เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักข่าว SHAN รายงานว่า กองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึกได้ประกาศรับสมัครทหารใหม่อายุระหว่าง 18 – 45 ปี โดยทางกองทัพรัฐฉานใต้จะฝึกทหารเป็นเวลา 1 ปี และทหารใหม่จะต้องรับใช้กองทัพเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้กองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ได้เผยแพร่คำประกาศดังกล่าวผ่านทางเพจข่าว Tai Freedom เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 67 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้รับความสนใจและชื่นชมจากประชาชนชาวไทใหญ่บนโลกโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทำให้รู้สึกว่ากองทัพรัฐฉานใต้มีความเคลื่อนไหวที่จะต่อสู้เพื่อรัฐฉาน หลังจากที่ประชาชนต้องนั่งมองกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า โดยมีการแชร์คำประกาศดังกล่าวมากกว่า 1,600 ครั้ง
เจ้าอุ้มเคือ โฆษกของกองทัพรัฐฉานได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว SHAN ว่า เป็นเรื่องจริงที่ทาง RCSS/SSA รับสมัครทหารใหม่ โดยยินดีต้อนรับทุกคนที่ต้องการจะมารับใช้ชาติเพื่อเข้ามาเสริมทัพให้กับกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA
ด้านกองทัพปะหล่อง TNLA ได้ออกมาประกาศจะใช้กฎหมายทหารปกครองในเขตพื้นที่ที่ตนควบคุม โดยระบุว่า ชายชาวตะอาง หรือชาวปะหล่องที่มีลูกชาย 2 คนขึ้นไป จะต้องเป็นทหารในกองทัพของ TNLA และหากครอบครัวไหนมีลูกสาว 3 คน จะต้องเป็นทหาร 1 คน เป็นต้น
ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า ขณะนี้กองทัพปะหล่อง TNLA ได้เริ่มเกณฑ์ทหารใหม่ในหลายพื้นที่เช่นที่เมืองน้ำสั่น เมืองม่านต้ง เมืองน้ำตู้ และเมืองน้ำคำ แม้เยาวชนบางรายจะยังคงเรียนหนังสือก็ไม่มีการละเว้น ทางด้านกองทัพปะหล่อง TNLA อ้างว่า ขณะนี้ได้เรียกให้ชาวบ้านในพื้นที่ของตนอายุระหว่าง 18 – 35 ปี เข้ามาฝึกทหารกับทางกองทัพตนจริง แต่ถ้าอายุยังไม่ถึงไม่ได้มีการเกณฑ์บังคับแต่อย่างใด
อีกด้านหนึ่งเยาวชนในพม่าต่างแสดงความกังวลต่อกฎหมายใหม่ของกองทัพพม่าที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ให้เยาวชนชายและหญิงต้องเป็นทหารทุกคนอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งสำนักข่าว Irrawaddy วิเคราะห์ว่า กฎหมายฉบับนี้ ยิ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมกับกองทัพฝ่ายต่อต้านทหารพม่ามากขึ้นเท่านั้น โดยนับตั้งแต่กองทัพพม่ายึดอำนาจที่ผ่านมา มีคนหนุ่มสาวราว 100,000 คน เข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า โดยกฎหมายเกณฑ์ทหารนี้น่าจะมุ่งเป้าในพื้นที่ที่กองทัพพม่าควบคุมอยู่และมีชาวพม่าอาศัยอยู่เช่นในเขตอิระวดี เมืองย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย และเมืองเนปีดอว์ เป็นต้น
ขณะที่สำนักข่าว RFA ที่สัมภาษณ์คนหนุ่มสาวหลายรายเห็นตรงกันว่า แทนที่จะเข้าร่วมกับกองทัพพม่า คนหนุ่มสาวหลายคนตัดสินใจที่จะเข้ากับกองทัพฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า “หากกองทัพใช้วิธีการบังคับ คนหนุ่มสาวจะยิ่งต่อสู้เพื่อให้เผด็จการหมดอำนาจมากยิ่งขึ้นเท่านั้น นี่เป็นวิธีการที่จะผลักดันให้คนในเมืองหลวงเข้าร่วมกับกองทัพฝ่ายต่อต้านมากขึ้นเท่านั้น” ชาวเมืองย่างกุ้งรายหนึ่งกล่าวกับสื่อ RFA
เช่นเดียวกับ มิน มิน วัย 24 ปี ที่กล่าวว่า เขาจะไม่เข้าร่วมกับกองทัพแต่จะเดินทางออกจากประเทศแทน ส่วน ฮิน ชาวพม่าอีกรายกล่าวว่า กองทัพพม่ากำลังใช้กฎหมายเพื่อเป็นกระสุนนัดสุดท้าย แม้แต่กลุ่มที่ให้การสนับสนุนกองทัพก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากกฎหมายนี้ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพกลับมาต่อสู้กับกองทัพเสียเอง หากพวกเขาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ออกมา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18 – 35 ปีเดินทางออกจากประเทศมากขึ้นและจะนำไปสู่ความขัดแย้งและใช้อาวุธสู้รบมากยิ่งขึ้น
นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า กฎหมายเกณฑ์ทหารของกองทัพพม่า ยังเป็นช่องทางให้กับกองทัพในการเรียกรับสินบนจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้บุตรหลานเป็นทหาร แต่สำหรับครอบครัวที่ยากจนนั้นที่ไม่สามารถจ่ายสินบนให้ทางรัฐได้อาจตัดสินใจให้บุตรหลานทิ้งประเทศ กฎหมายเกณฑ์ทหารที่ออกมาอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะช่วยต่อชีวิตของกองทัพพม่าและพรรคพวก