เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เปิดเผยว่า งาน 35 ปี แก่งเสือเต้น ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายนนี้ ณ โรงเรียนบ้านดอนชัย (ประชาอุทิศ) บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ เป็นการจัดงานใหญ่ทุกๆ 5 ปี เพื่อรำลึกถึงป่า โดยเฉพาะใน ต.สะเอียบที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลอนุรักษ์ป่าสักทอง

“เราร่วมต่อสู้กันมาปีนี้เป็นปีที่ 35 ซึ่งทุก 5 ปีเราก็จะจัดงานใหญ่ขึ้น 1 ครั้ง ประจวบกับเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม จ.แพร่ และหลายๆจังหวัด มีประเด็นรัฐมนตรีกับใครต่อใครเอามาพูดรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่โครงการ 35 ปี ผมวางแนวทางที่จะทำโครงการก่อนล่วงหน้านานแล้ว เจตนาของเราก็คือทุก 5 ปี เราจะจัดงานใหญ่เพื่อรำลึกถึงป่าและบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไป แต่มันมาตรงประเด็นว่าน้ำท่วมปีนี้แล้วมีคนเอามาพูด เราก็เลยหาทางออกให้เกี่ยวกับสะเอียบโมเดล โดยมี 14 ทางออก 19 แนวทางให้กับรัฐบาลแล้ว แต่คนพวกนี้ไม่ยอมฟัง คิดว่าแก้ไขไม่ได้ ผลก็คือทุกภาคส่วนตอบรับสะเอียบโมเดล” นายณัฐปคัลภ์ กล่าว

ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน กล่าวถึงสะเอียบโมเดลว่า ไม่ได้แก้ปัญหาแค่เรื่องน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมเศรษฐกิจ ศาสนา วัฒนธรรม และการอนุรักษ์ป่าด้วย โดยจะพาสื่อมวลชนขึ้นไปที่จุดชมวิวผาอิงหมอกดูยอดป่าสักทองว่าเป็นป่าผืนใหญ่จริงหรือไม่ และวันที่ 23 พฤศจิกายน จะพาไปบวชป่าโดยใช้รถยนต์เข้าพื้นที่ ซึ่งการพาไปดูยอดเขาป่าสักคือเหตุผลที่เราอยากจะถ่ายทอดให้ประชาชนทั่วประเทศได้รู้ว่าเรายังมีป่าสักทองเหลืออยู่ ซึ่งชาวสะเอียบรักษามาอย่างยาวนาน

“ที่เราคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็เพราะไม่ต้องการให้ป่าสัก 6 หมื่นกว่าไร่สูญสิ้นไป ชุมชนของเราอยู่ดีมีสุข ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจพร้อมทุกอย่าง การสร้างเขื่อนไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะลุ่มน้ำยมมีลำน้ำทั้งหมด 77 สาขา แต่พื้นที่ตอนบนของการสร้างเขื่อนมีแค่ 10 สาขา จะป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร สร้างไปเราก็สูญเสียป่าแล้วก็ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ จะสร้างไปทำไม เอาเหตุผลของสะเอียบโมเดลในกาบริหารจัดการน้ำในชุมชนก็จะเกิดผลดี ไม่ใช่เกิดปัญหาน้ำท่วมแล้วมาบอกว่าจะเอาเขื่อนแก่งเสือเต้น” นายก อบต.สะเอียบ กล่าว

นายณัฐปคัลภ์ กล่าวอีกว่าสุราชุมชนหรือที่รู้จักกันว่าเหล้าสะเอียบ เป็นเอกลักษณ์ของ ต.สะเอียบ สร้างรายได้ให้กับ จ.แพร่ โดยตรง เพียงตำบลเดียวเสียภาษีให้กับกรมสรรพสามิต มากถึงปีละ 400-500 ล้านบาท ถ้าจะให้เราไปอยู่ที่อื่นต้องไปสร้างวิสาหกิจชุมชนอีก ซึ่งระบบน้ำที่เราเอามาทำเหล้าสะเอียบเป็นน้ำภูเขาไฟที่ระเบิดแล้ว เอามาทำเหล้าได้มีคุณภาพที่สามารถส่งออกซึ่งที่อื่นไม่เหมือนเหล้าสะเอียบ อันนี้กล้าการันตีได้ รัฐก็จะสูญเสียรายได้ไปปีละ 400-500 ล้านบาท นี่คือด้านเศรษฐกิจ ใน ต.สะเอียบ

“เรายังมีอีกหลายโมเดล เช่นการเลี้ยงหมูด้วยน้ำโจ้หรือส่าเหล้าที่เราทำ ก็เกิดรายได้เป็นผลิตภัณฑ์หมูน้ำโจ้ บอกเลยคือนายก อบต.สะเอียบ ค้านเต็มที่ เราเป็นผู้นำชุมชน เรามีสิ่งดีๆแต่จะถูกทำลายเราก็ไม่ยอม ใช้ตำแหน่งประธานคณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อน ไม่ใช่ตำแหน่งนายก อบต.สะเอียบ ตรงนี้แจ้งให้ทราบ” นายณัฐปคัลภ์ กล่าว

ทั้งนี้กำหนดการจัดงาน “ 35 ปีแก่งเสือเต้น” ในวันที่ 22 พฤศจิกายน จะพาคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ,สมาชิกวุฒิสภา และสื่อมวลชน ไปยังจุดชมวิวผาอิงหมอก แล้วพาไปชมวิสาหกิจชุมชนสุราสักทอง สุราเครือทอง ผลิตภัณฑ์หมูน้ำโจ้ ก่อนจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางสะเอียบโมเดล

จากนั้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน จะมีบรรยายผลกระทบจากการสร้างเขื่อน พิธีบวชป่าสักทองแก่งเสือเต้น โดยช่วงเย็นจะมีการแสดงวัฒนธรรม 4 ภาค ,ถวายผ้าป่าคัดค้านเขื่อน ,รำวงย้อนยุค ฯลฯ และช่วงเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายนจะมีเวทีเสวนา “35 ปี แก่งเสือเต้นมองไปข้างหน้า การจัดการน้ำในอนาคต”

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.