รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษาและอาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวชายขอบ”กรณีที่กองทัพไทยกำลังเผชิญหน้ากับกองกำลังสหรัฐว้า UWSA (United Wa State Army) หรือว้าแดงบริเวณพื้นที่ชายแดนภาคเหนือว่า รัฐฉานที่ติดภาคเหนือของไทย แนวเทือกเขาแดนลาว ถนนธงชัย ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นมีกองกำลังของขุนส่ามาตั้งฐานคร่อมแนวตะเข็บชายแดน เมื่อกองทัพเมิงไตของขุนส่าล่มสลาย มีภาวะสุญญากาศแห่งอำนาจ และมีกองกำลัง SSA ของเจ้ายอดศึกเข้าไปคุมหลายจุดและมีกองกำลังของว้าแดงเข้ามาควบคุมบางจุดเช่นกัน ซึ่งบางฐานมีลักษณะที่คร่อมตะเข็บชายแดน หากเอาสนธิสัญญาสยามกับพม่าของอังกฤษที่ยึดการปักปันโซนนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า การตั้งฐานของว้าแดงที่ดอยหัวม้า หนองหลวง อ.ปายนั้น ลึกเข้ามาในแผ่นดินไทย โดยกองทัพภาค 3 เจรจาและประท้วงผู้แทนของว้าเป็นระยะๆตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ว้าก็ไม่ถอน ครั้งนี้จึงน่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทางการไทยขีดเส้นตายให้กับว่าและเตรียมปฏิบัติการทางทหารเพื่อชิงพื้นที่คืน
ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมถึงที่ต้องยื่นคำขาดในช่วงนี้
รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงไทยพยายามหลายครั้งเพื่อให้เกิดสันติภาพ แต่ทางว้ายังยืนกรานและยั่วยุว่าหากเราใช้กำลัง เขาก็จะตอบโต้ ซึ่งในแง่ปกป้องอธิปไตยไม่สามารถยอมรับได้อยู่แล้ พฤติกรรมของทหารว้าดูจะก้าวร้าวมากขึ้นในระยะหลังเพราะอำนาจของทหารพม่าอ่อนแอลงและชายแดนไทยตกอยู่ใต้พลังของตระกูลหรือ war lords ฝั่งว้าซึ่งมีการเพิ่มการผลิตยาเสพติดมากขึ้น เป็นภัยคุกคามต่อไทย การที่อำนาจทหารพม่าอ่อนแอลง และทหารว้าดูเข้มแข็งและแนบแน่นจีน ดังนั้นทางการไทยอาจมองว่าหากเราปล่อยไว้นานๆ อาจลำบาก ในการปกป้องอธิปไตยเป็นการเตือนว้าอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากไทยประสบความสำเร็จใจการชิงฐานคืนก็จะเป็นการสถาปนาอำนาจอย่างมั่นคงขึ้น ตรงชายแดนไทยและในรัฐฉานตอนใต้ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่านอกจากพื้นที่ด้าน อ.ปายแล้ว ยังมีจุดใดบ้างที่ UWSA รุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทย นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา กล่าวว่า มีหลายจุด เท่าที่ทราบ มีที่ อ.ปางมะผ้า อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อ.เวียงแหง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยที่ อ.ปาย มีฐานว้า พัน 721 ดอยหัวม้า หนองหลวง พัน704 กิ่วช้างกั้บ ดอยไก่ ดอยถ้วย ที่ไม่ชัดเจนว่าล้ำแดนหรือไม่ แต่ที่หนองหลวงชัดเจนว่าล้ำแดน
ผศ.ดุลยภาคกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้แสดงอิทธิพลของว้าที่ลงมาในรัฐฉานจนติดชายแดนไทย และกินพื้นที่เข้ามาในเขตไทยเป็นบางฐาน อำนาจของว้าแดงที่เข้ามาในรัฐฉานใต้มากขึ้นทุกปี และเข้มข้นขึ้น บางจุดเห็นทหารถอนออกไป แต่ก็ส่งกำลังพลเข้ามาเพิ่มอีก ซึ่งแบบนี้เป็นลักษณะของการจัดตั้งรัฐว้า โดยปัจจุบันมีแค่ว้าในภาคเหนือรัฐฉานที่ติดจีนซึ่งพื้นที่นั้นได้รับรองตามรัฐธรรมนูญของพม่า 2008 แต่ส่วนว้าใต้ที่ติดชายแดนไทยไม่ได้ถูกรับรอง แต่ว้าแดงพยายามสร้างความแข็งแรงมากขึ้น โดยทำให้ชายแดนไทยเป็นพื้นที่สำคัญ เพราะหนึ่งในองค์ประกอบของการสร้างรัฐคือมีเขตแดน แต่การล้ำเข้ามาในดินแดนไทย และหลายฐานของว้ามีการผลิตยาเสพติด รายได้จากการค้ายาเสพติดก็มีส่วนเข้าไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานพัฒนารัฐว้าให้เติบโต หากไทยไม่ทำอะไรตอนนี้ก็อาจเสียเปรียบได้ การที่ทวงคืนอธิปไตยและจัดระเบียบชายแดนทางรัฐฉานน่าจะเป็นผลดีในทางยุทธศาสตร์
ผู้สื่อข่าวถามว่า การวางดุลอำนาจของไทยต่อกองกำลังต่างๆ ควรดำเนินการอย่างไรเพื่อประโยชน์ต่อรัฐไทย
รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า ควรใช้กลยุทธ์ถ่วงดุลอำนาจ เราไม่ได้ประกาศว่าเป็นศัตรูกับว้าโดยไม่มีช่องทางเจรจาเลย แต่การคุยกับว้าเดี่ยวๆ อาจไม่ได้ผลจีงต้องให้จีนเข้ามา แต่ก็รู้กันดีว่าจีนสนับสนุนว้า ซึ่งไทยจะโน้มน้าวอย่างไรให้จีนหรือรัฐบาลลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดเข้ามาร่วมบริหารจัดการและบีบว้าให้ลดพฤติกรรมบางอย่างลง
“จะทำอย่างไร การใช้กำลังทางทหารเป็นเรื่องจำเป็นที่หลีกไม่ได้เพราะดินแดนไทยถูกว้าตั้งฐานทัพไปแล้ว จะชิงคืนอย่างไร หากเจรจาไม่สำเร็จก็ต้องถึงเวลาที่จะต้องปะทะ แต่ไทยต้องมีชั้นเชิง หากเราขนทหารราบเข้าไปยึดครอง สมมุติว่าเรายึดฐานมาได้ ว้าก็ต้องตอบโต้ อาจมีการรุกของทหารว้าเข้ามาชายแดนไทยที่จุดอื่นๆ ซึ่งการเฟ้นหาพันธมิตรชาติพันธุ์อื่นๆ เพื่อถ่วงดุลเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องจำกัดขอบเขตให้อยู่ในรัฐฉานใต้ ชายแดนไทยเท่านั้น
“ในการนี้สำหรับไทย สภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS) ของเจ้ายอดศึก เป็นองค์ประกอบสำคัญ หากว้าเปิดศึกแล้วเรามีกองทัพไทใหญ่ช่วยถ่วงดุลและตีสกัดไว้ก็ย่อมเป็นประโยชน์ ที่พูดแบบนี้เพราะว้าเองก็มีพันธมิตรชาติพันธุ์ เช่น กองกำลังเมืองลา กองกำลังปะโอแดง หรืออาจขอกำลังจากกองกำลังรัฐฉานเหนือ SSPP หรือกองกำลังโกกั้ง ประกอบเป็นทัพพันธมิตร หากทหารไทยตั้งรับโดดๆ โดยไม่มีกองทัพพันธมิตรชาติพันธุ์ในสมรภูมิรัฐฉาน เราจะไม่ได้เปรียบอะไร ดังนั้นพันธมิตรที่เราน่าจะดึงมาได้ เช่น ไทใหญ่ ปะโอบางกลุ่มที่ต่อต้านว้า กองกำลังคะเรนนี หากรบกับว้าแล้วสเกลไปไกลกว่าฐานดอยหัวม้า ต้องคิดถึงพันธมิตรชาติพันธุ์ ไทยมีโอกาสดึงมาช่วยกดดันว้าได้”อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
เมื่อถามว่า ท่าทีกับทหารพม่าควรเป็นอย่างไร รศ.ดุลยภาคกล่าวว่าที่ผ่านมามีความพยายามแล้ว ได้คุยแล้วแต่เมื่อทหารพม่ามีอำนาจลดลงทั่วประเทศ ไทยต้องคุยกับว้าเอง ก็ไม่ได้คำตอบที่น่าประทับใจสำหรับไทย จึงเป็นที่มาของการเปิดปฏิบัติการกับว้า
“สำหรับพม่าตามชายแดนก็ยังมีอยู่ มีกองกำลังชายแดน (Border Guard Force-BGF) เช่น ของมูเซอ ก็มีอยู่ เป็นบทบาทของไทยว่าหากรบกับว้า ชิงดอยหัวม้าคืน ไล่ทหารต่างชาติออกไปจากเขตอธิปไตยของไทยก็ไม่น่าจะเจรจากับทหารพม่า เพราะเป็นการไล่กองกำลังต่างชาติออกไปเฉยๆ แต่หากสเกลไปไกลเช่นว้าส่งกำลังมาบุกมากขึ้น เราจะตีโต้กลับอย่างไร หากร้อนขึ้น การประสานกับทหารพม่าหรือ BGF บางส่วนก็มีความจำเป็น”
เมื่อถามว่า จะทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ไทยต้องเข้าไปพัวพันกับสถานการณ์การสู้รบในพม่าหรือไม่ อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าจึงต้องมีแผนการที่ดี ทำสงครามจำกัดขอบเขต คือไล่ทหารต่างชาติออกไปจากประเทศไทยแค่นั้น ที่สำคัญคือต้องดูปฏิกิริยาของว้า หากเขาตอบโต้กลับ และบานปลายก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองพันธมิตรในรัฐฉานซึ่งมีหลายกลุ่ม หากไม่คุยก็ไม่ได้ ปัญหาหมอกควัน ปัญหาน้ำท่วมจากการทำเหมืองต่างๆ ในฝั่งโน้น ต้องเข้าไปเผชิญหน้าไปพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในทุกวันนี้อธิปไตยในรัฐฉานมีหลายเฉดสี และว้าก็มีแนวคิดการล้ำแดนไทย เราก็ต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์ มีการขีดจำกัดขอบเขตได้ว่าให้อยู่ตรงนี้ ชายแดนรัศมีกี่กิโลเมตร ที่
“ผมมีข้อถกเถียงว่า ในวันนี้อิทธิพลของจีนเข้ามาไกลมากเลย คือมาจ่อชายแดนพม่าไทย กลุ่มว้าเรืองอำนาจมากขึ้น มีแนวคิดสร้างรัฐว้าที่จะเอาเขตแดนชัดเจนซึ่งทับซ้อนเขตแดนของเรา ซึ่งเราเสียดินแดนไม่ได้ ก็ต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้ แต่ที่น่าคิดคือ ณ วันนี้ อิทธิพลของประเทศไทย เราไม่สามารถเป็น key role player ได้ ในการเล่นบทบาทการเมืองสันติภาพในพม่า คือการชี้นำ ควบคุม และสั่งการในเรื่องของกลุ่มอำนาจต่างๆ ตามแนวชายแดนได้แบบที่จีนทำ ถ้า ณ วันนี้เรา exercise power บ้างที่เรามีการควบคุมกลุ่มอิทธิพลตามแนวชายแดน เราก็น่าจะได้ประโยชน์ หรือชะลอปัญหาได้ ซึ่งจีนทำแล้วในชายแดนของเขา หากวันนี้เราไม่ทำอะไรเลย จีนจะเข้ามาทำในชายแดนที่ติดกับไทย ผ่านว้าอีกที วันนี้เมืองเชียงตุง เมืองพยาก ว้าล้อมอยู่และมีอิทธิพลจีน ทั้งๆที่ไทยเคยมีอิทธิพลที่เมืองเชียงตุง วันนี้ไม่มีเหลืออีกแล้ว ชายแดนภาคเหนือของไทยมีพลังของพญามังกรเข้ามาทางว้า ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามซึ่งต้องเฝ้าดูกัน”รศ.ดุลยภาค กล่าว
เมื่อถามว่า ดูแนวโน้มว้าจะขยายอาณาเขตมาถึงไหน นายกสมาคมภูมิศาสตร์ศึกษากล่าวว่า เป้าหมายของเขาคือฝั่งตะวันออกทั้งหมดของแม่น้ำสาละวิน ตั้งแต่พื้นที่รัฐฉานที่ติดชายแดนจีน ลงมาสามเหลี่ยมทองคำ และส่วนที่ติดลาวและไทย แต่เท่านั้นยังไม่พอจะมีการข้ามฟากไปทางตะวันตกของสาละวิน เมืองตั้งยัง เมืองอื่นๆ ที่ใช้ตัวแทน คือกองกำลัง SSPP หรือกองกำลังปะหล่อง เข้าไปสู้รบในบางหัวเมือง ก็เป็นอิทธิพลว้า เขาข้ามแม่น้ำสาละวินไปเรียบร้อยแล้ว
“การสถาปนารัฐว้าในอนาคตจะแบ่งเป็นสองแบบ คือรัฐว้าแท้ๆ คือว้าเหนือ ที่ปางซาง ว้าใต้ที่ติดชายแดนไทย และเขตอิทธิพลของว้า ที่จะทำให้ว้าเหนือว้าใต้ต่อติดกัน และทำให้ว้า project power ข้ามสาละวิน ไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเหมืองแร่หรือยุทธศาสตร์ ดังนั้นว้าจะมาสองส่วน คือเขตแดนของว้าจริงๆ และเขตอิทธิพลของว้าที่ควบคุม ซึ่งมากกว่าตะวันออกของสาละวิน เป็นปริมณฑลทางการปกครองที่ใหญ่ขึ้น ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงเขตแดนของว้าในรัฐธรรมนูญพม่า 2008 ก็ต้องไปว่ากันในสภา ว่ากันผ่านการเลือกตั้งในอนาคต ณ วันนี้ก็ขยายเขตแดนในเชิงปฏิบัติการไปก่อน ซึ่งจะทำให้ว้ามีอำนาจเพิ่มขึ้น”รศ.ดุลยภาค กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่กองทัพไทยพยายามเจรจาอยู่หลายรอบ แต่ทหารว้ากลับไม่ให้น้ำหนักและค่อข้างก้าวร้าว สะท้อนอะไรบ้าง รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า เขามั่นใจในกำลังทหารและแสนยานุภาพพอประมาณ เขามีกองกำลัง 20,000-30,000 นาย มีมวลชนหลายหมื่นตามตะเข็บชายแดน มีอาวุธยุทโธปกรณ์ มีขวัญและกำลังใจจากจีน เป็นสายสัมพันธ์ตั้งแต่ว้าอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่รับจากจีนแดง ความสัมพันธ์จีนแดงกับว้าแดงมีร่องรอยมาจนถึงปัจจุบัน
“ว้าไม่ชอบการเจรจากับใคร ว้าชอบอยู่ของเขาเองโดยการมี autonomy สูง อย่าให้ใครมายุ่งมาก พม่าเองก็ไม่ได้บอกว่าว้าเป็นกบฏ เช่นเดียวกับบางกลุ่มของคะฉิ่นและไทใหญ่ ว้าไม่ได้เป็นกบฏแต่ก็ไม่ต้องการให้ใครมายุ่ง แต่ระยะหลังมีแนวคิดการตั้งรัฐว้า มีเขตแดนที่แน่นอนและล้ำแดนประเทศไทย แต่ว้าก็ไม่สนใจคุยเป็นจริงเป็นจัง เป็นสังคมวิทยาการเมืองของว้าแบบนี้ ในอดีตทหารไทยอาจเจรจากับว้าแต่ไม่ได้แสดงแสนยานุภาพให้ว้าเห็นอย่างเด่นชัด ทำให้ว้าย่ามใจไม่มากก็น้อยว่าทหารไทยไม่น่าจะมีแสนยานุภาพมากมาย เราก็รอมาหลายปี ณ วันนี้สถานการณ์รัฐฉานยุ่งเหยิง ก็น่าจะเป็นเวลาสำคัญที่ไทยเข้าไปควบคุมอำนาจกลุ่มต่างๆ พวกนี้ให้ฟังประเทศไทยมากขึ้น ทำให้เรามีบทบาทการเมืองสันติภาพมากขึ้น การขจัดการยาเสพติด จุดตั้งต้น ณ วันนี้คือผลักดันทหารว้าออกไปจากเขตแดนประเทศไทย”
ผู้สื่อข่าวถามว่าในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก และ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยมีสถานการณ์แล้วครั้งหนึ่ง รศ.ดุลยภาค กล่าวว่าช่วงนั้นว้าผลิตยาเสพติดอย่างหนัก คุณทักษิณมีโจทย์ คือมีทหารพม่า ทหารไทย ทหารไทใหญ่ อยู่ในหน้าข่าว คุณทักษิณบอกว่ากองทัพไทย over-react ตอนนั้นมีข่าวว่าทหารพม่าไปละเมิดเขตแดนไทย ทหารไทยตอบโต้ ที่กูเต็งนาโย่ง เชียงราย และชายแดนจุดอื่นๆ พล.อ.สุรยุทธ์ เอาทหารม้ามาซ้อมรบ กองทัพภาค3 ปะทะกับทหารพม่า คุณทักษิณบอกทัพไทยทำเกินไป แต่ตอนนั้นมีกองกำลังว้าแดงอยู่ในสมการความขัดแย้งด้วย ว้าแดงร่วมมือกับทหารพม่าปะทะชายแดนไทยกับทหารของเจ้ายอดศึก มีหหารพม่าทหารว้าจะมายึดดอยไตแลง
“คุณทักษิณมีระบบคิดจะซับซ้อนกว่านั้น เขาเห็นว่าเป็นมิตรกับทหารพม่าจะได้ประโยชน์ทางการค้า แต่ก็ไม่ชอบว้าเพราะคุณทักษิณทำสงครามกับยาเสพติด ทั้งๆ ที่เวลารบ ทหารพม่ากับว้าเป็นมิตรกัน หลังจากคุณทักษิณก็นั้นห่างไปจากไทย ณ วันนี้ได้กลับเข้ามา คุณทักษิณให้ความสำคัญกับการปราบยาเสพติด ต่อสู้กับว้าแดง ชูธงของกองทัพไทยและบทบาทของคุณทักษิณซึ่งผมคิดว่าน่าจะไม่ปลื้มว้าอยู่แล้ว ก็คงไม่พ้นที่จะต้องปะทะกับว้า ผมคิดว่ามุมคิดของคุณทักษิณมีผลต่อความสัมพันธ์ของไทยกับว้า”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ชายแดนฝังตะวันตกของไทยควรเข้าสร้างความเข้มแข็งอำนาจรัฐไทยด้วยหรือไม่ รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า รัฐคะเรนนีเป็นพื้นที่สำคัญ เพราะเป็นข้อต่อสำคัญเชื่อมรัฐฉานกับรัฐกะเหรี่ยง ขณะนี้เหล่าจีนเทาได้เลื้อยจากฐานที่ติดภาคเหนือของไทยบางส่วนไปโผล่ที่ ชเวก๊กโก่ KK Park และลงใต้มาเรื่อยๆ แต่อิทธิพลของมังกรจีนเทาเลื้อยผ่านรัฐคะเรนนีได้ไม่สุด ตรงนี้เป็นพื้นที่สำคัญที่ไทยจะต้องเข้าไปสถาปนาช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและมีอีกหลายส่วนเช่น โครงการเขื่อนพลังน้ำบนแม่น้ำสาละวิน ที่จีนอยากจะเข้าไปสร้างในรัฐคะเรนนีแต่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ผลกระทบถึงไทยด้วยหรือไม่ รัฐคะเรนนีเป็นพื้นที่ใกล้จากกรุงเนปิดอว์ จึงสำคัญต่อไทย
ส่วนรัฐกะเหรี่ยง ทำอย่างไรที่ไทยจะส่งสินค้าและบริการผ่านถนนเอเชียหมายเลขหนึ่ง ผ่านเทือกเขาดาวนะไปในดินแดนพม่า แต่มีปัญหาอยู่ logistics หากเสร็จ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(Karen National Union-KNU) ก็กังวลกับตรงนี้ว่าพม่าจะมาจัดการอย่างไร เห็นด้วยไทยควรสถาปนาอิทธิพลไทยมากขึ้น แต่มีปัญหาว่าหน่วยงานไหนจะเป็นเจ้าภาพสำคัญให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรม ป้องกันชายแดน และทำให้ไทยมีบทบาทนำยิ่งขึ้น
“เฉพาะภาคชายแดน ควรเป็นความร่วมมือของ 1. กรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งมีกลไกคุยกับพม่า 2. กองกำลังชายแดน คือกองกำลังผาเมือง กองกำลังนเรศวร กองกำลังสุรสีห์ ซึ่งดูแล 3-4 รัฐชาติพันธุ์ตามชายแดนตรงนี้ และ 3 .ศูนย์สั่งการชายแดน ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวและมีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาจัดการปัญหาชายแดน หากศูนย์สั่งการชายแดนมีบทบาทนำแล้วมี 2 หน่วนงานเข้ามา มีภาคประชาสังคม มีบทบาทช่วยเหลือมนุษยธรรม สาธารณสุข และศาสนา แบบนี้จะทำให้อิทธิพลของไทยทรงพลังมากขึ้นในการเข้าไปจัดระเบียบพื้นที่ฝั่งตรงข้าม”รศ.ดุลยภาค กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีจีนเทาที่มาหากินอยู่ตามแหล่งอาชญากรรมชายแดนไทย หากการเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อ จะช่วยสถาปนาความมั่นคงอำนาจรัฐไทยได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า เศรษฐกิจการเมืองในลุ่มน้ำเมยและเทือกเขาตะนาวศรีที่ซับซ้อน มีอธิปไตยหลายเฉดสี warlords หลายกลุ่ม หากไทยไปมีอำนาจนำแต่เจ้าเดียวมันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้เต็มที่ เราต้องรู้จักการถ่วงดุลอำนาจให้มากขึ้น เพื่อจะแก้ปัญหาชายแดนให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด
“ยกตัวอย่าง รัฐกะเหรี่ยง เราร่วมมือกับ KNU แต่มีบางประเด็นที่ไม่ได้รับความร่วมมือกับ KNU จะทำอย่างไร จะไปรบคงไม่เหมาะสม เช่น BGF บางกลุ่ม หรือกะเหรี่ยงพุทธ DKBA ที่แนวทางไม่ตรงกับ KNU เราก็อาจดึงเข้ามาเพื่อถ่วงดุล เท่าที่เห็นก็มีความพยายามแล้วในการไปสานไมตรีกับกลุ่มอื่นมากขึ้น ในแง่การศึกษาหรืออื่นๆ เขาต้องการความช่วยเหลือจากไทย หากเราไปช่วยก็จะมีบารมี charisma หน่วยความมั่นคงไปติดต่อก็ช่วยถ่วงสมดุล การเมืองกะเหรี่ยงต้องดูกลุ่มต่างๆ และดึงมาอย่างเหมาะสม”
ผู้สื่อข่าวถามว่า มิติคหน่วยงานด้านความมั่นคงชายแดนเช่นนั้น ได้เห็นความเคลื่อนไหวในรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า แม้ในวันนี้ยังไม่เห็นชัด แต่คิดว่าในอนาคตน่าจะมีแนวโน้ม เพราะไทยจะทำสงครามยาเสพติด จัดการกับสแกมเมอร์ แต่จัดการในพื้นที่ลึกเข้าไปฝั่งโน้นด้วย เราตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปสกัดปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพไทย ตระหนักรับรู้ชัดเจนขึ้น น่าจะมีแนวโน้มวาง position ของไทยชัดขึ้น
“การตั้งรับในแผ่นดินไทยอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องสถาปนาวงแหวนปริมาณฑลโดยรอบ ให้ไทยส่งออกอิทธิพล วัฒนธรรมและยุทธศาสตร์ไปให้ครบทุกแง่มุม เช่น รัฐฉานติดกับเรามีไทใหญ่ มีว้าแดง หากรัฐบาลส่งออก soft power สินค้าไปไทใหญ่ซึ่งมีความใกล้เคียงทางเชื้อชาติกัน เราก็มีโอกาสปราบปรามยาเสพติด ที่เชียงใหม่ เชียงรายแม่ฮ่องสอน เราตรวจจับอย่างเดียวไม่ได้ผลแล้ว แต่ต้องเข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองของว้า ไทใหญ่และกลุ่มอื่นๆ เราต้องขีดพื้นที่ว่าจากชายแดนไทยจะไปสุดแนวไหน อย่างไร ไม่ใช่เราไปยึดหรือละเมิดอธิไปไตย แต่เป็นการป้องกันส่วนหน้า หรือเสริมความสัมพันธ์ให้ไทยมั่นคง ชายแดนไทยพม่า รัฐฉานตอนใต้ คะเรนนี พาดมาในแม่ฮ่องสอน ตาก เมย เข้าไปทางรัฐกะเหรี่ยง ไปถึงจุดไหน มีวิธีการทางอาณาบริเวณศึกษาที่ระบุ identify เขตอิทธิของไทยที่มั่งคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”รศ.ดุลยภาค กล่าว
—————
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.