เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความหน้ากรณีที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)สั่งการให้มีการตรวจเข้มศูนย์การเรียนที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้กับ ศธ. หลังจากมีคลิปเด็กนักเรียนเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าร้องเพลงชาติพม่าชัดเจนกว่าเพลงชาติไทยจนกลายเป็นกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และได้มีการปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะบางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ภายหลังจากมีกระแสข่าวว่า ศธ.จะปิดศูนย์การเรียนอีกหลายแห่งที่ จ.ตาก และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ในวันเดียวกันนี้ ศูนย์การเรียน หลายแห่งบริเวณชายแดน 4 อำเภอ จ.ตาก จำนวนมาก ต่างปิดตัวชั่วคราว เนื่องจากหวั่นเกรงว่าผู้ที่ทำหน้าที่ครูจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นชาวพม่าจะถูกจับและถูกดำเนินคดี ส่งผลให้เด็กนักเรียนจากฝั่งพม่านับพันคนที่เข้ามาเรียนในฝั่งไทยต้องหยุดเรียนทั้งหมด
ขณะที่สำนักข่าว The Reporters ได้จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อการปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ของกลุ่มเด็กลูกแรงงานข้ามชาติ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีวิทยากรได้แก่ นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นายวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
นางปรีดา คงแป้น กสม. กล่าวว่ากรณีสั่งปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ จ.สุราษฎร์ธานี กสม. ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงว่าจะกระทบกับศูนย์การเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเด็กเหล่านี้เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งควรต้องดูแลทั้งด้านความปลอดภัยและการศึกษา เพราะหากปิดศูนย์ฯ เด็กต้องอยู่ในที่พักตามลำพังอาจเสี่ยงกับความปลอดภัย ไทยได้ลงนามอนุสัญญาสิทธิเด็กให้เด็กได้เรียน และข้อกฎหมายของไทยให้เด็กทุกชาติที่มาอยู่ในประเทศได้เรียนคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กสูงสุด
“เราได้ถอนขอสงวนข้อที่ 22 ว่าด้วยอนุสัญญาเรื่องสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ซึ่งการที่ปิดศูนย์การเรียนโดยไม่ได้จัดหาสถานที่รองรับ เด็กยังไม่มีที่เรียนอีกจำนวนมาก กสม.คิดว่าอาจส่งผลกระทบและละเมิดสิทธิเด็ก กสม.ยินดีจะเป็นตัวกลางในการสร้างการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทั้งขึ้นทะเบียน สำรวจจำนวนเด็กนักเรียน โดยศูนย์การเรียนที่ จ.สุราษฎร์ธานี แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของรัฐไทยในการจัดการศึกษาเนื่องจากผู้ปกครองหาครูและรวบรวมเงินบริจาคจ้างครูพม่ากันเอง ดังนั้นหากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะปิดทุกศูนย์การเรียนจะสามารถรองรับเด็กลูกหลานแรงงานเพื่อนบ้านทั้งหมดได้หรือไม่
“ควรจะแก้ปัญหาก่อนปิดศูนย์ ไม่ใช่ปิดศูนย์แล้วตามแก้ปัญหาทีหลัง ประเด็นของ กสม.คือขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ซึ่งเด็กทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยควรมีสิทธิได้เรียน อยากให้คนในสังคมไทยเข้าใจว่าน้องๆ ที่เรียนภาษาพม่าสามารถกลับไปเรียนต่อในประเทศของเขาได้ การร้องเพลงชาติเขานั่นก็เพราะเขายึดโยงกับชาติเขาและจะกลับไปบ้านเขา เรื่องความมั่นคงน่าจะตัดไปได้เนื่องจากเขาแสดงว่าจะกลับไปบ้านเขาอีก เราจะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม กสม.ยินดีจะเป็นตัวกลางให้เกิดการแลกเปลี่ยน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กสม.กำลังตั้งหลักอยู่และจะสื่อสารให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กับ ศธ.ได้หารือกัน เราต้องรักษาสิทธิเด็กก่อนเพราะเขามีสิทธิที่จะเรียน ต้องให้ที่เขาเรียนก่อนจะโยกย้าย” นางปรีดา กล่าว
นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN กล่าวว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอพยพแรงงานจาก 3 ประเทศคือ เวียดนาม กัมพูชา และพม่า อยู่ร่วมกันมากว่า 30 ปี เราได้ประโยชน์จากกลุ่มประชากรข้ามชาติสร้างเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่แรงงานคนไทยไม่ทำ ซึ่งไม่นานมานี้มีการหลั่งไหลของชาวเมียนมาเข้ามาไทยสูงมาก เด็กที่มาใหม่คือเด็กที่เกิดในเมืองไทย มีใบเกิดกลับไปประเทศต้นทางเพื่อให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดู พอเกิดเหตุสงครามเขากลับมา
“เมื่อมีจำนวนมาก สถานศึกษาของไทยไม่สามารถรองรับได้ แรงงานข้ามชาติด้วยกันเองเห็นปัญหาจึงเป็นอาสาสมัครแก้ไข ปัจจัยเร่งอย่างมากที่ทำให้ประชากรข้ามมาคือการเกณฑ์ทหาร (ของพม่า) การที่เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น พ่อแม่มีบัตรถูกต้องตามนโยบายรัฐบาลไทย ไม่ว่าเด็กจะเข้ามาผิดกฎหมายหรือไม่แต่เมื่ออาศัยกับพ่อแม่ย่อมมีสิทธิอยู่ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดและมีสิทธิได้เรียนหนังสือ เจ้าหน้าที่บางคนไม่เข้าใจ กลับไปจับกุมเด็ก อ้างว่าไม่มีบัตร
“เด็กที่เข้ามาช่วงปิดเทอม ผู้ประกอบการบางแห่งไม่ให้เด็กอยู่ การอยู่ในตึกไม่มีความปลอดภัย เขาจึงแสวงหาที่ปลอดภัย และศูนย์การเรียน learning center จึงน่าจะเป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่เมื่อเกิดปัญหาที่ จ.สุราษฎร์ธานี ผมคิดว่าน่าจะเป็นบทเรียนครั้งที่ 2-3 มาตรการของภาครัฐถูกทางหรือยัง เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ตามกลไกคุ้มครองเด็กที่เราให้สัญญากับนานาประเทศหรือเปล่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกระแสดราม่าในโซเชียล เพราะเพจบางกลุ่มไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราต้องตั้งสติ ภาครัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองเด็ก
“ช่วง 7-8 ปีที่แล้วเด็กมีจำนวนเป็นแสน อายุต่ำกว่า 15 ปี มีระบบการศึกษา แต่เกิน 15 ปี ไปไหนไม่ได้ ศูนย์การศึกษา หรือ กศน.เดิม ไม่สามารถรับได้ ผมคิดว่าเด็กโตทาง กศน. ควรเข้ามาช่วยดูแล” ผอ. LPN กล่าว
นายวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา กล่าวถึงกระแสในโซเชียลจากคลิปร้องเพลงชาติพม่าว่าตนมองว่าเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งหากมองในความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง งรัฐมีหน้าที่ดูแล เราพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ความหลากหลายเราจะมองแค่ปรากฏการณ์ TikTok ไม่กี่นาที แต่มาทำลายความหลากหลาย ซึ่งจะรักษาความหลากหลายให้มีความกลมกลืนทางวัฒนธรรมได้อย่างไร
“การปิดศูนย์ฯ ถามว่าใช้กฎหมายอะไรปิด เขาทำอะไรผิด พรบ.การศึกษาในประเทศไทยเปิดกว้างมากแต่ในพื้นที่เกิดอะไรขึ้น นโยบายดีแต่พื้นที่มีปัญหา การปิดศูนย์การเรียนที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีเด็กพันกว่าคน ถามว่ารัฐจะรับไหวหรือ ทางปฏิบัติเองยังไม่เข้าใจตรงกันเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจะจัดการในพื้นที่ได้ ผมเชื่อว่าการศึกษาเป็นการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ มนุษย์ต้องมีการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิต เมื่อเขาได้รับการศึกษาจะรู้ว่าวัฒนธรรมของไทยเป็นอย่างไร ต้องเอาการศึกษาของไทยพัฒนาให้เด็กมีคุณภาพ ควรพูดถึงการศึกษาของไทยในแง่บวกมากกว่าจะมาด้อยค่าแรงงาน” ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มกล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ กรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่าหากปิดศูนย์ตามกระแสอิงจากการร้องเพลงชาติพม่า มุมมองชาตินิยมอาจดูไม่เหมาะสม แต่หากมองในมุม 2 วัฒนธรรม จะเห็นว่าเขาเข้าใจในวัฒนธรรมพม่าและไทยได้ดี ในอนาคตเด็กกลุ่มนี้จะอาศัยตามชายแดน เป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกัน จะเกิดประโยชน์ด้านการค้าขาย ติดต่อ การให้โอกาสเด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาในประเทศไทยจะทำให้เรามียุวทูตอยู่ตามชายแดนเต็มไปหมด
“พม่ากำลังอยู่ในภาวะแบบนั้น เราต้องเสียสละและให้โอกาส ชายแดน 2 พันกว่ากิโลเมตรต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย สามารถให้สิทธิเด็ก ศูนย์การเรียนรู้ที่จัดการศึกษาต้องยืดหยุ่น ใช้แนวความคิดหลักจัดการศึกษาไทย-พม่า 2 วัฒนธรรม อาจต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งจัดระเบียบศูนย์การเรียน มิเช่นนั้นเด็กมีปัญหาขึ้นมาเราก็ต้องตามไปแก้ ส่งผลกระทบต่อไทย พม่า และนานาชาติด้วย
ศ.สมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาคือมีกฎหมายคนละฉบับ เจ้าหน้าที่ดูคนละมาตรา ทำให้เกิดความลักลั่น บังคับใช้คนละจังหวะทำให้เกิดปัญหาตลอด ดังนั้นต้องให้พื้นที่ชายแดนได้มีการพูดคุย แล้วยึดเด็กหนีภาวะสงครามเป็นหลัก ช่วยเหลือเขาก่อนในเบื้องต้น สำหรับประเทศเพื่อนบ้านแล้วคนไทยมีความรู้สึกเหยียดหยามในเชิงประวัติศาสตร์ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นเยอะ
“ผมเคยเดินทางไปพูดคุยกับฝั่งพม่า พวกเขาบอกว่าเรื่องราวในอดีตเป็นเรื่องของการต่อสู้ เป็นประวัติศาสตร์ แต่ปัจจุบันเราต้องอยู่ด้วยกันได้บนประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่เอาประวัติศาสตร์มาเป็นอิทธิพล เราสอนประวัติศาสตร์เชิงชาตินิยมมากไปนิด นี่เป็นมุมมองของผม พอมีเด็กกลุ่มนี่เข้ามาเรียนกับเราผมคิดว่าจะเกิดความรู้สึกที่ถูกต้องมากขึ้น” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว