องค์กรด้านสันติภาพเผยกลุ่มอาชญากรข้ามชาติซึ่งใช้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งกบดานและก่อเหตุเริ่มติดตั้งเครื่องรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink หลังถูกรัฐบาลหลายประเทศยกระดับการจับกุมและปราบปราม รวมถึงกรณีทางการไทยตัดสายเคเบิลส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตข้ามแดนไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประเทศอาเซียนจึงต้องร่วมมือกันปราบปรามธุรกิจสีเทาอย่างจริงจัง เพราะส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก
สถาบันเพื่อสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (USIP) เผยผลสำรวจสถานการณ์เครือข่ายอาชญากรรมทางไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2024 บ่งชี้ว่ามาตรการกวาดล้างกลุ่มก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวพันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ส่งผลให้กลุ่มอาชญากรโยกย้ายที่ตั้งสำนักงานและเปลี่ยนวิธีการทำงานบางส่วนซึ่งอาจทำให้การจับกุมและปราบปรามยากขึ้นกว่าเดิม
รายงานของ USIP ระบุถึงกรณีรัฐบาลลาวยกกำลังไปกวาดล้างกลุ่มทุนจีนที่ก่อเหตุผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ติดกับชายแดนไทยและเมียนมา ทั้งยังเป็นแหล่งซ่องสุมของธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทพนันออนไลน์ ผู้ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ รวมถึงบริษัทที่หลอกให้คนทำงานเป็นสแกมเมอร์หลอกเงินเหยื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ อีกต่อหนึ่ง โดยปฏิบัติการเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมจนถึงสิงหาคม 2024 กลุ่มอาชญากรข้ามชาติจำนวนมากจึงโยกย้ายจากลาวไปยังเมืองอื่นในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐฉานของเมียนมา รวมถึงพื้นที่อื่นในกัมพูชา
เจสัน ทาวเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหัวหน้าคณะจัดทำรายงานของ USIP ตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติของรัฐบาลลาวอาจเป็นเพียงปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ที่มีขึ้นเพื่อไม่ให้รัฐบาลถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อการก่อเหตุผิดกฎหมายในลาว เพราะกลุ่มทุนคิงโรมันส์ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าจากเจ้าหน้าที่ว่าจะมีปฏิบัติการจับกุมผู้กระทำผิด ทำให้ผู้ต้องสงสัยจำนวนมากมีเวลามากพอจะหลบหนีออกจากพื้นที่ก่อนการล้อมปราบ จึงต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐบาลลาวจะปราบปรามแค่ครั้งเดียวจบหรือดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการระบุเพิ่มเติมว่าการจับกุมอาจเลือกเฉพาะกลุ่มก่อเหตุรายย่อยที่ไม่ส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มทุนใหญ่ในพื้นที่เท่านั้น
ส่วนกรณีของกัมพูชา พบเบาะแสบ่งชี้ว่ากลุ่มทุนจีนผิดกฎหมายใช้พื้นที่ในเมืองเศรษฐกิจของกัมพูชาในการก่อเหตุอาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่รัฐบาลกัมพูชาไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่หรือองค์กรอิสระต่างชาติเข้าไปสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถูกตั้งข้อสงสัย ทำให้ไม่อาจรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับคดีเพิ่มเติมได้ และที่ผ่านมาก็มีกรณีที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงสัญชาติและเกี่ยวพันการฟอกเงินให้กับเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายมาก่อนเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงหน่วยงานรัฐบาลไทยซึ่งปฏิบัติการทำลายสายเคเบิลเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังพบสายเคเบิลถูกติดตั้งในไทยและถูกลากข้ามไปยังฝั่งเมืองเมียวดีในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งซ่องสุมอาชญากรผิดกฎหมายอื่นๆ ไม่ใช่แค่อาชญากรรมทางไซเบอร์ และการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตกระทบต่อการทำงานของกลุ่มอาชญากรอย่างมาก
แต่ล่าสุดมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติในเมียนมาแก้ปัญหาด้วยการลอบขนส่งเครื่องรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตดาวเทียมไปจากฝั่งไทยเพื่อจะลักลอบใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ของมหาเศรษฐีอเมริกันอย่างอีลอน มัสก์ ซึ่งตั้งเป้าจะทำให้เครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลกในอนาคตอันใกล้ ผู้เกี่ยวข้องกับการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติจึงจำเป็นจะต้องยกระดับแนวทางการป้องกันการก่อเหตุด้วยเช่นกัน
ส่วนเมียนมาซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากรข้ามชาติจำนวนมากในขณะนี้ก็ยังเผชิญกับความไม่สงบและการสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้บางส่วนของรัฐกะเหรี่ยงและรัฐฉานกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากรซึ่งรัฐไม่อาจเข้าไปควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะหลายพื้นที่อยู่ในความควบคุมของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ และคนในรัฐบาลทหารพม่าจำนวนหนึ่งก็ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวโยงและรับผลประโยชน์จากกลุ่มทุนจีนสีเทาเช่นกัน ทำให้ความคืบหน้าในการปราบปรามหรือจับกุมผู้ก่อเหตุในเมียนมาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
อ้างอิง:
https://www.usip.org/publications/2024/10/latest-southeast-asias-transnational-cybercrime-crisis
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.