ระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์การเรียนรู้บนดอยแม่สลอง ของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้มีการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์สำหรับนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) โดยมีผู้ที่ได้รับทุน 40 คนจากทั่วทุกภูมิภาคเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนกสศ.และทีมงาน พชภ.ร่วมเป็นวิทยากร
นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ พชภ.ได้กล่าวเริ่มต้นการทำกิจกรรมว่า ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพซึ่งส่งเสริมโอกาสทางศึกษาต่อเต็มศักยภาพให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้ใกล้จบการศึกษา ปวส. หรืออนุปริญญาสายอาชีพให้ได้รับโอกาสทางศึกษาและการพัฒนาต่อเต็มศักยภาพ ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก โดยต้องเป็นเยาวชนที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เป็นโอกาสที่ดีที่ในครั้งนี้มูลนิธิพชภ. ได้จัดกิจกรรมเพื่อเสริมประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาทุนกลุ่มนี้ เป็นกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน ร่วมกิจกรรมกับชุมชนบนดอยสูง ซึ่งสามารถเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยของนักศึกษาได้ในอนาคต
ทั้งนี้บริเวณโดยรอบศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านหลากหลายชาติพันธุ์และมูลนิธิ พชภ.ได้ร่วมกันฟื้นฟูเมื่อกว่า 20 ปีก่อน โดยปัจจุบันป่าผืนนี้ได้กลายเป็นป่าใหญ่และเป็นแหล่งทรัพยากรของชุมชน โดยผู้ร่วมทำกิจกรรรมได้ลงพื้นที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจซึ่งเป็นชุมชนชาวอาข่าและได้เรียนรู้วิถีชีวิตด้านต่างๆ เช่น ภูมิปัญญาช่างตีเงิน เศรษฐกิจการปลูกกาแฟ-ชา และบทบาทของกลุ่มสตรีชาติพันธุ์
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้ฝึกทักษะการฟังตัวเองและฟังผู้อื่น รวมทั้งฟังสังคมและการสื่อสารผ่านมุมมองของตัวเอง
ในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมกิจกรรมสะท้อนความรู้สึกในการลงพื้นที่ครั้งนี้ โดยส่วนใหญ่บอกว่ารู้สึกประทับใจทำให้เข้าใจตัวเองและรู้จักคนอื่นมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ รวมทั้งได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนโดยเฉพาะชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น
นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.กล่าวว่า การให้ทุนการศึกษาเหมือนกับการให้ทุนกับชีวิตซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เป็นการปรับฐานด้านจิตใจผู้ที่ได้รับทุนให้เกิดความพร้อมในการเล่าเรียนหรือพร้อมในประกอบชีวิตต่อไปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นขั้นตอนสำคัญว่าโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ กสศ.มีนโยบายนอกจากดูแลการให้ทุนการศึกษาแล้วยังมีเรื่องของต้นทุนด้านจิตใจซึ่งคงต้องดำเนินการต่อด้วยความละเมียดละไมเหมือนกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ที่ผู้เข้าร่วมได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติผ่านการเรียนรู้ชุมชนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และจะเป็นแกนในการพัฒนาสำหรับนักศึกษารุ่นต่อไป
น.ส.ยุสรอ ดุลย์ธารา เยาวชนจากปัตตานีกล่าวว่า สาเหตุที่เดินทางไกลโดยรถไฟใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมงมาถึงเชียงใหม่และต่อมาที่ดอยแม่สลองเพื่อร่วมกิจกรรมครั้งนี้เพราะต้องการเห็นความแตกต่างของคนบนดอยกับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตนได้ลงพื้นที่เรียนรู้การปลูกกาแฟของชาวอาข่า บ้านป่าคาสุขใจ ทำให้รู้สึกประทับใจตั้งแต่การต้อนรับ มีการใช้น้ำชายและขนมเหมือนแถวบ้านตน ยิ่งได้ฟังประสบการณ์ของพี่ที่ปลูกกาแฟกว่ามาถึงวันนี้ได้ต้องฝ่าฟันความยากลำบาก
“พี่เขาเคยถูกระเบิดจนขาพิการ แต่ต่อสู้กับอุปสรรคจนสร้างธุรกิจของครอบครัวได้ มันสร้างแรงบันดาลใจให้หนูเป็นอย่างดี คนที่นี่เข้าถึงหน่วยงานรัฐยากกว่าแถวบ้านหนูเสียอีก เมื่อได้มาเห็นถึงความลำบากของเขา
ไม่เหมือนกับที่เราเจอ ทำให้หนูนำประสบการณ์แบบนี้ไปใช้ปรับตัว ตอนอยู่แต่ชายแดนใต้เราก็คิดว่าเราลำบากมาก แต่พอมาฟังชาวบ้านที่นี่ เขาก็ลำบากเหมือนกับเรา ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้สู้คนเดียว คนอื่นๆก็ลำบากเหมือนกัน พอเราได้คุยกันเขาซึ่งมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราอาจสื่อสารกันยาก แต่พอพยายามคุย พี่เขาก็คุย สำเนียงเขาน่ารัก หนู่เป็นความประทับใจมาก”
นายกิตติพงษ์ บุบผาวงค์ นักศึกษาปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ขึ้นมาบนดอยมาถึงเชียงราย การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้เปลี่ยนบรรยากาศ ได้เดินทางออกมานอกกรุงเทพ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้ลงพื้นที่เรียนรู้การใช้ชีวิตของชาติพันธุ์ ทำให้รู้จักการรับฟังคนอื่นมากขึ้น เป็นโอกาสที่ได้ฟังเพื่อนๆ
“ตั้งใจว่าจะเรียนต่อให้ถึงปริญญาเอก อยากเป็นอาจารย์ในภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา เพราะชอบสอน ได้ฝึกสอนปวช.และปวส. และได้ทำงานด้วยเพื่อหาประสบการณ์ เมื่อนำไปสอนน้องๆ ก็พบว่านำไปใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์” นายกิตติพงษ์ กล่าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.