Search

จีนเทา-ต่างชาติเทาหนีเมียวดีกระเจิงเข้าแม่สอด หลัง KNU ปะทะทหารพม่าเดือด “รังสิมันต์” จี้นายกรัฐมนตรีใช้โอกาสทลายแหล่งอาชญากรรมริมน้ำเมย แนะ 3 เป้าใหญ่ ตม.ยันข้ามแดนไม่ผ่านด่าน เผยลักลอบข้ามช่องทางธรรมชาติทำลายความมั่นคง

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567 สถานการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังผสมฝ่ายต่อต้านที่นำโดยกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA ) แห่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) ร่วมกับกองทัพประชาชน (People’s Defense Force-PDF) และทหารพม่าจากกองพัน 275 ที่หนีมาอยู่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 ฝั่งเมียวดี ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ยังคงเป็นไปอย่างดุเดือดโดยตั้งแต่ช่วงเช้ามืดโดยทหารของกองทัพพม่า (SAC) ได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดหลายระลอก ขณะที่ทหารกะเหรี่ยง BGF กลุ่มหนึ่งได้เข้าไปยังจุดสู้รบเพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อให้ทหารพม่าที่เหลือกว่า 100 คนยอมมอบตัววางอาวุธ

ขณะเดียวกันภายหลังจากมีข่าวว่า พลจัตวาโซมินแทต ผู้บัญชาการกองพล 44 ของกองทัพพม่าเสียชีวิต อย่างไรก็ตามกระแสข่าวดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยืนยันโดยทาง KNLA แจ้งว่าพลจัตวาโซมินแทตยังมีชีวิตอยู่

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจด่านชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 พบว่า โดยช่วงเช้าบรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงาเนื่องจากระบบจัดทำหนังสือผ่านแดนฝั่งเมียวดีเสีย ทำให้ประชาชนที่เดินทางเข้า-ออกโดยหนังสือผ่านแดนที่จะเข้ามาจากเมืองเมียวดีไม่สามารถข้ามมายังฝั่งไทยได้ ขณะเดียวกันมีประชาชนกว่า 50 คนที่รออยู่บริเวณกลางสะพานเนื่องจากไม่กล้าข้ามกลับไปฝั่งเมียวดี เพราะหวั่นเกรงว่าจะไม่สามารถข้ามกลับมาประเทศไทยได้

ขณะเดียวกันบรรยากาศในเมืองแม่สอดเป็นไปอย่างคึกคักเนื่องจากในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในคาสิโนและแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยฝั่งเมียวดี ไม่ว่าจะเป็นชเวโก๊กโก่ เคเคปาร์ค ได้หนีข้ามมาหลบภัยมาอยู่ฝั่งไทย ทำให้ที่พักต่างๆทั้งโรงแรม รีสอร์ทในเมืองแม่สอดมีชาวต่างชาติมาเข้าพักเต็มเกือบทั้งหมดในเพียงชั่วเวลาข้ามคืน

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด ได้รับคำตอบว่าไม่มีข้อมูลของชาวต่างชาติเหล่านี้ และเชื่อว่าทั้งหมดข้ามแดนมายัง อ.แม่สอด โดยช่องทางธรรมชาติ

พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเรขา ผกก.ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จังหวัดตาก เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่บริเวณด่านพรมแดนแม่สอด สะพานมิตรภาพไทย-พม่า 1 มีผู้เข้ามาอย่างถูกต้องโดยหนังสือผ่านแดนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้ข้ามมาจากฝั่งพม่าถึง 6 พันคนซึ่งถือว่ามากที่สุดวันหนึ่ง ส่วนชาวบ้านที่อพยพข้ามแม่น้ำเมยตามช่องทางธรรมชาตินั้น ทางจังหวัดได้จัดพื้นที่พักพิงไว้สำหรับการช่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าวถามถึงชาวต่างชาติที่พักอยู่ตามโรงแรมต่างๆ ในเมืองแม่สอดได้ผ่านเข้ามาตามด่านถูกต้องหรือไม่ พ.ต.อ.บวรภพ กล่าวว่าตั้งแต่มีการประชุมไตรภาคีไทย จีนและเมียนมา ตั้งแต่ มีนาคม 2566 ทางการจีนต้องการให้ระงับการเข้าออกของคนจีนที่เข้าไปก่ออาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 ทางการพม่าได้ระงับต่างชาติไม่ให้เข้า-ออกด่านสะพาน 1 โดยข้ามได้เฉพาะคนไทยและคนพม่าเท่านั้น

“แม้แต่ในสนามบินแม่สอดก็เป็นสนามบินในประเทศ ไม่มีเจ้าหน้าที่ ตม.ดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติว่าจะเดินทางไปที่ใด ปัจจุบันคนต่างชาติโดยเฉพาะคนจีนไม่สามารถเข้า-ออกบริเวณด่านนี้ได้ แต่การตรวจสอบของ ตม. และตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism-MRN) ก็ดำเนินการอยู่แล้ว ขณะเดียวกันทางตม.ยังพบเห็นและจับกุมคนต่างชาติที่อยู่อย่างผิดกฎหมายได้อยู่เสมอเฉลี่ยสัปดาห์ 5-10 ราย” พ.ต.อ.บวรภพ กล่าว

ทั้งนี้ในระหว่างที่ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ พ.ต.อ.บวรภพ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมผู้หญิงชาวจีน 2 รายที่อยู่เกินการขออนุญาต (overstay) โดยทั้งคู่จะถูกส่งตัวต่อไปยังสถานีตำรวจเพื่อฟ้องศาลและส่งกลับประเทศจีนโดยจะถูกขึ้นบัญชีดำไม่ให้เข้าประเทศไทย 5 ปี

ด้านนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้สัมภาษณ์ภายหลังการส่งมอบความช่วยเหลือให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่หนีมาอยู่บริเวณท่าทรายรุจิรา ว่าแม้สถานการณ์ในช่วงเช้าบริเวณฝั่งตรงข้ามจะมีการทิ้งระเบิดแต่ในช่วงเที่ยงเป็นต้นมาสถานการณ์ค่อนข้างสงบทำให้เชื่อว่าแนวโน้มสถานการณ์จะดีขึ้น โดยขณะนี้มีผู้หนีภัยจากการสู้รบอยู่ประมาณ 3,000 คน ซึ่งทางอำเภอแม่สอดได้เปิดศูนย์พักพิงไว้  5 แห่งและเตรียมนำทั้งหมดมารวมกันให้เหลือเพียงแห่งเดียวเพื่อสะดวกในการบริหารจัดการ

“สถานการณ์ผู้หนีภัยตอนนี้ทางอำเภอและจังหวัดยังสามารถรับมือได้ และเราก็มีภาคเอกชนคอยให้การช่วยเหลือสนับสนุน อยากขอความร่วมมือประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนอย่าเข้าไปพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติการบริเวณคอสะพานแห่งที่ 2 ขณะเดียวกันหากใครมีความประสงค์ร่วมบริจาค เราได้จัดตั้งศูนย์ไว้ที่กิ่งกาชาดแม่สอด” นายสมชัย กล่าว

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชายขอบ กรณีที่มีประชาชนจำนวนมากหนีภัยการสู้รบข้ามแม่น้ำเมย มายัง อ.แม่สอด ว่ากรณีชาวบ้านที่หนีภัยสงครามต้องให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ (SOP) ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ควรปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สิ่งที่เกิดที่เมียวดีกำลังเป็นบททดสอบของไทยว่าสามารถรับสถานการณ์ได้มากแค่ไหน ตนมีความกังวลว่าไทยเราเองอาจไม่พร้อมมากนักในกรณีที่มีผู้หนีภัยการสู้รบขนานใหญ่เข้ามา รัฐบาลจำเป็นต้องร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ  ประชาสังคม ในการแก้ปัญหานี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงความไม่พร้อมคืออะไร นายโรมตอบว่าหลักๆ คือการดูแลประชาชนเหล่านี้ พื้นที่รองรับมีมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลที่เคยได้ทราบจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงฯ ว่ารับได้ประมาณ 75,000 คน ต่อมารัฐบาลให้ตัวเลขใหม่คือ 100,000 คน แต่ในความเป็นจริง คือผู้หนีภัยอาจมากกว่านั้นหลายเท่า พื้นที่เรามีพร้อมแค่ไหน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโรคติดต่อ สาธารณสุขมีความพร้อมในการคัดกรองอย่างไร มีมาตรการในการรักษาขนาดไหน อาหารการกินทำอย่างไรให้อยู่ได้เพียงพอ ยังไม่นับว่าเด็กๆ ที่ต้องได้รับการศึกษา

“ทั้งหมดที่ผมพูดนี้ไม่ใช่การเรียกร้องอะไรมากมาย เป็นสิ่งพื้นฐาน แต่เราต้องยอมรับว่าเราเองอาจไม่ได้เตรียมทรัพยากรไว้เพียงพอ ถึงที่สุดแล้วคงต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีทรัพยากร มีทักษะ ขั้นตอนปฏิบัติยังมีปัญหาในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เป็นข้อจำกัด” สส.ก้าวไกล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงพวกจีนเทาและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่างๆที่หนีข้ามมาฝั่งไทยควรมีการดำเนินการอย่างไร

นายรังสิมันต์กล่าวว่า เวลานี้เป็นโอกาสอันดีเหมือนที่ตนเคยอภิปรายในสภาและก็ทำนายไว้ถูกจริงๆ ว่าเวลานี้มีสถานการณ์เกิดขึ้นในเมียวดี นำไปสู่การสู้รบ หากมองเป็นวิกฤตก็ใช่ แต่หากมองเป็นโอกาสก็ใช่ที่จะทลายเครือข่ายจีนเทาและไทยเทา

“ผมคิดว่านี่เป็นโอกาส เมื่อเขาข้ามมาแล้วไม่ใช่ว่าถ้ามีประวัติผิดกฎหมายเราจะไม่สามารถทำอะไรได้ เมื่อเขาข้ามมาเราก็ต้องดู ต้องบันทึกข้อมูล จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เมื่อคนข้ามมาชั้นต้นเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เราจะได้เก็บฐานข้อมูลของผู้ที่ข้ามไปมาว่าเป็นใครอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลของรัฐบาลเพื่อจัดการต่อไป รวมไปถึงบรรดาจีนเทา คนที่ทำสแกมเมอร์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหลาย คนเหล่านี้หากเรามีพยานหลักฐานในการกระทำความผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย จะนำไปสู่ประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้มีแก๊งเหล่านี้ในเมียวดีอีกต่อไป” สส.รังสิมันต์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามการที่บุคคลที่ทำงานในแหล่งอาชญากรรมริมน้ำเมย สามารถข้ามน้ำเมยไปมา เมื่อมีเหตุทิ้งระเบิดก็สามารถข้ามเมืองแม่สอดเพียงชั่วข้ามคืนโดยไม่ผ่านด่าน เรื่องนี้ควรแก้ไขอย่างไร นายรังสิมันต์ กล่าวว่าสิ่งสำคัญคือต้องมีขั้นตอน ที่อื่นหากไม่ใช่ที่นี่ (อ.แม่สอด) คือการข้ามประเทศต่ำสุดคือใช้ border pass (บัตรผ่านแดนชั่วคราว) ซึ่งไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ติดต่อ แต่กรณีแม่น้ำเมยการข้ามไปมาแม่สอดเมียวดีกลับไม่ต้องใช้เอกสารอะไรเลย ข้ามไป-มา เป็นปัญหาความมั่นคงอย่างร้ายแรง แล้วจะทำให้เราควบคุมสิ่งผิดกฎหมายไม่ได้เลย ในกรณีที่มีเหตุการณ์แล้วข้ามมาต้องไปดูว่าเป็นแนวทางของรัฐบาลหรือไม่ที่ให้ข้ามมาเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างง่ายดาย

“หากมีเหตุที่น่าเชื่อว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ข้ามมาได้ แต่ต้องบันทึกประวัติและเก็บฐานข้อมูล เป็นขั้นต่ำที่สุดที่เราต้องทำ ทำได้เลยเพื่อใช้จัดการต่อไป” สส.กล่าว

เมื่อถามว่าดูเหมือนรัฐไทยยังใช้บริการของกองกำลัง BGF (กองกำลังพิทักษ์ชายแดนและเปลี่ยนชื่อเป็นกองกำลัง KNA) ที่ดูแลแหล่งอาชญากรรมฝั่งเมียวดีจะทำให้การแก้ไขปัญหาสำเร็จหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่าเราคงต้องทำงานกับทุกฝ่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายที่ทำงานด้วยเข้าใจว่าการที่ได้รับประโยชน์จากจีนเทานั้นไม่ยั่งยืน และทำลายผลประโยชน์ของพม่า หากเราจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องมีมาตรการอื่นๆ

“มาตรการที่เข้มข้น เช่น จีนเทา เราก็มีมาตรการตรวจขันตามชายแดน ไม่ให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมนี้ ยุติการสนับสนุนต่างๆ ที่ทำได้ ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต มาตรการที่อ่อน เช่นเราสามารถมีการพูดคุยว่าหากคุณต้องการเห็นการพัฒนา เราสามารถคุยการค้าที่ไม่ใช่ธุรกิจสีเทา เราสามารถมีหลากหลายรูปแบบ ต้องคุยทั้งระดับธุรกิจ ความมั่นคง และประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งประเทศไทยเท่านั้นที่สามารถทำได้ดีที่สุดและถูกมองว่าน่าไว้วางใจที่สุดจากกองกำลังพม่า ชาติพันธุ์ต่างๆ” สส.ก้าวไกล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะมา อ.แม่สอด ในวันที่ 23 เมษายนนี้ จะชี้เป้าให้นายกสั่งการอย่างไรได้บ้าง นายรังสิมันต์ตอบว่า 1. ต้องปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงาน (SOP) ของทุกหน่วยงานรวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ ต้องร่วมกันแข็งขันอย่างมาก ให้มีขั้นตอนปฏิบัติที่ทันต่อสถานการณ์ 2. การเก็บข้อมูลผู้หนีภัย ต้องมีเจ้าภาพให้ทำเรื่องนี้ 3. ทุนสีเทา เวลานี้คือโอกาสที่จะกวาดล้าง และเราสามารถยุติการสนับสนุนทุกอย่าง ทั้งอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า อย่างถอนรากถถอนโคน

ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม กล่าวว่าในฐานะฝ่ายบัญญัติที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมา เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดทฤษฎี ‘เมียวดีโดมิโน’ เกิดขึ้นตลอดแนวชายแดนไทย โดยมีสถานการณ์ที่เมืองเมียวดี เป็นสารตั้งต้น จากเหตุการณ์ที่มีทหารเมียนมากว่า 100 นายที่หนีทัพมาอยู่พรมแดนเมียวดี 2 และทหารเมียนมาต้องการยึดคืนเมืองเมียวดีให้ได้ จากการควบคุมของฝ่ายต่อต้าน เมืองเมียวดีจึงเป็นพื้นที่เดียวที่ยังเป็นการก้ำกิ่งที่มีการควบคุมระหว่าง ฝ่ายต่อต้านหรือรัฐบาลเมียนมา (Government Control Area ) ทำให้รัฐบาลเมียนมาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เมียวดีคืน และจะลุกลามไปทุกเมืองบริเวณชายแดนที่อยู่ติดกับไทย ที่ถูกฝ่ายต่อต้านยึดไปแล้ว เช่นพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ชายแดนจ.แม่ฮ่องสอนด้วย

“ผมเคยเสนอให้มีการจัดพื้นที่ไม่มีปฏิบัติการทางทหาร Safety Zone บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เข้าไป 5 กิโลเมตร แต่ตอนนี้ช้าไปแล้ว เพราะไม่มีการพูดคุย และสถานการณ์เปลี่ยน แต่ต้องพูดคุยเรื่อง Safety Zone ให้ได้ เป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้องคาพยพของไทยมาพูดคุยให้ได้ เพราะจะมีผลกระทบมาทางไทย เพราะจะมีผู้ลี้ภัยมายังไทย ไทยต้องคุยกับรัฐบาลเมียนมา SAC และฝ่ายต่อต้าน ให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้”

นายกัณวีร์ ยังกล่าวถึงปัญหาที่กลุ่มคนจีนและต่างชาติที่อยู่ในคาสิโน และในเมืองใหม่ชเวก๊กโก่ เคเคปาร์ค ได้รับผลกระทบจากการสู้รบด้วยว่า คนจีนที่หนีเข้ามาเพราะผลกระทบการสู้รบออกจากไทยผิดกฎหมาย เข้าเมืองเมียนมาแล้วเข้ามาไทย อพยพมาเพราะสถานการณ์ จะต้องอยู่ในสถานะอะไร รัฐบาลไทยต้องเปิดศูนย์คัดกรองเหยื่อการค้ามนุษย์ เปิดศูนย์ NRM ด้วยหรือไม่ เตรียมการเรื่องนี้หรือยัง”

On Key

Related Posts

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →