
ผู้เสียหายและครอบครัวเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในเมียนมายื่นเรื่องเรียกร้องต่อรัฐบาลของตัวเองให้ช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเครือข่ายอาชญากรรมเชื้อชาติจีนซึ่งก่อเหตุฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามชาติ พร้อมทั้งขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากรัฐบาลไทยแก่ผู้ที่ยังตกค้างอยู่ในเมียนมา ทั้งยังระบุด้วยว่าอย่าปล่อยให้พื้นที่ในอำเภอแม่สอดเป็นทางผ่านขบวนการค้ามนุษย์
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2024 ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐบาลบังกลาเทศหารือกับผู้เสียหายและครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ที่หลอกคนจากประเทศต่างๆ ไปทำงานฉ้อโกงทางโทรคมนาคม หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีแหล่งซ่องสุมอยู่ในเมืองเมียวดีของเมียนมา ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอดและอำเภอพบพระในจังหวัดตากของไทย โดยผู้เสียหายรายหนึ่งซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากไทยและเพิ่งถูกส่งกลับบ้านเกิดในบังกลาเทศได้เข้าร่วมให้ปากคำและเล่าประสบการณ์ที่เผชิญมาของตัวเองอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ครอบครัวเหยื่อชาวบังกลาเทศที่ยังตกค้างอยู่ในการกักกันของแก๊งอาชญากรในเมียนมาได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายนับสิบรายซึ่งเสี่ยงจะเป็นอันตรายถึงชีวิต เพราะอาจถูกกลุ่มก่อเหตุเชื้อสายจีนกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย ทั้งยังได้เขียนจดหมายเปิดผนึกซึ่งระบุถึงรัฐบาลไทยโดยตรงเพื่อขอความช่วยเหลือประสานงานและกดดันให้กลุ่มติดอาวุธในเมียนมาปล่อยตัวผู้ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ออกมาโดยเร็ว
ป้ายแสดงความเห็นของผู้ชุมนุมมีการระบุเป็นภาษาไทยว่า ‘หยุดการค้ามนุษย์ที่แม่สอด’ โดยอ้างอิงปากคำของผู้เสียหายที่ได้รับการช่วยเหลือ บ่งชี้ว่านายหน้าที่หลอกลวงคนมาทำงานในไทยใช้พื้นที่แม่สอดเป็นจุดข้ามแดนไปยังเมียนมา และตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ถูกนำตัวข้ามฝั่งจากอำเภอแม่สอดของไทยไปยังเมียนมาเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตบังกลาเทศในไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้แจ้งเตือนไปยังพลเมืองของตนเอง เมื่อวันที่ 22-24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้เฝ้าระวังกรณีที่นายหน้าและตัวแทนจัดหางานบางรายใช้วิธีหลอกลวงแรงงานไปยังบางประเทศในเอเชียตะวันออก พร้อมระบุว่าแรงงานเหล่านี้มักตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงและการแสวงหาประโยชน์ในประเทศปลายทาง บางรายติดค้างอยู่ในต่างแดนเนื่องจากปัญหาทางการเงินที่เกิดจากการหลอกลวงดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีรายงานการล่วงละเมิดทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการถูกกักขังในฐานะแรงงานบังคับ
เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้เสียหาย แต่ยังทำให้ชื่อเสียงของบังกลาเทศในระดับนานาชาติได้รับความเสียหายอีกด้วย ดังนั้น ขอให้แรงงานตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอการจ้างงาน ค่าแรง ความปลอดภัย และข้อมูลอื่น ๆ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ และขอให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศในเอเชียตะวันออก
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำสำหรับชาวบังกลาเทศเกี่ยวกับการเดินทางไปยังประเทศไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม และกัมพูชา โดยสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำกรุงเทพฯ ประเทศไทย แจ้งเตือนให้ชาวบังกลาเทศ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ทราบเกี่ยวกับแนวโน้มที่น่าวิตกซึ่งแรงงานถูกหลอกลวงไปยัง 5 ประเทศที่ระบุข้างต้น โดยสัญญาว่าจะมีงานที่มีรายได้สูง แต่ที่จริงแล้วเป็นการหลอกลวงจากตัวแทนและนายหน้าซึ่งไร้ความรับผิดชอบ พร้อมย้ำว่าแรงงานหลายคนประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงและตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหางานทำได้ตามกฎหมาย ทั้งยังเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และทาสยุคใหม่
“สถานเอกอัครราชทูตขอย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย และทำงานภายใต้กรอบของกฎหมายทั้งในระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทศ ผู้เดินทางทุกคนควรระมัดระวังและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการทำตามกฎหมายเมื่อพิจารณาหางานทำในต่างประเทศ”
สถานเอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยจึงแนะนำให้ชาวบังกลาเทศใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งและหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของข้อเสนอดังกล่าว ควรตรวจสอบข้อเสนอเกี่ยวกับงานอย่างรอบคอบ และปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการเดินทาง ทั้งยังเตือนไปยังชาวบังกลาเทศบางคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ละเมิดกฎหมายการเข้าเมืองและแรงงานของประเทศเหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดผลทางกฎหมาย เช่น การถูกกักขังและการถูกเนรเทศ โดยการกระทำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ยังทำให้ภาพลักษณ์ของบังกลาเทศเสียหายอีกด้วย
———–