การโจมตีและขับไล่ทหารของกองทัพพม่าออกจากเมืองเมียวดีของกองกำลังกะเหรี่ยงซึ่งนำโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU (The Karen National Union) ภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการท้อแหม่ป่า” ที่มีเป้าหมายทวงคือแผ่นดิน “มหารัฐกอทูเล” ทำให้หลายคนสงสัยว่า “ท้อแหม่ป่า” และ “มหารัฐกอทูเล” คืออะไร
ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย นักวิชาการเชื้อสายกะเหรี่ยง แห่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายว่า มหารัฐกอทูเล เป็นพื้นที่เดิมของชาวกะเหรี่ยงซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ริมแม่น้ำสาละวินฝั่งตรงกันข้ามอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปจนถึงลุ่มน้ำอิรวดี ภายใต้มหารัฐกอทูเล มีรัฐอื่นๆอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่กะเหรี่ยง มีทั้งมอญ คะเรนนี พม่า ยะไข่บางส่วน คล้ายกับสหพันธรัฐ คือมีรัฐเล็กรัฐน้อยอยู่ร่วมกัน
“มหารัฐกอทูเลไม่ใช่เป็นรัฐของคนกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่เป็นพหุรัฐที่หลายๆรัฐมาอยู่รวมกัน คำว่าทูเลหรือทูเลโบเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งในภาษาไทยคือต้นเอื้องหมายนา แผ่นดินเอื้องหมายนาคือ มีเอื้องหมายนาขึ้นที่ไหน ที่นั่นก็คือแผ่นดินของกอทูเล จะเห็นได้ว่าธงชาติกะเหรี่ยงมี 9 แฉกคือแผ่นดิน 9 ดีของมหารัฐกอทูเล ประกอบด้วยอิรวดี, ตายวะดี,อันดาวดี, กันทรวดี, เมียวดี ดอยวดี, ซียะวดี , ตันยะวดี และ มอระวดี
“ในยุคนั้นกะเหรี่ยงไม่ได้รบเพื่อชนชาติกะเหรี่ยงอย่างเดียว แต่รบเพื่อแผ่นดินที่มีต้นเอื้องหมายนาขึ้นอยู่ พอเขาให้ขีดแผนที่ คนพม่าก็บอกว่าเยอะไป รัฐกะเหรี่ยงปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ทัพกะเหรี่ยงที่ถอยร่นมาอยู่ที่นี่”
ผศ.สุวิชาญกล่าวว่า การประกาศที่เมืองเมียวดีว่าจะกอบกู้มหารัฐกอทูเลนั้น ไม่ใช่พื้นที่มหารัฐกอทูเลเหมือนในอดีต ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่ใช่กะเหรี่ยงตัดสินใจ เช่น อิรวดี ตอนนี้มีคนพม่าและอีกหลายชาติพันธุ์มาอยู่มากมาย ดังนั้นเขาต้องตัดสินใจเองว่าจะมาอยู่มหารัฐกอทูเลหรือไม่ หรือสถาปนาเป็นเขตของตัวเอง และแม้แต่รัฐกอทูเลปัจจุบันก็ไม่ใช่ของคนกะเหรี่ยงเท่านั้น เช่น เมืองผาอัน (Hpa-an) มีคนพม่าและชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย ตอนนี้พื้นที่ที่ KNUคุยกันกอทูเลคือพื้นที่ที่ทั้ง 7 กองพลหรือ 7 จังหวัดตั้งอยู่ นับตั้งแต่ทวายไปจนถึงฝั่งตรงข้ามแม่ฮ่องสอน
ผศ.ดร.สุวิชาญ อธิบายถึงปฏิบัติการ “ท้อแหม่ป่า” ว่าทอแม่ป้าเป็นตำนานของผู้อาวุโสที่เป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ที่กะเหรี่ยงย้ายลงมาจากทิเบต เมื่อถูกรุกรานก็ถอยร่นลงมาเรื่อยๆ ท้อแหม่ป่ามีหมูโทนและได้เขี้ยวหมูตันมาทำหวีทำให้หนุ่มขึ้นอีก 7 ปี และกลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และนำชาวกะเหรี่ยงเดินทางฝ่าฟันได้ทุกที่
ดังนั้นปฏิบัติการท้อแหม่ป่าก็คือปฏิบัติการพลิกฟื้นการสร้างประวัติศาสตร์เพราะท้อแหม่ป่า คือประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในตำนานแรกของปกาเกอะญอที่พูดถึงการมีผู้นำและแสวงหาแผ่นดิน ทุกวันนี้ลูกหลานท้อแหม่ป่าต้องตามหาแผ่นดินของเราให้เจอซึ่งเป็นแผ่นดินสีเขียว
“ปฏิบัติการท้อแหม่ป่าที่เมียวดีเป็นการกอบกู้แผ่นดินสีเขียวให้กลับมา ลูกหลานท้อแหม่ป่ากลับมาแล้ว บางคนจึงตีความว่าปฏิบัติการท้อแหม่ป่าคืออิสรภาพ สันติภาพ และประชาธิปไตย ตามเจตนารมณ์ของท้อแหม่ป่าที่ออกมาจากพื้นที่แร้นแค้นมาสู่แผ่นดินสีเขียว”
ผศ.ดร.สุวิชาญกล่าวว่า การต่อสู้ของกะเหรี่ยงเป็นการกอบกู้หรือทวงคืนแผ่นดิน ไม่ใช่ไปเอาแผ่นดินของคนอื่น กะเหรี่ยงอยู่มาก่อนนานแล้ว ที่เมียวดีจึงเป็นการทวงคืนประชาธิปไตย ทวงคืนแผ่นดิน ทวงคืนสิทธิของลูกหลานท้อแหม่ป่า
“ความสัมพันธ์ระหว่างกะเหรี่ยงกับไทยตั้งแต่สุโขทัย อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ เป็นความสัมพันธ์เชิงมิตรมายาวนาน ต่างจากความสัมพันธ์กับพม่า คนกะเหรี่ยงจึงหวังว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางมิตรภาพเอาไว้ได้”