สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

นักวิชาการชี้แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองได้ไม่คุ้มเสีย-หวั่นทำลายฐานทรัพยากร ด้านสภา ปชช.ภาคใต้ ออกแถลงการณ์ค้านเดินหน้าโครงการ เตือนรัฐบาลหยุดประเคนทุนต่างชาติ

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลพะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร โดยเครือข่ายประชาชนชุมพร ระนอง และสภาประชาชนภาคใต้ จัดเวที “ชำแหละแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร ใครได้ใครเสีย ? ชำแหละทุกมุม ทุกมิติ กับ 10 เหตุผลสำคัญที่โครงการไม่ควรเกิดขึ้น” ดำเนินรายการโดย ‘ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ และ ‘เรียง สีแก้ว’

ด้าน รศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านการบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เริ่มต้นจากโครงการคอคลอดกระในปี 2536 ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย ได้เปิดโครงสะพานเศรษฐกิจ ความกว้างของสะพานคือ 200 เมตร เมื่อทำถนนแล้วเสร็จจะมีการนำเข้าน้ำมัน และมีทุกอย่างคล้ายกับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง โดยลงทุนไปแล้ว 3,500 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2554 แต่ในวันนี้สิ่งที่พวกเราได้รับคือถนนขนาดใหญ่ แต่โครงการรถไฟและโครงการท่อน้ำมันกลับไม่เกิดขึ้น จนเกิดแผนของประเทศไทย ปี 2551 มีโครงการแลนด์บริดจ์กว่า 3 สะพานคือ สะพานเศรษฐกิจสตูลชุมพร และระนอง

“วันนี้จะมีโครงการเกิดขึ้น แต่มีการสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านเพียงบางส่วนเท่านั้น และปรากฎว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินไปนำเสนอเพื่อขายให้จีนแล้ว ทั้งที่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่มีความชัดเจนและยังเป็นความคิดเก่าตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ ซึ่งได้ถูกดิสรัปชั่นหมดแล้ว ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันไปใช้รถไฟฟ้า จึงมีคำถามถามไปถึงรัฐบาลว่าทำไมถึงไม่ไปดำเนินการโครงการที่ลงทุนไปกว่า 3,000 ล้าน ให้แล้วเสร็จ และหากเกิดสะพานขึ้นอีกที่นี่จะร้างเหมือนที่สะพานสุราษธานี กระบี่ หรือไม่ ” รศ.ประสาท กล่าว

ขณะที่ ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่าโครงการเหล่านี้เป็นโครงการขนาดใหญ่เชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน จะมี 2 โครงการ คือการขุดคลองคอคลอดกระ และโครงการเชื่อม 2 สองฝั่งด้วยท่าเรือขนาดใหญ่และระบบขนส่ง อีกทั้งแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภาคตะวันออกนั้นมีความสัมพันธ์กับโครงการแลนด์บริดจ์ในภาคใต้อย่างชัดเจน การขับเคลื่อนในช่วงแรกของโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ภายใต้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเชื่อม 2 ฝั่งของทะเลเข้าด้วยกัน โดยมีความคิดให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานของโลกด้วยซึ่งเป็นความคิดของกลุ่มทุน

“ในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้รื้อฟื้นโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร ขึ้นมา ซึ่งจริง ๆ จะประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ตามหลัง ซึ่งไม่ได้มีแค่ ระนอง ชุมพร แต่มีสุราษธานี และนครศรีธรรมราชด้วย ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ร่วมกันต่อสู้มาตลอดแต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ฉะนั้นแลนด์บริดจ์เส้นนี้ถ้าทำเฉพาะท่าเรือไม่คุ้มค่าแน่นอน นิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมามีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเชื่อมกับทวาย ประเทศพม่า และเชื่อมกับแหลมฉบัง และมีโอกาสที่จะมีอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ามาในพื้นที่” ดร.อาภา กล่าว

ด้าน อาจารย์วิภาดี พันธุ์ยางน้อย นักวิจัยอิสระ ผู้ติดตามโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง กล่าวว่า โครงการที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีความใหม่ ศึกษาครั้งแรกในปี 2514 ในยุคนั้นเป็นการศึกษาหลังประเทศไทยค้นพบแหล่งพลังงานหรือว่าก๊าซธรรมชาติ ฟอสซิล และรัฐบาลเลือกที่จะศึกษาฝั่งอ่าวไทยในภาคตะวันออก ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จึงทำให้พื้นที่นั้นถูกพัฒนาไปก่อน และโครงการในภาคใต้ถูกชะลอไว้ จนมาถึงแผนพัฒนาในปัจจุบันที่มุ่งสร้างสะพานเศรษฐกิจที่เป็นระบบขนส่งผสมผสานท่อทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์ โดยมีเป้าหมายหลักคือพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมัน พลังงาน และปิโตรเคมี และกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นขึ้นในพื้นที่

“แปลนของการศึกษาเพื่อดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์มีปัญหา การให้ข้อมูลกับประชาชนของหน่วยงานรัฐไม่มีความครอบคลุม และเอาแผนแม่บทที่ประกอบด้วยโครงการย่อยมาซอย ซึ่งในชุมพร ระนอง รัฐไปกำหนดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในรัศมี 3-5 กิโลเมตร รวมทั้งหมดแค่ 6 พื้นที่ แต่พอเราลงไปเก็บข้อมูลเราพบว่าบริเวณที่จะสร้างท่าเรือ ช่องระหว่างอ่าวอ่างถึงเกาะพยามและเกาะขาม เป็นพื้นที่แหล่งทรัพยากรของชาวประมงพื้นบ้านที่ชาวประมงพื้นบ้าน มีชุมชนอาศัยและใช้ประโยชน์รอบพื้นที่กว่า 10 ชุมชน แต่ชาวบ้านในพื้นที่นั้นไม่ได้ถูกนับรวมเป็นผู้ได้รับผลกระทบ” อาจารย์วิภาดี กล่าว

ขณะที่สภาประชาชนภาคใต้และภาคีเครือข่าย ได้ออกแถลงการณ์หยุดแลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร หยุดความคิดยกแผ่นดินภาคใต้ให้กลุ่มทุนต่างชาติ หนังสือระบุว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุม ได้รับทราบและมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในทันที พร้อมกับการพัฒนาโครงการเพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ ผู้ประกอบการมาลงทุน เพื่อให้มีการร่วมลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ

หนังสือระบุต่อว่า ซึ่งหมายถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือขนาด ใหญ่ที่ระนอง ชุมพร โครงการรถไฟรางคู่ที่จะต้องเชื่อมต่อกับสองท่าเรือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมและปิ โตรเคมีจำนวนหลายหมื่นไร่และยังต้องมีโครงการสัมปทานแหล่งหินเพื่อถมทะเล โครงการก่อสร้างเขื่อน เพื่อจัดหาแหล่งนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ รัฐบาลกำลังล้างผลาญฐานทรัพยากรทุกอย่างที่พวกเรามีเพื่อยกให้กับ กลุ่มทุนต่างชาติทั้งสิ้น เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะได้ประโยชน์คือผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการที่หมายถึง กลุ่มทุนต่างชาติ และรวมถึงผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่จะได้กับนักการเมือง และกลุ่มทุนรับเหมาก่อสร้าง เพียงบางกลุ่มเท่านั้น และสุดท้ายเราพวกเราต้องเป็น “ผู้เสียสละ” ที่จะต้องยินยอมทุกอย่างภายใต้วาทกรรมที่พวกท่านตอกย้ำเสมอว่า เพื่อความเจริญและความมั่งคั่งของประเทศนี้

“พวกเราชาวระนอง ชุมพร และภาคีเครือข่ายทั่วภาคใต้ที่มารวมตัวกัน ในนามสภาประชาชน ภาคใต้ ขอบอกกับท่านว่า พวกเราไม่พร้อมที่จะเสียสละสิ่งที่เรามีอยู่ทั้งหมด อันเป็นฐานศักยภาพของผืน ดินแห่งนี้ ทั้งทะเลชายฝั่ง ที่ดินทำกินสวนทุเรียน สวนผลไม้แหล่งน้ำ ป่าไม้ภูเขา ตลอดไปถึงสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นถิ่นของพวกเรา ด้วยการปล่อยให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อเศรษฐา ทวีสิน ที่ กำลังถือวิสาสะว่าเป็นผู้นำประเทศแล้ว จะดำเนินการอย่างไรกับพวกเราก็ได้เพียงอ้างคำว่า “พัฒนา” และจะทำให้ประเทศนี้เจริญขึ้น แล้วออกเดินสายเพื่อขายทุกอย่างที่พวกเรามีให้กับใครก็ได้ โอกาสนี้ เราขอประกาศร่วมกันว่า เราจะไม่ยอมปล่อยให้ท่านนำศักยภาพและฐานทรัพยากร ทั้งหมดนี้ ประเคนให้กับกลุ่มทุนต่างชาติ และตอบสนองความต้องการของนักการเมืองและคนบางกลุ่ม ภายในประเทศ ภายใต้โครงการขนาดใหญ่ที่ชื่อ “แลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร” ทั้งขอประกาศอย่างเป็น ทางการว่า พวกเราจะร่วมกันคัดค้านโครงการนี้ร่วมกันอย่างถึงที่สุด จนกว่ารัฐบาลจะหยุดโครงการนี้” หนังสือระบุ

On Key

Related Posts

คำประกาศแม่น้ำโขงชี้เขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด-ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน-สิ่งแวดล้อมรุนแรง แนะรัฐฟังเสียงประชาชน “วิโรจน์”เตรียมส่ง สตง.-ป.ป.ช.จี้นายกฯตรวจสอบอย่างโปร่งใส-รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อRead More →

ผู้แทนสถานทูตจีนแจงวิสัยทัศน์แม่น้ำโขงให้ชุมชนริมโขง เผย 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน  ศ.สุริชัยชี้ความโปร่งใสในการสร้างเขื่อนไม่มีจริง สส.ก้าวไกลถามหามาตรฐานอีไอเอ

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.Read More →

แนะดึง ป.ป.ช.-สตง.ตรวจสอบเขื่อนปากแบง “วิโรจน์”ชี้ยุทธวิธีแม่น้ำ 4 สายร่วมกสม.-สภาส่งจัดทำข้อเสนอส่งนายกฯ ผู้นำท้องถิ่นน้อยใจรัฐไม่เคยฟังเสียงชาวบ้าน ระบุพื้นที่เกษตรนับพันไร่ได้รับผลกระทบแต่ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐแจง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.Read More →