เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางวันเสาร์ ภุงาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากถูกศาลฎีกาพิพากษาว่ามีความผิดบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยถูกสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ 310,000 บาท รวมทั้งให้รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้าง
นางวันเสาร์ กล่าวว่า หลังจากได้รับการปล่อยตัว ตนได้กลับมาอาศัยอยู่กับของลูกชายที่บ้านท่าเสล่า โดยโดยชุมชนได้จัดพิธีผูกข้อมือรับขวัญเพื่อต้อนรับการกลับบ้าน ขณะที่บ้านหลังเดิมที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าได้มีการรื้อถอนออกหมดแล้ว ส่วนที่ทำกินที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษได้ถูกอุทยานฯ ยึดไว้เช่นเดียวกัน ตอนนี้ครอบครัวของตนจึงไม่มีที่ทำกิน ลูกชายต้องออกไปทำงานรับจ้างเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว
“กลับไปดูบ้านถูกรื้อหมดแล้ว ไร่ถูกยึด เขาเอาป้ายมาปักว่ายึดตามกฎหมาย ไม่ใช่ความยุติธรรม เราสู้มาตลอดเพราะที่ผืนนี้เป็นที่ทำกินดั้งเดิม เราทำกินมาก่อนมีอุทยานแก่งกระจาน เมื่อก่อนหลักเขตอุทยานอยู่ห่างที่ทำกินตั้ง 2 กิโลเมตร แต่วันหนึ่งอุทยานลากเส้นแนวเขตใหม่ เราต้องกลายเป็นผู้บุกรุก ถูกจับกุม” วันเสาร์ กล่าว
นางวันเสาร์ กล่าวอีกว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ทำให้มีการกำหนดแนวเส้นเขตอุทยานแห่งชาติแห่งกระจานขึ้นใหม่ และควรกลับไปยึดแนวเขตเดิมที่สำรวจไว้เมื่อปี 2524 เนื่องจากชาวบ้านมีที่ทำกินหลังแนวเขตเดิม แต่แนวเขตเส้นใหม่ทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านหลายชุมชนในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง ประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านมีความกังวลว่าอาจถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าเหมือนกับตนเอง
ด้านนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กมธ.ที่ดินฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านกะเหรี่ยงหลายชุมชนรอบผืนป่าแก่งกระจาน ว่ากำลังได้รับผลกระทบจากการเตรียมประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ… ซึ่งเป็นร่างกฎหมายใหม่ของกรมอุทยานฯ จึงมีการเชิญหัวหน้ากรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และตัวแทนกรมอุทยานฯ เข้าชี้แจงเมื่อ ก.ค. 67 โดยหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานได้ยืนยันว่าจะเร่งสำรวจการครอบครองที่ดินของชาวบ้านที่ทำกินในเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน ตาม ม.64 พรบ.อุทยานฯ
นายเลาฟั้ง กล่าวต่อว่า ชาวบ้านเสนอว่าต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างตัวแทนชุมชนและตัวแทนอุทยานฯ แก่งกระจาน เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการเดินสำรวจแนวเขตที่ดินร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ปรากฎว่าขณะนี้ในพื้นที่ยังไม่มีการทำกระบวนการสำรวจในพื้นที่ชุมชนที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าแต่อย่างใด ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ ที่ทำกินหรือไร่หมุนเวียนที่สืบทอดตั้งแต่บรรพบุรุษและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน จะไม่ได้รับการรังวัดและจะกลายเป็นที่ดินตกสำรวจ
“ปี 2558 กรมอุทยานมีโครงการ One Map ลากแนวเส้นเขตป่าขึ้นใหม่ โดยไม่ได้กันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกมา ทั้งที่แนวเขตเดิมกับแนวเขตใหม่ห่างกันหลายกิโลเมตร จึงเกิดความไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านรอบผืนป่าแก่งกระจาน ซึ่งตอนนี้ชุมชนทั่วประเทศมีพื้นที่ได้รับผลกระทบเช่นนี้ประมาณ 3 แสนไร่ หากที่ทำกินของชาวบ้านไม่ถูกสำรวจให้แยกออกมา ก็อาจถูกยึดไปอย่างถาวร บางชุมชนหายไปครึ่งหมู่บ้านเลย” นายเลาฟั้ง กล่าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.