สำนักข่าว Myanmar Now และสำนักข่าว Tai TV Online รายงานเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ทหารพม่าได้ตรวจค้นมือถือของประชาชนทั่วไปในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองรองจากเมืองย่างกุ้ง โดยหากพบว่า มีการใช้ VPN (Virtual Private Network) หร่อเครือข่ายส่วนตัวเสมือน ก็จะถูกปรับเงินจำนวน 2 แสนจั้ต หรือราว 3,500 บาท โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพพม่าเริ่มปิดการใช้ VPN ในประเทศ ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่ของพม่าไม่สามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และแอพพลิเคชั่นติดต่อสื่อสารได้
สตรีรายหนึ่งในมัณฑะเลย์เผยว่า ทหารพม่ามักประจำอยู่บนถนน และเข้ามาขอตรวจค้นมือถือของประชาชนที่เดินทางสัญจรในเมือง “คนก่อนหน้าฉันที่ถูกทหารพม่าเรียกตรวจโทรศัพท์มือถือ ถูกทหารเรียกเก็บเงินถึง 200,000 จั้ต โดยทหารอ้างว่า เขามี VPN ในเครื่อง แม้เขาจะพยายามเจรจาต่อรองกับทหารแต่ก็ไม่เป็นผล” โดยเธอบอกว่า เธอนั้นได้ลบ VPN และ Facebook ในโทรศัพท์ของเธอออกไปก่อนหน้านี้ จึงทำให้ไม่ถูกสอบสวนจากทหารพม่า ขณะที่ประชาชนอีกรายหนึ่งเผยว่า การใช้ VPN ในตอนนี้ยากลำบาก ไม่สามารถเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้ หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตดับอยู่บ่อยครั้ง และหากจะใช้สายอินเทอร์เน็ตเชื่อมกับอุปกรณ์ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีไฟฟ้า i
มีรายงานอีกว่า ในเมืองมัณฑะเลย์มีการตั้งจุดตรวจโทรศัพท์ของประชาชนนับ 10 แห่ง และมีประชาชนจำนวนมากถูกทหารและตำรวจเรียกเก็บเงิน เนื่องจากมี VPN อยู่ในเครื่อง ทั้งนี้ กองทัพพม่ากล่าวหาว่า Facebook เป็นสื่อที่ทำให้สถานการณ์ในพม่าวุ่นวาย มีการสร้างข้อมูลเท็จ และเป็นช่องทางที่ใช้ต่อต้านกองทัพพม่า ดังนั้นจึงทำให้กองทัพพยายามหาวิธีไม่ให้ประชาชนในพม่าเข้าถึง Facebook ได้ ขณะที่ Facebook นั้น มีการใช้ในพม่าอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ หลังกองทัพพม่าปิดการเข้าถึง VPN ทำให้จำนวนผู้ติดตามข่าวสารลดน้องลงไปด้วย เช่นมีผู้ติดตามข่าวสารของสำนักข่าว RFA ในเดือนนี้ลดน้อยลงกว่าเมื่อเดือนที่แล้วถึง 1 แสนคนเป็นต้น
ด้านสำนักข่าวอิรวดี Irrawaddy รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวสายทหารว่า กองทัพพม่าภายใต้การนำของพลเอกมินอ่องหล่าย ได้ปลดและโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างน้อย 31 ตำแหน่ง เมื่อเดือนที่แล้ว ตำแหน่งที่ถูกสับเปลี่ยนมีตั้งแต่ยศพันโทถึงพลตรี โดย 25 ตำแหน่งที่ถูกโยกย้ายนั้น ถูกโยกย้ายไปยังแผนกต่างๆภายใต้กระทรวงของรัฐบาลทหารพม่า และบางส่วนเป็นตำแหน่งที่ว่างเว้นหรือเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตในเหตุสงครามกับฝ่ายต่อต้าน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางตำแหน่งถูกปลดออกเพราะไม่มีผลงานเป็นต้น
อดีตร้อยเอก ซิน ยาร์ ซึ่งเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement – CDM) เผยว่า การโยกย้ายนายพลระดับสูง 5 นายออกจากตำแหน่ง และแทนที่ด้วยการแต่งตั้งพลตรีอายุน้อย 3 นายและพลจัตวาอีก 2 นาย ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ผู้นำกองทัพพม่าต้องการเปิดทางให้นายทหารรุ่นใหม่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด นอกจากนี้ อดีตร้อยเอก ซิน ยาร์ ยังเชื่อว่า พลเอกมินอ่องหล่ายกำลังหาคนที่เขาชอบและไว้ใจมาแทนที่ตำแหน่งที่ว่างลง และเป็นไปได้ว่า มินอ่องหลายอาจกำลังกลัวจะเกิดเหตุการณ์ก่อกบฏ จึงป้องกันไม่ให้สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น โดยการแต่งตั้งบุคคลที่เขาไว้ใจเท่านั้น และพบว่า ทหารอายุน้อยบางส่วนที่ถูกแต่งตั้งยังไม่มีประสบการณ์ทางด้านทหาร
ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐประหาร พลเอกมินอ่องหลาย ได้ปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีและตำแหน่งระดับสูงของกองทัพอยู่บ่อยครั้ง ทางด้านอดีตทหารพม่ายังกล่าวว่า การสับเปลี่ยนโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งล่าสุด รวมถึงตำแหน่งผู้อำนวยการหัวหน้ากองบัญชาการกรุงเนปีดอว์ และเลือกเก็บทหารหนุ่มไว้ใกล้ตัวแทน อาจเป็นสัญญาณว่า ทุกอย่างในเนปีดอว์ ฐานที่มั่นสำคัญของกองทัพพม่าไม่ดีนัก
“สิ่งที่เราพูดได้อย่างแน่นอนก็คือเขา (มินอ่องหลาย) กำลังประสบปัญหาในการหาคนที่ไว้ใจได้เพื่อรับใช้ใกล้ชิดกับเขา” อดีตทหารพม่ากล่าว