เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดนไทย-พม่า เปิดเผยว่าในเร็วๆ นี้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(Karen National Union-KNU) จะประกาศโครงสร้างการบริหารการเมืองการปกครองในรัฐกะเหรี่ยงใหม่ในรูปแบบของ “สภากอทูเล” ซึ่งทำงานควบคู่กับรัฐบาลกอทูเล ซึ่งจะล้อไปกับโครงสร้างเดิมของ KNU เป็น KNU Plus
ทั้งนี้โครงสร้างเดิมของ KNU แบ่งการบริหารออกเป็น 12 กระทรวง 7 พื้นที่การปกครอง แต่โครงสร้างใหม่จะดึงภาคส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงเข้ามาร่วม เช่น มอญ พม่า ปะโอ ไทใหญ่ ฯลฯ เพื่อบริหารร่วมกัน นอกจากนี้จะดึงภาคประชาสังคมและกลุ่มผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในพม่าเมื่อปี 2020 ในรัฐกะเหรี่ยงเข้าร่วมด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า สภากอทูเล (KNU Concentrative Council-KCC)ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ และมีรัฐบาลกอทูเลเป็นฝ่ายบริหาร โดยตัวแทนของสภากอทูเลจะมาจากตัวแทนในในพื้นที่ และจะมีการเขียนบทบัญญัติการปกครองขึ้นมาบริหาร คล้ายๆ กับสภาบริหารชั่วคราว IEC ของรัฐคะเรนนี (Karenni state)
“ส่วนกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ในรัฐกะเหรี่ยง ก็จะดึงตัวแทนเข้ามาร่วมในสภากอทูเล มาจากตัวแทนชุมชนในเขตพื้นที่ของกองกำลังนั้นๆ การบริหารงานเป็น ‘KNU Plus’ โดยจะมีการเลือกตั้งเช่นเดียวกับโครงสร้างเดิมของ KNU คือ มีทั้งเลือกตั้งระดับอำเภอ ผู้ว่าจังหวัด สภากอทูเลที่จะเกิดขึ้นจะมีตัวแทนของชุมชนต่างๆในรัฐกะเหรี่ยงเข้าร่วม” แหล่งข่าว กล่าว และว่าส่วนอำนาจของสภากอทูเลนั้น ยังไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนแต่กำลังหารือ แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังคิดคือการถ่ายโอนเรื่องการปกครอง ส่วนอำนาจทางการเมืองยังอยู่ที่ KNU
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ KNU และจัดทำข้อสรุปแล้ว ขณะนี้กำลังเข้าไปรับฟังในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานคงเสร็จสิ้น
“ตอนนี้มี 9 กลุ่มหลัก 8 ชาติพันธุ์ที่กำลังจัดตั้งสภาในลักษณะนี้ และทั้งหมดได้มีการหารือกันเป็นระยะๆ” แหล่งข่าว กล่าว