สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

Search

น้ำโขงเชียงรายทะลักไหลท่วมพื้นที่เกษตร-เส้นทางเดิน สนทช.เตรียมถกพม่า-จีนสร้างระบบเตือนภัยน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 เวลา 16.30 น. ที่สถานีวัดน้ำ อ.เชียงของ จ.เชียงราย แม่น้ำโขง มีระดับความสูง 12.55 เมตร ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาแม่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นประมาณชั่วโมงละ 5 เซนติเมตร สร้างความกังวลให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงเป็นอย่างยิ่ง และต่างพากันเร่งขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

ผู้สื่อข่าวได้ลงสำรวจพื้นที่พบว่า ตลอดริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ อ.เชียงแสน ถึง อ.เชียงของ มีพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำกก มวลน้ำเข้าท่วมหมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน และชุมชนใกล้เคียงเป็นบริเวณกว้าง ในส่วนของอำเภอเชียงของ ปริมาณน้ำเริ่มท่วมสูงถึงบน “ระเบียงโขง” ที่เป็นเส้นทางริมแม่น้ำโขงในตัวเมืองเชียงของที่ประชาชนมาออกกำลังกาย และน้ำโขงได้ท่วมบ้านเรือน ร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ติดแม่น้ำโขงในพื้นที่ ต.ริมโขง ต.เวียง ต.สถาน ต.ศรีดอนชัย โดยในช่วงเย็นที่ผ่านมาทางเทศบาลเวียงเชียงของได้เตือนภัยให้คนยกของขึ้นสู่ที่สูง

ก่อนหน้านี้เมื่อวัน 11 กันยายน สถานการณ์น้ำในประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานการณ์น้ำท่วมอุทกภัยเช่นเดียวกันพบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนชาวลาว ทั้งเป็นคลิปเสียง การประกาศผ่านโซเชียลมีเดีย และข้อความแจ้ง เนื้อหาสำคัญว่าเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีนจะมีการระบายน้ำเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้น้ำโขงเพิ่มระดับได้ถึง 70-80 เซนติเมตร

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สัมภาษณ์ว่าทาง สทนช.ไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากทางการจีนเรื่องการระบายน้ำเพิ่ม และจากการดูข้อมูลความเร็วในการปล่อยน้ำ (ของเขื่อนจิงหง) อยู่ที่ 1,090 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 11 ก.ย. จัดว่าปริมาณไม่สูงมาก ส่วนระดับน้ำโขงที่อยู่สูงเนื่องจากน้ำจาก 3 ประเทศ ไทย ลาว พม่า แต่น้ำที่ลงแม่น้ำโขงในปัจจุบันจะมาจากลาว พม่า และไทย จากพายุยางิที่ส่งผลต่อลาวมาก ส่วนไทยฝนก็ตกหนักเช่นกัน ทำให้น้ำในแม่น้ำอิง แม่น้ำกก มีปริมาณน้ำสูง และจากแม่น้ำสาขาที่อยู่เหนือเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งขณะนี้เขื่อนไซยะบุรีปล่อยน้ำ 2 หมื่นกว่า ลบ.ม./ วินาที ทำให้น้ำจะท่วมในแม่น้ำโขงตอนล่างทั้งไทยและลาว

“น้ำท่วมใหญ่ในเชียงรายเวลานี้ ปริมาณน้ำมาจาก อ.ท่าตอน จ.เชียงใหม่ ที่ไหลบ่ามาท่วมเชียงราย น้ำโขงที่หนุนสูงทำให้น้ำไหลออกช้าเกิดการดันกัน สทนช.จะตั้งศูนย์ส่วนหน้าบริหารจัดการน้ำที่เชียงราย โดยจะประชุมร่วมกับ ปภ.จ.เชียงรายในวันพรุ่งนี้ เพื่อหาแนวทางว่าจะผลักดันน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วได้อย่างไร และจัดการน้ำท่วมขังภายหลังที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาลดระดับว่าจะระบายออกไปอย่างไรจากพื้นที่เพราะถ้าน้ำไม่ออกก็จะเกิดการเน่าเสีย” เลขาสทนช. กล่าว

นายสุรสีห์ กล่าวถึงการสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำสาย (พรมแดนไทย-พม่า) ว่า ได้มีการหารือกับรัฐบาลประเทศพม่า ในเดือนที่ผ่านมาที่ทำระบบเตือนภัยน้ำท่วมร่วมกัน เนื่องจากพม่าอยู่ต้นน้ำ โดยได้หารือกับรัฐบาลพม่าภายใต้กรอบ ความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMC) ที่มีพม่าเป็นสมาชิก และประเทศจีนก็เห็นด้วยที่จะมีการสร้างระบบเตือนภัยพร้อมให้การสนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุนพิเศษ (Special Fund) ในการดำเนินโครงการ แต่อยู่ระหว่างการพูดคุยที่รัฐบาลพม่าจะได้พูดคุยกับพื้นที่ที่จะติดตั้งเครื่องมือเตือนภัย และในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้ตนจะไปจีนจะมีการหารือพูดคุยในเรื่องนี้ด้วย

On Key

Related Posts