เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) ได้รวมตัวกัน 3-5 พันคนบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิก(พ.ร.ฎ.) โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 พรบ.อุทยานฯและ พ.ร.ฎ. โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการยื่นหนังสือเรียกร้อง 4 ข้อต่อ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ร่วมอยู่ในวงหารือด้วย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวกับผู้ชุมชนว่านายกรัฐมนตรีเองได้ฝากให้ตนมาดูแลเรื่องนี้และมีความเห็นใจและเข้าใจพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี ในการแก้กฎหมายต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนอยู่แล้ว โดยข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อนั้น 1.การยุตินำ พรฎ.ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าจนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย เรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหาในหลักการ 2. ขอให้รัฐบาลจะตั้งกลไก ภาครัฐทำงานร่วมกับภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหา เป็นสิ่งที่เราเคยคุยกับตัวแทนอยู่แล้ว เรายึดหลักการนี้อยู่ 3. รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีจะเร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พรบ.อุทยานแห่งชาติปี 62 โดยการประชุม ครม. 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดคุยได้แจ้งแล้วว่าพี่น้องพวกเราอยากให้มีการแก้ไขกฎหมาย อันนี้ครม.ได้ทราบแล้ว
นายประเสริฐกล่าวว่า 4. ในระหว่างที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้ชะลอการเตรียมประกาศพื้นที่อีก 23 แห่ง ส่วนที่เหลือจะให้ประกาศไม่เป็นไร เรื่องนี้ก็รับทราบในข้อเรียกร้องความต้องการของพี่น้องประชาชน
“เพราะฉะนั้นทั้ง 3-4 เรื่องนี้ในหลักการเบื้องต้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลในเรื่องนี้คิดว่าต้องพูดคุยกันแล้วก็ในเบื้องต้น เพราะว่าหลักการน่าจะพอรับกันได้ รับกันได้เพราะว่าเห็นใจพี่น้องประชาชน สิ่งที่สำคัญคือวันนี้หลังจากคุยกันแล้ว เราอาจจะบันทึกการประชุมไว้ ผมจะนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่าได้มาเจอพี่น้องสมัชชาคนอยู่กับป่า แล้วก็พี่น้องอีกหลายกลุ่ม เพื่อกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาต่อไป”นายประเสริฐกล่าว
น.ส.วิไลลักษณ์ เยอเบาะ กองเลขานุการสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) กล่าวว่า มีการบันทึกการประชุมผลการเจรจาระหว่างผู้เจรจากับทางรัฐบาล แล้วก็มีการลงนามแนบท้ายโดยผู้แทนฝ่ายผู้ชุมนและฝ่ายรัฐบาลซึ่งก็มีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมอุทยาน แม้ไม่ใช่การบันทึกข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการแต่เป็นการบันทึกการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้หนังสือบันทึกการหารือและการแก้ปัญหาของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากกฎหมายป่าการอนุรักษ์ สรุปว่า (พ.ร.ฎ.) 2 ฉบับ เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ และประชาชนโดยตรงจำนวน 462,444 ครัวเรือน หรือประมาณ 1,849,792 คน กฎหมายนี้ถูกผลักดันโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯแต่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชน ประเด็นสำคัญคือ ประชาชนเห็นว่าพระราชกฤษฎีกานี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนท้องถิ่น โดยมองว่ากฎหมายนี้มุ่งจำกัดสิทธิประชาชนมากกว่าการคุ้มครอง การ “อนุญาต” ที่ปรากฏในกฎหมายไม่ใช่การ “ให้สิทธิ” อย่างแท้จริง ข้อเรียกร้องสำคัญของประชาชนคือห้รัฐบาลยุติการนำพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับไปบังคับใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว และให้จัดตั้งกลไกรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละพื้นที่ โดยมีกรอบระยะเวลา 60 วันเพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็น
“นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเสนอการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเสนอร่างต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 90 วัน และในระหว่างนั้นให้ชะลอการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 23 แห่ง เว้นแต่กรณีที่สามารถกำหนดขอบเขตชุมชนและพื้นที่ทำกินได้อย่างเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย คำสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรวงทอง รับทราบปัญหาและรับหลักการของสมาชิกร่วมชุมชนคนอยู่กับป่าและพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมประชุมทั้ง 4 ข้อเพื่อนำกราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรีและจะนำสู่กระบวนการขั้นตอนการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมต่อไป” หนังสือบันทึกการหารือ ระบุ
————-
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.