้ยุทธวิธีแม่น้ำ 4 สายร่วมกสม.-สภาส่งจัดทำข้อเสนอส่งนายกฯ ผู้นำท้องถิ่นน้อยใจรัฐไม่เคยฟังเสียงชาวบ้าน ระบุพื้นที่เกษตรนับพันไร่ได้รับผลกระทบแต่ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐแจง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.Read More →