เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 รศ.ดร.ดุลภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายระเบียงมนุษยธรรมที่รัฐบาลไทยจะส่งความช่วยเหลือไปยังประชาชนในประเทศเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบด้านชายแดนตะวันตกโดยจะเริ่มปฎิบัติการในวันที่ 25 มีนาคม ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ว่าถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณเชิงบวกซึ่งทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์และบทบาทที่ดูแข็งแรงขึ้น แต่นโยบายนี้จะเข้าที่เข้าทางหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ 3 หน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนเรื่องพม่า คือ กระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงกลาโหม
“นโยบายนี้จะเข้ารูปเข้ารอยหรือไม่ขึ้นอยู่กับการประสานของ 3 หน่วยงานนี้ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะดูกระพร่องกระแพร่งบ้าง ยังไม่ค่อยเป็นเนื้อเดียวกันสักเท่าไร แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นร่วมมือกันที่ดี กระทรวงต่างประเทศมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ แต่การต้องไปติดต่อกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์หรือคอนเนคชั่นเครือข่ายในพื้นที่นั้นต้องพึ่งกองทัพบก ซึ่งหลักการพื้นฐานไปด้วยกัน แต่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศต่ออาเซียน ว่าเป็นเบอร์ 1 ในการขับเคลื่อนเรื่องมนุษยธรรม และกองทัพไทยเป็นตัวเสริม” รศ.ดร.ดุลภาค กล่าว
รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่าในพื้นที่ที่ระเบียงมนุษยธรรมพาดผ่านก็ต้องพิจารณาให้ดีว่ามีใครได้หรือเสียประโยชน์ เพราะบางทีอาจไปเข้าทางกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม ซึ่งหากความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึงประชาชนเต็มๆ ก็อาจทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้
รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ระเบียงมนุษยธรรมที่รัฐบาลจะส่งต่อความช่วยเหลือในวันที่ 25 มีนาคมที่จะถึงนี้ ได้ยินว่าลงตัวแล้วระดับหนึ่งโดยมีกำหนดการเบื้องต้นออกมา ซึ่งมีรายชื่อคณะบุคคลสำคัญ ตัวแทนจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆเข้าร่วม เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก และยังมีนายอาลุนแก้ว กิตติคุน ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องสถานการณ์ในพม่า (Special Envoy of the ASEAN Chair on Myanmar) ซึ่งจะยกคณะสถานทูตลาวและคณะผู้แทนอาเซียนเข้าร่วม ซึ่งถือว่าเป็นภาพใหญ่ของสารตั้งต้นซึ่งสอดคล้องต่อภาพใหญ่ของอาเซียนและไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้การสู้รบฝั่งเมืองเมียวดียังรุนแรงจะส่งผลต่อการส่งต่อความช่วยเหลือครั้งนี้หรือไม่ รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ในแง่ของการขนส่งความช่วยเหลือเข้าไปอาจยังมีปัญหาบ้างเพราะมีการสู้รบ แต่ในแง่ของพิธีต่างๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของระเบียงมนุษยธรรมนั้นไม่น่ามีปัญหา เพียงแต่ในทางปฏิบัติอาจต้องใช้เวลาบ้าง
ขณะที่พล.อ.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA ) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(Karen National Union-KNU) กล่าวว่าได้รับรายงานว่ามีการประชุมในพื้นที่กองพลที่ 7 เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ แต่ในพื้นที่กองพลที่ 5 ของรัฐกะเหรี่ยง และพื้นที่รัฐคะเรนนี ยังไม่มีการประสานมา อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนคือพื้นที่ของกองพลที่ 3 ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นพื้นที่ของกองพลที่ 7 ยังไม่เร่งด่วนขนาดนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรในการใช้กลไกความช่วยเหลือของกาชาดของไทยและกาชาดพม่า พล.อ.บอจ่อแฮกล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือความช่วยเหลือจะไม่ถึงมือผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ หากประสานกับรัฐบาลทหารพม่า แต่หากเขาทำงานประสานกับ KNU ที่รับฟังความต้องการของชาวบ้านจริงๆ การช่วยเหลือและประโยชน์จะตกถึงมือประชาชนผู้เดือดร้อนจริงๆ
“ถ้าดำเนินการผ่าน KNU สามารถทำได้ทันที สิ่งที่รัฐบาลพม่าเสนอมาอาจไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการแสดงให้ภาพลักษณ์ตนเองดูดีและเป็นการเล่นเกมการเมือง สมมุติว่าชุมชนร้องขอความช่วยเหลือผ่านมายัง KNU แล้วเราก็นำเสนอข้อมูลนั้นต่อ ประโยชน์ก็ตกถึงชาวบ้านจริงๆ ไม่มีปัญหาข้อติดขัดขัดใดๆ หากประสานมา เราจะเข้าช่องทางชายแดนจุดไหนก็สามารถทำได้ แต่การไปหารือกับผู้ที่ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่าจะส่งความช่วยเหลือไปยังจุดไหน จะใช้เส้นทางไหนกันแน่ จะประสานผ่านเราหรือจะดำเนินการผ่านกองกำลังบีจีเอฟ ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ แต่ถ้าทำอย่างตรงไปตรงมาประสานงานกับเคเอ็นยูในพื้นที่ที่เดือดร้อนอยู่ตรงไหน แล้วส่งผ่านเส้นทางใด เราสามารถช่วยได้ทันที” รองผบ.สส. KNLA กล่าว
พล.อ.บอจ่อแฮกล่าวว่า หากรัฐบาลไทยประสานผ่านไปยังกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือBGF (Karen Border Guard Force – Karen BGF) ก็ไม่มีปัญหาเพราะเราอยู่ในพื้นที่เดียวกันและประสานงานกันได้และชาวบ้านก็เป็นชาวบ้านของเรา กองกำลังกะเหรี่ยงทุกฝ่าย มีข้อตกลงที่จะทำงานร่วมกันซึ่งอยู่ในบันทึกการประชุมร่วมกัน เพราะศัตรูหลักของเราคือกองทัพพม่า พวกเราไม่ใช่ศัตรูกัน แต่แน่นอนว่าแต่ละองค์กรแต่ละกลุ่มมีแนวคิดที่ไม่ตรงกัน เพราะในองค์กรเดียวกันยังมีความคิดที่ต่างกัน องค์กรอื่นๆก็เป็นเช่นนั้น
ด้านสถานการณ์การสู้รบในพื้นที่เมืองเมียวดีซึ่งอยู่ตรงข้ามกับชายแดนด้านจังหวัดตาก ยังคงเป็นไปอย่างรุนแรงต่อเนื่องโดยเฉพาะบริเวณฝั่งตรงข้ามกับ อ.อุ้มผาง ซึ่งกองกำลัง KNU และPDF ได้โอบล้อมเพื่อเตรียมบุกยึดฐานทหารพม่า ทำให้กองทัพพม่าระดมยิงกระสุนปืนใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านต่างอพยพหลบหนีไปยังจุดต่างๆ
ขอบคุณภาพจาก KIC