เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ได้มีการประชุมคณะทำงานสัมภาษณ์ สังเกตพฤติการณ์ และทดสอบภาษาไทยของผู้ยื่นคำขอถือสัญชาติไทยและคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย โดยมีนายลิขิต มีเสรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย (แทนหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย) เป็นประธาน นายชำนาญ สรรพลิขิต จ่าจังหวัดเชียงราย เป็นเลขา มีคณะกรรมการอาทิ อัยการจังหวัดเชียงราย ตำรวจภูธรเมืองจังหวัดเชียงราย ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย นายอำเภอ 8 แห่ง โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง”กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)และอดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงราย ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วม

ทั้งนี้ประชาชนที่มาสัมภาษณ์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งสูงอายุโดยบางชาติพันธุ์ได้แต่งกายชุดประจำเผ่า เช่น อาข่า สร้างความสนใจให้กับข้าราชการในศาลากลาง ขณะที่คณะกรรมการฯ ได้พิจารณากรณีขอแปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พศ.2551 กรณีผู้ของแปลงสัญชาติเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ หรือผู้เฒ่าไร้สัญชาติ จำนวน 234 คำร้อง

ประธานในที่ประชุม กล่าวว่าทุกคำร้องในวันนี้ได้มีการตรวจสอบแล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน สำหรับคุณสมบัติเรื่องการประกอบอาชีพ พิจารณาอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ โดยมีการรับรองโดยนายอำเภอ และให้ยกเว้นเรื่องการเสียภาษีและเกณฑ์รายได้ ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้รับคำร้องจำนวน 1,566 คำร้อง นำเข้าสู่การพิจารณาวันนี้จำนวน 243 คำร้อง ซึ่งจะถือว่าไม่มีคำร้องขอแปลงสัญชาติสำหรับผู้เฒ่าในจ.เชียงรายแล้ว วันนี้จะทำครบ 100 %

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมพิจารณาครั้งนี้ มีผู้เฒ่าจำนวน 2 รายที่ต้องให้สัมภาษณ์แก่คณะกรรมการทางวิดีโอ เนื่องจากป่วยเป็นเส้นเลือดสมองอุดตัน อายุ 77 ปี และอีกรายอายุ 86 ปี เป็นไส้เลื่อน ไม่สามารถเดินทางมาด้วยตนเองได้จึงบันทึกเทปวิดีโอมาฉายในห้องประชุม จากนั้นคณะกรรมการฯ ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าทีละราย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้เฒ่าต่างมีอาการตื่นเต้นและดีใจที่ได้มาสอบสัมภาษณ์ในระดับจังหวัด แม้บางรายต้องนั่งรถเข็นแต่ก็มีความตั้งใจในการเข้าสอบสัมภาษณ์ในครั้งนี้ หลายคนมีลูกหลานมาให้กำลังใจและลุ้นผลการสอบด้วยความกระตือรือร้น เมื่อสอบแล้วเสร็จต่างเดินออกจากห้องประชุมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

นายแสง และนางคำ แสงเพ็ชร สามี-ภรรยาวัย 73 ปี ชาวบ้าน ต.โป่งน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่า หนีภัยสังครามมาจากพื้นที่สิบสองปันนา ตอนใต้ของจีนตั้งแต่อายุ 25 ปีและมาปักหลักทำการเกษตรจนมีลูก 2 คน และทั้งคู่ได้สัญชาติไทยตั้งนานแล้ว ขณะที่พวกตนพยายามยื่นคำร้องขอทำบัตรประชาชนมาร่วม 20 ปี แต่ก็ยังไม่ได้ ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทางจังหวัดเรียกมาสัมภาษณ์

“พวกเราอยู่ที่นี่มาร่วม 50 ปีแล้ว ไม่เคยคิดที่จะกลับไปสิบสองปันนา เพราะกลับไปก็ไม่รู้จักใครแล้ว เราอยากได้บัตรประชาชนเผื่อจะมีโอกาสได้ใช้สิทธิเลือกตั้งกับเขาบ้าง อยากได้เบี้ยผู้สูงอายุเหมือเพื่อนๆรุ่นๆเดียวกันบ้าง เดือนละ 700 บาทก็มีค่ากับเรามาก”สามี-ภรรยาคู่นี้ กล่าว

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่าชื่นชมจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างยิ่งที่ดำเนินการพิจารณาคำร้องฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีสถิติการส่งคำร้องฯ ไปยังกรมการปกครองมากที่สุด เนื่องจากความร่วมมือที่ดีระหว่างสำนักทะเบียนและภาคประชาสังคม ทั้งนี้โครงการขับเคลื่อนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่องกว่าสิบปี และเห็นความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามยังมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติในไทยกว่าแสนคนทั่วประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหา  

นางเตือนใจ กล่าวอีกว่าสำหรับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ได้อนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาสถานะบุคคลให้ผู้ที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลานานและแก้ปัญหาสัญชาติให้กลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทยของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งบุคคลเหล่านี้กรมการปกครองได้สำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้ว คือ กลุ่มที่เข้ามาก่อน พ.ศ. 2542 ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรกลุ่มเลข 6) กลุ่มที่ถูกสำรวจตามยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาสถานะบุคคล พ.ศ. 2548 (สำรวจพ.ศ. 2548 ถึง 2554) ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0 กลุ่ม 89) และกลุ่มที่อยู่มานานแต่ตกหล่นจากการสำรวจทั้ง 2 ครั้งนี้ ถือบัตรประจำตัวเลข 0 กลุ่มทั่วไป รวมทั้งหมด 483,626 คน โดยมติครม. เห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์คุณสมบัติและขั้นตอนการดำเนินงานเสนอโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งได้พิจารณาอย่างรอบคอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ตนเห็นด้วยกับมติครม. นี้ เพราะจะช่วยให้ผู้ที่อพยพเข้ามามีภูมิลำเนาเดิมในไทยนานเกิน 15 ปี บางกลุ่มอยู่นาน 30 – 60 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทย ได้ทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้เฒ่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย แต่ยังมีสถานะเพียงสิทธิอาศัยชั่วคราว มติครม. 29 ตุลาคม 2567 จะช่วยให้ได้สิทธิขอสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ได้ใบสำคัญถิ่นที่อยู่) และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทยจะได้สิทธิ์ในการยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย”นางเตือนใจ กล่าว

อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงรายกล่าวว่า มติครม. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมาเห็นชอบให้ลดหลักเกณฑ์คุณสมบัติและขั้นตอนในการดำเนินการ ของทั้ง 2 กลุ่ม ดังนี้  1.ให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองคุณสมบัติความเป็นพลเมืองดีด้วยตนเอง ไม่ต้องใช้พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ และไม่ต้องถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ความมั่นคงของรัฐ และยาเสพติด 2. ให้นายอำเภอ เป็นผู้ใช้อำนาจพิจารณาอนุมัติ แทน การใช้ดุลยพินิจโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (กรณีมีภูมิลำเนาในจังหวัดต่างๆ) และผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน (สน.มน. กรมการปกครอง กรณีมีภูมิลำเนาเดิมในกทม.) 3. ลดระยะเวลาดำเนินงานจาก 270 วันเหลือ 5 วัน

“การปรับทั้ง 3 เกณฑ์นี้ เป็นการปฏิรูประบบการดำเนินการพัฒนาสถานะ และการพิจารณารับรองสัญชาติ ครั้งสำคัญ เป็นการยกเลิกขั้นตอนคณะทำงาน คณะกรรมการระดับอำเภอ จังหวัด กรมการปกครอง และระดับกระทรวง ลดภาระของหน่วยงานกระทรวงต่างๆ ในการพิจารณากลั่นกรองการอนุมัติ และลดเวลาในการดำเนินงานของประชาชนผู้ยื่นคำร้องที่รอคอยด้วยใจจดจ่อ แต่การได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มิใช่สิทธิรับรองสัญชาติไทย ซึ่งต้องรออีก 5 ปี จึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติตามมาตรา 10 หรือ 11 แห่งพรบ.สัญชาติ ซึ่งกระบวนการแปลงสัญชาติเป็นไทย มีขั้นตอนมากถึง 14 ขั้นตอน ผู้มีอำนาจพิจารณาใช้ดุลยพินิจ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้แปลงสัญชาติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นให้ปฏิญาณตนเป็นพลเมืองดี” นางเตือนใจกล่าว

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพชภ. กล่าวอีกว่าตนเห็นว่ากลุ่มผู้เฒ่ามีภูมิลำเนามา 15- 60 ปี เป็นกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มพิเศษ Irregular person ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ควรร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกรยกร่างกฎหมายพิเศษเพื่อแปลงสัญชาติให้ผู้เฒ่าอีกราว 100,000 คน

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.