เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 เหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกหลอกไปทำงานที่เมืองเล้าก์ก่าย ในเขตปกครองโกก้าง ภาคเหนือรัฐฉานประเทศพม่า จำนวน 12 คน ซึ่งประกอบด้วยคนไทย 6 คน อินโดนีเซีย 5 คนและยูเครน 1 คน ได้เดินทางจากเมืองลา ชายแดนตะวันออกของพม่า โดยทางเรือมาถึงที่ท่าเรือเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยเจ้าหน้าที่ทางการไทยได้นำตัวทั้งหมดไปคัดกรองโรคและตรวจสอบประวัติตามขั้นตอน
น.ส.เอ (นามสมมุติ) อายุ 23 ปี 1 ใน 6 คนไทยที่ตกเป็นเหยื่อในครั้งนี้ กล่าวว่า ถูกผู้ใช้บัญชีเฟสบุ๊กอวตารหลอกลวงให้ทำงานที่ จ.เชียงราย โดยบอกว่าเป็นงานที่ถูกกฎหมาย แต่ถูกหลอกให้ไปต่อจนกระทั่งเดินทางไปถึงตึกหมายเลข 9 ในเขตเล้าก์ก่าย จึงทราบต่อมาว่าต้องทำงานเป็นสแกมเมอร์ให้กับกลุ่มต้มตุ๋นออนไลน์ของคนจีน
“หน้าที่ของหนูคือต้องหลอกลวงเหยื่อที่เป็นคนไทย โดยมีโมเดลหลอกเป็นหนุ่มลูกครึ่งไทย-เกาหลี มีธุรกิจร้านอาหารอยู่ที่กรุงเทพ เพื่อใช้หลอกลวงเหยื่อ หลังจากนั้นจะทักแชทไปทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกดีๆ ด้วย มีการคอลหาเหยื่อ ก่อนจะหลอกให้ทำการเทรดหรือลงทุน” น.ส.เอ กล่าว
น.ส.เอ กล่าวอีกว่า ถูกล่อลวงให้ไปทำงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังชาติพันธ์ประสานส่งตัวกลับประเทศไทย โดยที่ผ่านมาเคยติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในพม่าแล้วแต่สถานทูตให้คำตอบไม่ชัดเจน และเคยติดต่อไปที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน ต้องขอบคุณ MNDAA (กองกำลังโกก้าง- Myanmar National Democratic Alliance Army) ที่ประสานให้ความช่วยเหลือจนสามารถกลับไทยได้”
ด้านนายบี (นามสมมุติ) อายุ 30 ปี 1ในคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในครั้งนี้ กล่าวว่า ข้ามด่านผ่านแดน 4 คืน 5 วัน จนถึงเมืองเล่าก์ก่าย บางวันต้องเดินป่าและเปลี่ยนรถ จนกระทั่งถึงบริษัทที่คนจีนเป็นเจ้าของ พอไปถึงก็ไม่ได้พักเลย เขาให้ขึ้นไปทดลองงานทันที โดยบอกแค่ว่าให้ทำงานเป็นแอดมิน และจะถูกทำร้ายร่างกายถ้าหาลูกค้าไม่ได้ ถูกหักเงินเดือน เคยต้องทำงานตลอดเวลา 48 ชั่วโมง จนแทบไม่ได้นอนเลย โดยต้องเป็นสแกมเมอร์ หาเหยื่อจากแอปพลิเคชั่น Whatsapp สร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อ ซึ่งเป้าหมายในการหลอกลวงคือชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวสวีเดน และมีออสเตรเลีย กับนอร์เวย์บ้าง ใช้กูเกิ้ลแปลภาษาในการพูดคุยติดต่อกับเหยื่อ ต้องอดทนทำจนกระทั่งได้รับการช่วยเหลือให้กลับประเทศ
ด้านนายสมศักดิ์ (นามสมมุติ) นักธุรกิจไทยในเขตปกครองเมืองลา ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าเมือง (เขตปกครองตนเอง 4) ช่วยเหลือคนไทยในครั้งนี้กล่าว ทางกองกำลังโกก้างได้ส่งคนไทยมมายังเมืองลา เพื่อส่งกลับประเทศไทยมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งนี้เจ้าเมืองโกก้างกับเจ้าเมืองลา เป็นสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน จึงส่งต่อความช่วยเหลือกัน แต่ส่วนใหญ่เหยื่อมาจากโกก้าง แต่เมืองลาก็พร้อมให้ความช่วยเหลือคนไทยอยู่แล้ว
“เส้นทางบกมีอุปสรรคเยอะกว่าจะถึงเมืองลา โดยผ่านเขตว้า ไม่ได้ผ่านพม่า เรารับต่อส่งต่อ ส่งถึงท่าเรือที่ทำธุรกิจ ส่วนค่าเดิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ได้เก็บคนที่ได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้เลย ซึ่งสูงพอสมควร” นายสมศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าค่าเรือประมาณเท่าไร นายสมศักดิ์กล่าวว่า ปกติต่อหัวประมาณ 5 หมื่นบาท เมื่อถามอีกว่าสถานการณ์สู้รบในรัฐฉานเหนือส่งผลกระทบต่อธุรกิจในเมืองลาหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่าส่งผลมาก เพราะนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวคนไทยก็ไม่เยอะอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติของเมืองลาที่นักท่องเที่ยวขึ้นๆ ลงๆ เช่นนี้ทุกๆ 2-3 ปี
ในวันเดียวกันสำนักข่าวอิรวดี รายงานว่ากองทัพพม่าได้คุมขังนายพล 6 นายที่ยอมจำนวนต่อกองกำลังโกก้าง โดยโฆษกกระทรวงกลาโหมพม่ากล่าวว่าเป็นไปตามขั้นตอนของศาลทหาร
ทั้งนี้การยอมจำนวนของทหารพม่าในเขตเล่าก์ก่ายเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมาเกิดจากการเจรจาของทั้งสองฝ่ายโดยมีจีนเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย โดยเมื่อเช้าวันที่ 5 มกราคม พล.อ.มินอ่องหลาย ได้พบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน
อิรวดีรายงานด้วยว่ากองกำลังทหารพม่าที่ยอมจำนนในดังกล่าวมีด้วยกันทั้งสิ้น 2,395 นาย เป็นระดับนายพล 6 นาย ระดับสูง 228 นาย โดยกองกำลังโกก้างได้อนุญาตให้ทหารกลุ่มนี้ผ่านไปยังพื้นที่กองกำลังว้า