เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 นายโกบันยา โฆษกสภาบริหารชั่วคราวรัฐคะเรนนี (IEC) ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวชายขอบ”ถึงการเดินหน้าจัดทำโครงสร้างการปกครองในรัฐคะเรนนีหลังจากทหารคะเรนนีและพันธมิตรสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐคะเรนนี้ไว้ได้แล้ว ว่ารูปแบบการปกครองในรัฐคะเรนนีเป็นระบบคู่ขนานกับ IEC โดยขณะนี้สามารถจัดตั้งได้แล้วใน 7 อำเภอ โดยได้ตั้งสภาบริหารเมือง township administration council คล้ายเป็นระบบการปกครองในอำเภอซึ่งรวมหมู่บ้านเป็นตำบล มีผู้นำแต่ละหมู่บ้านจากคัดเลือกมาเป็นตัวแทนระดับตำบล และส่งตัวแทนเลือกตั้งกันเองให้เป็นตัวแทนในสภาระดับอำเภอ ซึ่งมีสมาชิก 7-9 คน ซึ่งมาจากผู้นำชุมชน 4-6 คน นอกนั้นเป็นตัวแทนของกลุ่มกองกำลัง EROs โดยมีรูปธรรมแล้วในพื้นที่ดีอำเภอมอโส่ พรูโส่ โดยเลือกตั้งจากชุมชนมา 4 คน ตัวแทน EROs 3 คน แล้วเลือกตั้งประธาน รองประธาน เลขา เป็นสภาหรือคณะที่บริหารเมืองนระดับอำเภอ
“ตอนนี้เราเลือกตั้งแล้ว 5 อำเภอ อีก 2 อำเภอก็เลือก แต่เป็นรูปแบบที่ผสมกับกองกำลัง คือ KNPP ร่วมกับดาวแดง เช่นที่แม่แจ๊ะ มีการจัดตั้งอำเภอเองเลยโดยกองกำลัง เราก็ให้มีตัวแทนชุมชนมาเป็นสมาชิกสภาบริหารเมือง”นายโกบันยา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ารูปแบบการจัดตั้งอำเภอโดยกองกำลัง และโดย IEC แตกต่างกันอย่างไร นายโกบันยากล่าวว่า ต่างกันคือที่ แม่แจ๊ะ เป็นการให้น้ำหนักไปที่กองกำลัง KNPP และดาวแดง ส่วนพื้นที่ผาซอง โดย KNPP และดาวขาว KNSO ซึ่งมีสมาชิกสภาบริหาร
ทั้งนี้สภาบริหารเมืองนี้มีหน้าที่ดูแลปกครองพื้นที่ ดูแลความปลอดภัย ประสานงานกับกระทรวงต่างๆ ของ IEC สำหรับการปกครองระดับประเทศมีด้วยกัน 8 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษา กระทรวงสตรีและเด็ก กระทรวงมนุษยธรรมและการฟื้นฟู Humanitarian and Rehabilitations กระทรวงการคลังและการวางแผน กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการค้าการ ลงทุนและคมนาคม โดยแต่ละกระทรวงมีผู้แทนลงมาทำงานคู่ขนานกับอำเภอและทำงานด้วยกัน
“การแบ่งการปกครองเป็นเขตที่สูงกว่าระดับอำเภอไม่มี เพราะแต่ละอำเภอรวมกันเป็นรัฐคะเรนนี อย่างไรก็ตามเรากำลังดูอยู่ว่าควรแบ่งเป็นระดับจังหวัดด้วยหรือไม่ สัก 2-3 จังหวัด สำหรับ 7 อำเภอที่จัดตั้งแล้วยังมีอีก 2-3 พื้นที่ที่เราต้องไปจัดตั้ง เพราะยังอยู่ระหว่างการต่อรอง คือดีมอโส่ตะวันตก เพคอน และลอยก่อ”โฆษก IEC กล่าว โดยก่อนหน้านี้กองทัพคะเรนนี้ได้ประกาศว่าสามารถยึดพื้นที่ทั่วประเทศได้แล้วมากกว่า 90%
เมื่อถามว่าเมืองหลวงก็ยังคงเป็นลอยก่อหรือไม่ นายโกบันยากล่าวว่า เมืองลอยก่ออาจเป็นเมืองเศรษฐกิจและเราจะสร้างเมืองใหม่เป็นเมืองบริหาร ทั้งนี้ประเทศของเรา เรียกว่า คะเรนนี Karenni ส่วนการปกครอง คือ federal democracy ประชาธิปไตยสหพันธรัฐ การปกครองของเราใช้หลักการประชาธิปไตย โดยเป็นแบบ hybrid คือหมู่บ้าน เลือกส่งมาตำบล แล้วในระดับอำเภอใช้วิธีการเลือกกันเอง โดยปัจจุบันมีสภาบริหารชั่วคราวของคะเรนนี 6 คน เพื่อเลือกคนมาให้ทำงานกระทรวงต่างๆ โดย IEC มีวาระเพียง 4 ปี
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงด่านการค้าชายแดนของรัฐคะเรนนีมีการเปิดและมีเจ้าหน้าที่ของรัฐคะเรนนีเข้าไปดูแลแล้วหรือไม่ นายโกบันยากล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ปัจจุบันด่านเปิด 2 ด่าน คือ BP 13-14 หรือด่านห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และด่านเสาหิน อ.แม่สะเรียง ซึ่งดูแลโดย KNPP และดาวแดง ปัจจุบันดูแลภาษี การค้าขาย ส่วนตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และตำรวจ อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยของ IEC เราได้คุยว่าจะไปตั้งศูนย์ตม.ที่ด่านชายแดน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการ ซึ่งวางแผนว่าจะทำบัตรผ่านแดน borderpass สำหรับด่าน BP 9-10 บ้านน้ำเพียงดิน อ.เมือง ต้องคุยกับ KNPP
ผู้สื่อข่าวถามว่าระบบการทำบัตรผ่านแดนต้องสัมพันธ์กับประเทศไทยด้วย นายโกบันยาตอบว่า เป้าหมายขั้นต้นคือ ทำระบบในฝั่งของคะเรนนี เราต้องการข้อมูลของผู้ที่เดินทางเข้ามาในรัฐคะเรนนี สำหรับสินค้าที่ขนเข้ามาเราก็มีระบบการจัดเก็บภาษี เพื่อเป็นรายได้ของรัฐคะเรนนี
โฆษก IEC กล่าวว่า เวลานี้ไม่มีธงชาติพม่าเหลืออยู่ในรัฐคะเรนนีแล้ว สำหรับการใช้ธงชาติของรัฐคะเรนนีตามโรงเรียน หรือสถานที่ต่างๆ ก็อาจเด่นเกินไปว่าเป็นพื้นที่ของฝ่ายต่อต้าน ดังนั้นเราก็เอาธงขึ้นยอดเสาเพียงไม่นาน สำหรับสถานที่เช่นเรือนจำ หรือสำนักงานต่างๆ ก็มีธงชาติคะเรนนี ซึ่งแต่ละกลุ่ม แต่ละเผ่าในรัฐคะเรนนี ก็อาจมีธงของตนเอง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกองกำลังทหารพม่าที่ยังคงหลงเหลือในรัฐคะเรนนี นายโกบันยากล่าวว่ายังฐานพม่า SAC ในบางพื้นที่ เช่น ที่เมืองลอยก่อ และที่ติดกับเมืองดีมอโส่ 2 ฐาน ในพรูโส่ 2 ฐาน บอลาแค มีในตัวเมืองผาซอง 2 แต่เร็วๆ นี้น่าจะเอาลงได้เรียบร้อย รวมแล้วเป็นจุดๆ ไม่ถึง 10 จุดซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายทหารพม่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าชาวบ้านที่อพยพหนีภัยการสู้รบจะกลับบ้านได้เมื่อไหร่ โฆษก IEC กล่าวว่าชาวบ้านก็กลับบ้างแล้ว แต่ยังอยู่แบบปกติไม่ได้ เช่น พื้นที่ดีมอโส่ ชาวบ้านก็กลับไป ยกเว้นหมู่บ้านที่ติดกับฐานทหารพม่า SAC ให้ไปแค่ดูแลบ้านแต่ยังกลับไปอยู่เลยไม่ได้ ขณะที่หลายพื้นที่เราได้ฟื้นฟูกลับไปปลูกข้าว ทำการเกษตรเพื่อให้ประชาชนเลี้ยงตัวได้
“ใน4-5 เดือนข้างหน้าอาจเป็นช่วงวิกฤต เพราะปีที่แล้วเราปลูกข้าวได้แค่ 40% เพราะการต่อสู้หนักหน่วงมากและยังหนักหน่วงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ข้าวที่พวกเราปลูกจะพอกินอีกแค่ 4 เดือน เราจึงต้องหาซื้อข้าวจากภายนอก แม้มีงบประมาณแต่ก็หาซื้อยากมาก เราจะเอามาจากเมืองมัณฑะเลย์ รัฐฉาน พะโค ก็เป็นไปได้ยาก เพราะถูกตัดเส้นทาง เหลือเพียงถนนเส้นเล็กๆ เท่านั้น ทางหลักใช้ไม่ได้ เราพยายามใช้ชายแดนส่งข้าวจากไทยด้วย เช่น มอชี ผาซอง แม่แจ๊ะ เราต้องดูแลประชาชนที่ต้องเป็นผู้พลัดถิ่น IDPs เส้นทางหลักใช้ไม่ได้ต้องไปทางเล็ก และทางบนดอย”นายโกบันยา กล่าว
ด้านสำนักข่าวกันตรวดีไทมส์ รายงานข่าวว่า มีการก่อตั้งทีมรักษาความปลอดภัยชายแดนซึ่งนำโดยกองทัพคะเรนนี (Karenni Army-KA) ร่วมกับกองกำลังป้องกันแห่งชาติคะเรนนี (KNDF) ในเมืองชาดอ ทางตอนเหนือของรัฐคะเรนนีติดกับรัฐฉาน โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของเมืองชาดอให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการจัดตั้งทีมรักษาความปลอดภัยชายแดนขึ้นตามความต้องการด้านความปลอดภัย หลังจากปฏิบัติการทางการทหารเสร็จสิ้นเมื่อเดือนที่แล้ว
ทั้งนี้ตัวแทนชุมชนและกองกำลังได้มีการประชุมและพูดคุยเกี่ยวกับการวางแผนอนาคต และตอนนี้ประชาชนรู้สึกว่าไม่มั่นคง ดังนั้นจึงจัดตั้งการรักษาความมั่นคงบริเวณชายแดน
IEC ระบุว่าทีมรักษาความปลอดภัยชายแดนที่จัดตั้งขึ้นในปัจจุบันได้รับการยอมรับในเบื้องต้นว่าเป็นองค์กรที่จะอยู่ภายใต้การบริหารงานของเมืองชาดอ ทั้งนี้กองกำลังคะเรนนี KA และ KNDF ได้จัดการฝึกอบรมเป็นเวลาหนึ่งเดือน และเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา มีการจัดพิธีสำเร็จการศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมหลักสูตรประมาณ 220 คน รวมทั้งผู้หญิงประมาณ 25 คน ซึ่งในจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม 220 คน มีประมาณ 50 คนได้เข้าร่วมกองกำลัง KNDF แล้ว 12 คน โดยได้รับเลือกให้ทำงานกับกรมป่าไม้คะเรนนี และที่เหลือจะทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาความมั่นคงชายแดน
———-