เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 สำนักข่าว Radio Free Asia (RFA) รายงานว่า ชาวโรฮิงญาหลายสิบคนต้องเสียชีวิตหลังจากถูกกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายโจมตีด้วยอาวุธหนักโดยจรวดที่ทำขึ้นเอง และโดรนติดอาวุธ ในระหว่างที่ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้กำลังรวมตัวกันริมทะเลเพื่อขึ้นเรือจากฝั่งพม่าข้ามทะเลไปยังประเทศบังกลาเทศ เพื่อหนีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน ( Arakan Army :AA)
ฮาซัน ชายชาวโรฮิงญาวัย 25 ปี ซึ่งไม่ได้รับอันตรายจากการโจมตีในครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว RFA ว่าการโจมตีดังกล่าวดำเนินการโดยกองทัพอาระกัน (AA) ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการต่อสู้เพื่อควบคุมเมืองมงดอว์ ในรัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของพม่า ซึ่งความขัดแย้งในพม่ากำลังลุกลามเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2564
“รัฐบาลทหารไม่ได้โจมตีเราด้วยจรวด แต่กระทำโดยกองทัพอาระกัน (AA) เราพยายามหลบหนีไปบังกลาเทศเพื่อความอยู่รอดของเรา” เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า เหยื่อในครั้งนี้คือชาวบ้านในชุมชนของเขา
ก่อนหน้านี้ได้มีชาวโรฮิงญาถูกขับออกจากย่านใจกลางเมืองมงดอว์ ซึ่งหลายคนต้องหลบหนีเพราะการสู้รบในพื้นที่ชนบท อย่างไรก็ตาม หว่าย หว่าย นุ นักเคลื่อนไหวชาวพม่าและนักวิจัยอาวุโสที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าวถึงในสถานการณ์ในเมืองมงดอว์ว่า กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติและเป็นสถานการณ์ที่กำลังหายนะร้ายแรง เนื่องจากพลเรือนชาวโรฮิงญากำลังตกเป็นเป้าหมายสำหรับ ความโหดร้ายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้
ด้านสื่อท้องถิ่น Chindwin รายงานว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ อาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมากยังพบว่าเป็นเด็กรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นเด็กที่เดินทางไปไม่ถึงเรือ ที่จะพาพวกเขาข้ามไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปืนใหญ่ที่ยิงโดยกองทัพอาระกันหรือกองทัพพม่ายังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ได้มุ่งโจมตีชาวโรฮิงญาที่พยายามหนีออกจากเมืองมงดอว์ อย่างไรก็ตาม เรือบางส่วนที่หนีออกจากพม่าได้และอยู่ในน่านน้ำของบังกลาเทศกลับไม่ได้อนุญาตให้ขึ้นฝั่งบังกลาเทศ เรือเหล่านี้ถูกทางการบังกลาเทศบังคับให้ลอยลำอยู่ในทะเล
ทั้งนี้เหตุสังหารครั้งนี้ กองทัพอาระกัน (AA) ได้ออกมาปฏิเสธ โดยกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของกองทัพพม่าและพันธมิตรอย่าง กองกำลัง ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) หรือกองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งอาระกัน และเชื่อว่ากองกำลังของรัฐบาลเผด็จการทหารพยายามใช้ชาวโรฮิงญาเป็นโล่มนุษย์และป้องกันไม่ให้พวกเขาหลบหนี
แถลงการณ์ของกองทัพอาระกันที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมามีใจความว่า รู้สึกเสียใจต่อเหตุณ์การสูญเสียครั้งนี้ และจะสอบสวนข้อเท็จจริง หากทราบผลจะเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้โดยเร็ว โดยไม่เพียงแต่ชาวโรฮิงญาเท่านั้น ชาติพันธุ์อื่นๆอย่างชาวอาระกัน ชาวฮินดูและชาวคามี (Khami) ก็กำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคาม การทรมานและการสังหารจากกองทัพพม่าเป็นประจำ
“กองทัพอาระกันยืนยันว่า กองทัพของพวกเขาได้ฝึกอบรมสมาชิกของกลุ่ม โดยเน้นไปที่วินัยทางทหาร จริยธรรมนักรบ สิทธิมนุษยชน และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาตั้งแต่ต้น และขอประณามความรุนแรงทุกรูปแบบและให้คำมั่นว่าจะป้องกันกิจกรรมก่อการร้ายใดๆในภูมิภาคอาระกัน”แถลงการณ์ระบุ
ขณะที่ผู้สนับสนุนกองทัพพม่าโจมตีเหตุการณ์ครั้งนี้ ว่าเป็นฝีมือของกองทัพอาระกันโดยมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า กองทัพอาระกันไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์ 100 % อย่างที่กล่าวอ้างเกี่ยวกับเหตุสังหารครั้งนี้ โดยกองทัพอาระกันมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการทางทหารต่อกองทัพพม่า ซึ่งนำไปสู่การปะทะและความตึงเครียดในพื้นที่
นักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญาบางคนกล่าวว่า การกระทำของกองทัพอาระกันอาจส่งผลให้พลเรือนชาวโรฮิงญาเสียชีวิตโดยไม่ได้ตั้งใจ และยังต้องตกเป็นเหยื่อติดอยู่ระหว่างความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นบางสำนักระบุว่า กองทัพพม่าได้ส่งปืนใหญ่โจมตีหมู่บ้านที่เป็นชุมชนชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ สิ่งนี้นำไปสู่ความหายนะ ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล การกระทำเช่นนี้ ทำให้เกิดความไม่พอใจและการประณามอย่างกว้างขวางจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาคมระหว่างประเทศ