สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า กองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army – KIA ) และพันธมิตรคือกองทัพเพื่อประชาชนคะฉิ่น Kachin People’s Defense Forces (KPDFs) สามารถยึดเมือง ‘ชิบเว’ ในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศจากทางการพม่าได้ โดยกองทัพ KIA และพันธมิตรได้โจมตีเมืองชิบเว ตั้งแต่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เมืองชิบเวนั้น เป็นแหล่งผลิตแร่แรร์เอิร์ธแห่งใหญ่ และตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษคะฉิ่นแห่งที่ 1 ภายใต้กองทัพประชาธิปไตยใหม่ – คะฉิ่น (กองทัพประชาธิปไตยใหม่ – คะฉิ่น) โดยมีผู้นำของกลุ่มคือ ซาคุง ทิง ยิง และยังเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (BGF) และเป็นพันธมิตรกับกองทัพพม่า เมือง ชิบเว อยู่ห่างจากเมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 121 กม.
พันเอก ‘นอว์บู’ เจ้าหน้าที่ด้านข้อมูลข่าวสารของกองทัพ KIA เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้เข้าโจมตีเมืองชิบเว เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 29 กันยายน 2567 และในตอนเย็นวันเดียวกัน สามารถยึดเมืองชิบเวได้สำเร็จ โดย สื่อท้องถิ่นของคะฉิ่นรายงานว่า ทางกองทัพพม่าได้โจมตีทางอากาศ ด้วยการทิ้งระเบิดถึง 40 ลูกเพื่อตอบโต้กองทัพ KIA และพันธมิตร ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชุมชนในพื้นที่ และชาวบ้านในเมืองชิบเว ได้อพยพหนีไปอยู่พื้นที่ใกล้เคียงเพื่อความปลอดภัย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ซาคุง ทิง ยิง ได้ประกาศว่า กองทัพ KIA และกองทัพ PDF นั้นเป็นศัตรู และจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด หากทั้ง 2 กลุ่มเข้ามารุกล้ำในเขตพื้นที่ของตน นอกจากเมืองชิบเวแล้ว ยังมีเมืองปังหว่า ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่มีแร่แรร์เอิร์ธอยู่เป็นจำนวนมาก
ด้านพันเอก’นอว์บู’ กล่าวว่า เมืองชิบเว นอกจากเป็นเมืองสำคัญ ไม่เพียงเพราะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งเท่านั้น แต่ยังเป็นฐานทัพที่สำคัญอีกด้วย ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าได้ใช้เมืองชิบเว เป็นฐานเพื่อโจมตีกองทัพ KIA
ทั้งนี้ แร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) หรือแร่หายาก เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฮเทค เช่น หน้าจอ แผงวงจร ลำโพง แบตเตอรี่ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ไฟฟ้า และเครื่องบินรบ จากข้อมูลของเว็บไซต์ Green News เผยว่า เมืองชิบเว ซึ่งเคยมีผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์และน้ำใสสะอาด แต่ทว่าในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา หลังการทำเหมืองแรร์เอิร์ธ ส่งผลให้สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสื่อมโทรม ป่าถูกโค่น และแหล่งน้ำต้องปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งสอดคล้องกับรายงานต่างๆที่ออกมาว่า การขุดแร่หายาก เป็นหนึ่งในประเภทของการทำเหมืองที่มีพิษและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก เนื่องจากสารเคมีอันตรายจำนวนมากเกี่ยวข้องในระหว่างกระบวนการขุดแร่
นอกจากนี้ยังมีรายงานการเข้ามาของแรงงานต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2564 และกองทัพพม่าได้ควบคุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ การขุดเหมืองสามารถดำเนินการได้อย่างเสรีและไร้ระเบียบควบคุม รวมทั้งยังตั้งอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง
ข้อมูลในเว็บไซต์ Green News ระบุ นอกจากนี้ ตามข้อมูลของ United States Geological Survey (USGS)การผลิตแร่แรร์เอิร์ธที่รัฐคะฉิ่น ทำให้ประเทศพม่ากลายเป็นผู้ผลิตแร่แรร์เอิร์ธอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอเมริกา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 กองทัพ KIA เคยสั่งปิดเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ในหมู่บ้านเอ็นบะผ่าและดิงซิงผ่า ในเมืองม่านซี เขตควบคุมของ KIA ซึ่งเหมืองดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณชายแดนจีน และบริษัทของจีนได้รับสัมปทานทำเหมืองนี้ อย่างไรก็ตาม กองทัพ KIA สั่งปิดเหมืองดังกล่าว หลังถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวคะฉิ่นในพื้นที่ เพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายฝ่ายกำลังจับตามองกันต่อไปว่า กองทัพคะฉิ่น KIA จะสั่งปิดเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในเมืองชิบเวหรือไม่ หลังยึดมาได้จากทางการพม่า
นอกจากเมืองชิบเวแล้ว กองทัพ KIA และพันธมิตรยังสามารถยึดเมืองโมหมอก เมืองหลอยแจ่ เมืองสั่มโพบรัม เมืองสะโด่น เมืองอินจ่า อย่าง เมืองสิ่นโบ่ เมืองเมียวหล่า เมืองเมียวติ้ตเป็นต้น โดยนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพคะฉิ่น KIA และพันธมิตรสามารถยึดฐานทัพพม่าได้มากกว่า 220 แห่ง