Search

BGF ปะทะเดือด KNU พื้นที่พญาตองซูตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์ รับคณะนายกฯเศรษฐา เผยช่วง 2 สัปดาห์ปะทะกันหนักเหตุ KNU เปิดเกมรุกขับไล่ SAC พ้นแนวชายแดน

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เวลา 12.40 ได้เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลัง KNLA แห่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (Karen National Union-KNU) กับกองกำลังกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยง BGF (Karen Border Guard Force-Karen BGF)ซึ่งขึ้นตรงกับกองทัพพม่าในพื้นที่เมืองพญาตองซู รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านพระเจดีย์สามองค์ หมู่ 9 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยมีเพลิงไหม้ในพื้นที่อูดอก่อง ห่างจากฐานพม่าไปทางตะวันออก 150 เมตร เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นควันไฟพวยพุ่งโดยสังเกตได้จากฝั่งไทย อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานความเสียหาย

ทั้งนี้ในวันที่ 11 พฤษภาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการณ์ที่จะลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยมีแผนที่จะมาตรวจเยี่ยมสถานการณ์การค้าชายแดน ณ ด่านศุลการกรสังขละบุรี ต.หนองลู อ.สังขละบุรี

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่านายกรัฐมนตรีจะยังลงพื้นที่ดังกล่าวอยู่หรือไม่

ด้านนายอนันต์ เรืองเชื้อเหมือน กำนันตำบลบ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบ้านคนไทยในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาได้ยินเสียงการสู้รบบ่อยครั้ง บางครั้งมีเสียงปืนยิงปะทะด้วยอาวุธหลายชนิดนานนับชั่วโมง แต่ยังไม่มีกระสุนปืนข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทย โดยมีหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ชาวบ้านในฝั่งเมียนมาอพยพหนีภัยการสู้รบข้ามพรมแดนไทยเข้ามาในพื้นที่เกือบ 1,000 คน

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ผู้อพยพทยอยเข้ามาในพื้นที่ โดยอาศัยอยู่ตามบ้านญาติพี่น้องคนกะเหรี่ยงในฝั่งไทย ทางฝ่ายความมั่นคงมีการควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ จนกระทั่งตอนนี้สถานการณ์ในฝั่งเมียนมาเริ่มสงบ ผู้อพยพทยอยกลับไปแล้ว 70-80% ที่เหลืออยู่คือผู้สูงอายุ คนป่วย หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก ซึ่งยังไม่แข็งแรงหรือไม่พร้อมเดินทางกลับ

“ชาวบ้านที่อพยพมาส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ อ.เมตตา ที่อยู่ลึกเข้าไปในเมียนมาแถบแม่น้ำตะนาวศรี ซึ่งถูกเครื่องบินกองทัพพม่าเข้าไปทิ้งระเบิด และอีกกลุ่มมาจากหมู่บ้านแนวชายแดน โดยหนีมาอยู่ตามแนวชายแดนหรือข้ามมาอยู่กับญาติในฝั่งไทย ตอนนี้สถานการณ์เริ่มสงบแล้ว ฝ่ายความมั่นคงได้ผลักดันกลับไป 2 ช่องทาง คือ 1.ทางบ้านห้วยโมง-บ้านช้างเผือกของเมียนมา โดยมีกองพล 4 ของ KNU มารับชาวบ้านกลับ 2.เขาป้าน้อย มีกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่า กลุ่มคืนชีวิตใหม่รับชาวบ้านกลับ” นายอนันต์ กล่าว

ด้านนายวุฒิ บุญเลิศ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า ช่วงนี้สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมาแถบ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ไม่มีการสู้รบใกล้ชายแดนไทย เนื่องจาก กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ควบคุมพื้นที่ชายแดนไปถึงแม่น้ำตะนาวศรีได้ทั้งหมด ทำให้ทหารพม่าต้องถอนกำลังออกจากฐานบริเวณใกล้ชายแดนไทย ขณะที่พื้นที่ต่อเนื่องตรงข้ามชายแดนด่านพุน้ำร้อน อ.ด่านมะขามเตี้ย และบ้านบ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ทหารพม่าได้ถอยร่นจากแนวชายแดนไปอยู่ที่ฐานใน อ.เมตตา ของเมียนมา และใช้การโจมตีด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำตะนาวศรีได้รับผลกระทบอย่างมาก ชาวบ้านกังวลความปลอดภัยจึงต้องอพยพหนีภัยไปบริเวณชายแดนไทย บางส่วนได้อพยพข้ามมายังฝั่งไทยเพื่อรอดูสถานการณ์

ด้านนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลจากข่าวกรองยังไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบหรือบาดเจ็บ โดยขณะเกิดเหตุ ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.สังขละบุรี นำกำลังไปเฝ้าติดตามสถานการณ์ พร้อมดูและและอำนวยความปลอดภัยให้กับชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาอย่างใกล้ชิด และหลังจากเหตุการณ์สงบลง ชาวบ้านบางส่วนเดินทางกลับเมืองพญาตองซูไปแล้ว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าและในวันพรุ่งนี้ (11 พ.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะยังคงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์การค้าชายแดน ณ ด่านศุลการกรสังขละบุรี อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตามกำหนดการเดิม

“ขอให้ประชาชนมั่นใจ รัฐบาลและหน่วยความมั่นคงพร้อมดูแลและให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้ นายกฯ ยังคงลงพื้นที่ตามกำหนดการเดิม เพื่อติดตามงานต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่” รองโฆษกฯ กล่าว

———-

On Key

Related Posts

จี้รัฐทำแผนรับมือน้ำท่วมเชียงรายหลังพบเหมืองทองต้นน้ำกก นักวิชาการหวั่นซ้ำรอยปีที่แล้ว แนะรัฐเจรจากับพม่า-กองกำลังชาติพันธุ์-เร่งตรวจสารปนเปื้อนและเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 นายสืบสกุล กิจนุกร อาจาRead More →

หวั่นภาพพจน์การท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตติดลบ หลังพบใช้แรงงานข้ามชาติอื้อแต่คุณภาพชีวิตย่ำแย่-เด็กนักเรียนกว่า 300 คนเสี่ยงหลุดจากระบบหลังสถานศึกษาถูกปิด

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤRead More →