เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 สำนักข่าว Mizzima รายงานว่า กองทัพอาระกัน (Arakan Army) อ้างว่าได้ปะทะหนักกับทหารพม่าในเมืองมงดอว์ รัฐอาระกัน ทางภาคตะวันตกของประเทศ ระหว่างวันที่ 24- 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ทหารพม่าเสียชีวิตกว่า 100 นาย และกองทัพอาระกันยังสามารถจับกุมทหารพม่าที่ยังมีชีวิตได้อีก 64 คน ในจำนวนนี้มีทหารกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาถูกจับรวมอยู่ด้วย โดยเหตุปะทะกันของทั้งสองกลุ่มยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้กองทัพอาระกันพยายามที่จะยึดเมืองมงดอว์มาตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกันยังเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆอย่างเมืองตั่นด่วย ฐานทัพเรือหม่องฉ่วยเล ใกล้กับหมู่บ้านเจ้าก์ปะซัต ในเมืองเจ่งตะหลี่ รวมไปถึงเมืองกั่ว ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของรัฐอาระกัน โดยกองทัพอาระกันใกล้ที่จะยึดพื้นที่รัฐอาระกันทั้งหมดได้เกือบสำเร็จแล้ว
มีรายงานว่ากองทัพอาระกันสามารถยึดอาวุธ กระสุนปืน ทองคำและเงินได้เป็นจำนวนมากซึ่งกองทัพพม่าได้ตอบโต้ด้วยการส่งกำลังเสริม รวมถึงเรือรบ 8 ลำไปยังพื้นที่ความขัดแย้งเหล่านี้ โดยกองทัพอาระกันรายงานว่า การสู้รบทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากเรือรบเหล่านี้ยิงปืนใหญ่ อย่างไรก็ตามกองทัพพม่ายังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการใดๆ เกี่ยวกับการสู้รบที่ยังคงดำเนินอยู่ในรัฐยะไข่ ท่ามกลางการสู้รบอย่างหนักในเมืองมงดอว์
ทั้งนี้ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากองทัพพม่าได้ใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ และชาวบ้านที่หลบหนีความขัดแย้งกำลังต้องการยาและการรักษาอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเกิดโรคท้องร่วงในหมู่ผู้ลี้ภัยสงคราม ขณะที่สถานการณ์ของประชาชนในเมืองกั่วยังติดอยู่ท่ามกลางสงคราม เนื่องจากถูกกองทัพพม่าปิดเส้นทางไม่ให้หนีออกไปจากพื้นที่
ด้าน International Crisis Group รายงานเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า กองทัพอาระกันได้รุกคืบอย่างรวดเร็วในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วโดยเป้าหมายต่อไป กองทัพอาระกันเตรียมที่จะโจมตีเมืองชิตต่วย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ และยังมีเป้าหมายสำคัญคือเมืองเจ้าก์พยู ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการที่สำคัญของจีน
นาย Thomas Kean ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพม่าและบังกลาเทศของ International Crisis Group กล่าวว่า กองทัพอาระกันจะสามารถใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจในรัฐยะไข่ได้หลังจากรัฐบาลทหารสิ้นสุดลงหรือไม่ ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญ แม้ว่ากองทัพอาระกันจะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่มองเห็นได้กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่จีนได้วางแผนไว้นานแล้วที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก เขตเศรษฐกิจพิเศษ และรถไฟความเร็วสูงในเมืองเจ้าก์พยู
“การเติบโตของกองทัพอาระกันในภาคตะวันตกของพม่าจะเป็นความท้าทายสำหรับจีนอย่างแน่นอน เนื่องมาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของปักกิ่งในภูมิภาคนี้ จีนต้องการให้แน่ใจว่าการลงทุนของจีนจะไม่หยุดชะงักหรือได้รับความเสียหาย” เขากล่าว
————