ภาสกร จำลองราช
แม้วันนี้(7 ตุลาคม 2567 )น้ำในแม่น้ำกกยังคงไหลเชี่ยวและสีขุ่น แต่ปริมาณน้ำได้ลดระดับลงไปมาก ผ่านไปแล้วเกือบ 1 เดือนที่ภัยพิบัติครั้งใหญ่น้ำ-โคลนถล่มชุมชนริมแม่น้ำกกราวกับ “สึนามิ”สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนนับหมื่นหลังโดยเฉพาะในเขต อ.เมือง จ.เชียงรายซึ่งมีประชากรหนาแน่น
สึนามิน้ำ-โคลน ลูกแรกระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน มาแล้วก็ผ่านไป พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและระบบราชการกระหึ่มเมือง เพราะนอกจากไร้ระบบเตือนภัยแล้ว การบริหารจัดการในสถานการณ์ในยามคับขันยังแทบเป็นศูนย์ ประชาชนที่เผชิญน้ำตอนนั้นต่างต้องช่วยเหลือตัวเองเกือบร้อยเปอร์เซ็น จนชวนเหลือเชื่อว่าเมืองเชียงรายเต็มไปด้วยกลไกรัฐสารพัดหน่วยงานจริงหรือไม่
แม้จำเลยสำคัญไปตกอยู่ที่ผู้ว่าราชการในขณะนั้น แต่หัวหน้าส่วนราชการต่างของเชียงรายก็ควรตอบคำถามตัวเองให้ได้ด้วยว่า ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง รวมทั้งนักการเมืองในระดับต่างๆก็เช่นเดียวกัน ควรตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมยามนั้นชาวบ้านถึงรู้สึกเคว้งคว้างเหมือนลอยอยู่กลางสายน้ำเชี่ยวโดยลำพัง
ต่อมารัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และตั้งคณะคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้า ที่มี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธาน เพื่ออุดช่องโหว่ในการบริหารจัดการ และลดความไม่พอใจของชาวเชียงราย ซึ่งทำให้การฟื้นฟูเมืองและบ้านเรือนเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น
แต่ในเรื่องของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกำลังจะกลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม เพราะขณะนี้ผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ไม่เท่ากัน ในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงรายได้ครอบครัวละ 2,500 บาท แต่พื้นที่รอบนอกที่อยู่ในความดูแลของ อบจ.ได้ 3,500 บาท
ขณะที่ความต้องการจำนวนมากของผู้ประสบภัยคือเรื่องเงินทุนในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่หาเช้ากินค่ำและไม่มีหลักประกันใดๆที่จะไปกู้เงินจากสถาบันการเงินได้
นางติ๊บและเพื่อนบ้านยังคงนั่งปรับทุกข์กันด้วยความห่อเหี่ยวใจเพราะบ้านเรือนยังไม่อยู่ในสภาพดีพอที่จะเข้าไปอยู่ได้เหมือนเดิม เพดานหลังคายังเป็นรูโหว่ ภายในบ้านโล่งว่างเพราะข้าวของทั้งหมดหายไปกลับสายน้ำ ที่สำคัญคือเครื่องมือในการประกอบอาชีพ เช่น หม้อ กระทะ ก็ไม่เหลือ
บ้านของนางติ๊บอยู่ในชุมชนฮ่องลี่ ซอย 8 สวนผัก ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำกก โดยชาวบ้านกว่า 37 ครอบครัวในชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย รับจ้างรายวัน ขายข้าวแกง ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ปริมาณน้ำกกที่ท่วมชุมชนสูงระดับหลังคาบ้านทำให้ข้าวของของชาวบ้านเสียหายสิ้น
“ยายมีอาชีพขายกับข้าว ตอนนี้เลยอยากได้หม้อและอุปกรณ์ทำกับข้าว ตั้งแต่น้ำท่วมกว่า 20 วันไม่มีรายได้เลย ที่ผ่านมาได้อาศัยข้าวกล่องที่มีผู้นำมาช่วยเหลือ ตอนนี้พอบ้านยังไม่แล้วเสร็จ ก็ยังไม่ค่อยมีกะจิตกะใจทำอะไรเลย มันรู้สึกห่อเหี่ยวไปหมด”นางติ๊บวัย 70 ปี มีชีวิตที่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำตามประสาคนจน พอมาเจอสถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรง ทำให้สิ้นหวัง
ถัดจากบ้านนางทิพย์มาอีกไม่กี่หลัง นายสุพรรณ อินทราวุฒิ ยังคงสาละวินอยู่กับการเก็บข้าวของ ที่มีอาชีพปลูกผักและเลี้ยงไก่ในชุมชนฮ่องลี่ อุทกภัยครั้งนี้ทำให้เล้าไก่พังเสียหายหมด และไก่หายไปกับน้ำกว่า 120 ตัว
“สิ่งที่ผมอยากได้ในตอนนี้คือเงินสำหรับซื้ออุปกรณ์ทำเล้าไก่และปลูกผักเพื่อให้ชีวิตก้าวเดินต่อไปได้”แม้ความต้องการของนายสุพรรณดูจะไม่มากมายอะไร แต่สำหรับคนเล็กคนน้อยที่ต้องหมดตัวเพราะภัยพิบัติแล้ว ข้าวของเหล่านี้ช่างหาใหม่ได้ยากเสียเหลือเกิน
ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ครั้งนี้ทำให้ประชาชนนับหมื่นครอบครัวต้องมีชีวิตที่ยากลำบากขึ้น คนที่ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่และย่อมยังพอมีช่องทางหาแหล่งทุนมาพลิกฟื้นอาชีพ แต่คนเล็กคนน้อยแทบไม่รู้จะเริ่มต้นกันอย่างไรดี
“ป้าอยากได้เตียงสระผม และอุปกรณ์ในร้านเสริมสวย”นางดวงมณี อินทวงศ์หรือ ป้าน้อง เปิดร้านเสริมสวยอยู่ในชุมชนเทิดพระเกียรติ ซอย 3 อ.เมือง
ร้านเสริมสวยป้าน้องต้องสูญเสียอุปกรณ์ต่างๆภายในร้านให้กับกระแสน้ำไปจนหมดสิ้น เหลือเพียงโต๊ะกระจกและเตียงสระผมที่ใช้การไม่ได้ แม้ป้าน้อยพยายามแก้ไขแล้วก็ตาม
ป้าน้องและชาวบ้านในชุมชนเทิดพระเกียรติส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยเช่นกัน ดังนั้นการสูญเสียอุปกรณ์ทำมาหากินจึงเป็นเรื่องใหญ่ของพวกเขา เพราะนั่นหมายถึงการไม่สามารถประกอบอาชีพหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงครอบครัวได้
ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐ และรัฐมนตรี ยังคงสาละวินอยู่กับการล้างโคลนตามบ้านเรือนและกำลังเอาขอนุมัติคณะรัฐมนตรีให้จ่ายค่าล้างโคลนหลังละ 1 หมื่นบาท เช่นเดียวฟื้นฟูถนนหนทางและพื้นที่สาธารณะกลายเป็นวาระเร่งด่วน พร้อมนับถอยหลังวันเปิดเมือง และเตรียมจัดกิจกรรมครั้งใหญ่สำหรับเรียกนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสอากาศหนาวในช่วงไฮซีซันที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายน เพื่อทำให้เศรษฐกิจของเมืองก้าวเดินต่อไปได้
แต่สำหรับเศรษฐกิจของคนเล็กคนน้อยอย่างยายติ๊บ นายสุพรรณ ป้าน้อง และคนหาเช้ากินค่ำที่ประสบภัยจำนวนมาก กลับดูเหมือนไม่ถูกนับรวมอยู่ในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของเมืองเชียงราย
ชาวบ้านทำได้เพียงนั่งปรับทุกข์กัน เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นชีวิตใหม่กันอย่างไรดี แม้รัฐบาลจะมี ศปช.ส่วนหน้าไว้คอยตอบคำถามสังคมแล้วก็ตาม แต่ต้องทำงานอย่างเข้าถึงและเข้าใจชาวเชียงรายมากกว่านี้ หากกลไกรัฐยังทำงานในกรอบเดิมๆ “ภัยพิบัติ”เมืองเชียงรายคงยังไม่ไปไหน
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.