เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (TMR) ได้จัดงานสัมมนาการบริหารจัดการการย้ายถิ่น: แรงงานข้ามชาติ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และผู้ลี้ภัย ณ โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานรัฐได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, กองบัญชาการกองทัพไทย, สํานักงานตรวจคนเข้าเมือง, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม, และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางการบริหารจัดการผู้โยกย้ายถิ่น โอกาสและข้อท้าทาย มุมมองของภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง”เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568
ผู้แทนของกองทัพไทยในฐานะหน่วยงานดูแลความมั่นคงบริเวณชายแดนระบุว่า การควบคุมดูแลชายแดนฝั่งตะวันตกของไทยที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมานั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยได้ยกตัวอย่างเรื่องท่าข้ามไทย-เมียนมา ที่เป็นกิจการของภาคเอกชนทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมทั้งข้อมูลจำนวนท่าข้ามของแต่ละแหล่งก็มีความคลาดเคลื่อนกัน
“แหล่งข้อมูลที่ทำงานในพื้นที่กล่าวว่ามีมากกว่า 200 ท่าข้าม ในขณะที่กระทรวงมหาดไทยระบุว่ามี 52 ท่าข้าม แต่ถ้าเป็นข้อมูลของกรมศุลกากรระบุว่ามี 59 ท่าข้าม” ผู้แทนของกองทัพไทยกล่าว
ทั้งเมื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเบอร์โทรศัพท์มือถือของท่าข้ามต่างๆ ก็พบว่ามีความเคลื่อนไหวอยู่เพียง 39 ท่าข้าม จึงเป็นคำถามที่ผู้แทนของกองทัพไทยมองว่ามีการดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ของท่าข้ามเหล่านี้ ในการขนย้ายผู้คนและสิ่งของผิดกฎหมายข้ามพรมแดนหรือไม่ และทางทหารในพื้นที่เองก็ไม่ได้มีสรรพกำลังตรวจสอบได้ทุกจุดชายแดน ทำให้เป็นการยากในการควบคุมกลุ่มคนที่ลักลอบเข้าออกพรมแดนไทย-เมียนมา
ขณะที่ผู้แทนจากกลุ่มงานประสานนโยบายผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมือง กองการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย มองปัญหาการจัดการผู้ลี้ภัยในระดับนโยบายของประเทศไทยว่า ยังขาดการบูรณาการร่วมกันในภาพรวม แต่เน้นใช้การแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้ารายกรณี
ส่วนผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยระบุว่า การที่ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาปี ค.ศ.1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ซึ่งกำหนดการจัดการผู้ลี้ภัยไว้ 3 แนวทางคือ การกลับมาตุภูมิแบบสมัครใจ การไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่3 และการกลมกลืนเข้ากับสังคม ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่อยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงมหาดไทยที่จะสามารถจัดการผู้ลี้ภัยได้ จึงจำเป็นต้องรอนโยบายจากทางรัฐบาลในการตัดสินใจ
“มันจึงเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นครั้งๆ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) และกลไกด้านความมั่นคง ความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาจึงเป็นความท้าทายเพราะเราอยู่กับนโยบายชั่วคราวมา 40 ปี” ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยกล่าว
ในฝั่งของการจัดการสถานะทะเบียนราษฎรของคนกลุ่มไร้สัญชาติไทย ผู้แทนจากสำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าประเทศไทยมีเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้จัดการสถานะคนเหล่านี้ อันได้แก่ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร, พระราชบัญญัติสัญชาติ และนโยบายของรัฐบาลผ่านมติ ครม.
“กระทรวงมหาดไทยมีความพยายามในการแยกกลุ่มผู้อพยพในประเทศ เช่น กลุ่มของผู้อพยพที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่เข้ามาในประเทศเป็นระยะเวลานานแล้ว มีจำนวน 300,000 กว่าคน ซึ่งกลุ่มนี้พ่วงมาด้วยบุตรของพวกเขาที่เกิดในไทย 140,000 กว่าคน ในเรื่องของนโยบายสำหรับคนกลุ่มนี้นั้นมีการดำเนินการพัฒนา จนในปัจจุบันสามารถครอบคลุมเรื่องคุณสมบัติได้ทั้งหมด อันนำมาซึ่งโอกาสที่จะได้สถานะถิ่นที่อยู่ถาวร และสำหรับบุตรที่เกิดในประเทศไทย มีโอกาสจะได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ(2) ของพรบ.สัญชาติ ในฐานะที่เป็นบุตรของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ประเทศไทยมานานแล้ว และมีสิทธิขั้นพื้นฐานเช่น การรักษาพยาบาล, การอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ, และสิทธิในการทำงาน”
ด้านผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยไม่ปฏิเสธว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน รวมทั้งในเรื่องการดูแลสิทธิแรงงานให้กับคนกลุ่มนี้ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ถือว่าประเทศไทยมีการพัฒนาเรื่องสิทธิต่างๆ ที่ไม่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ดีในเรื่องของการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติผ่านมติ ครม. ผู้แทนจากกระทรวงแรงงานก็ระบุว่า มีพฤติกรรมการลักลอบเข้าเมืองและอยู่อาศัยผิดกฎหมายของคนบางกลุ่ม เพื่อรอมติครม.ในการทำให้ตัวเองให้กลายเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกับประเทศต้นทาง เพื่อออกแบบระบบที่ง่ายต่อการลงทะเบียน และจูงใจให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“การเดินทางเข้ามาในประเทศของคนบางกลุ่ม ซึ่งสถานะของพวกเขายังไม่ถูกกำหนด เขายังมีสถานะหลบหนีเข้าเมืองไม่ใช่แรงงาน ดังนั้นถ้าทุกคนปฏิบัติตามระเบียบที่มี ก็จะเดินต่อกันไปด้วยกันได้” ผู้แทนจากกระทรวงแรงงานกล่าว
ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มองว่าตอนนี้ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบผสมผสาน (mixed migration) ทำให้การออกนโยบายเป็นเรื่องยาก เพราะนโยบายหนึ่งที่ออกไปย่อมส่งผลกระทบต่อหน่วยงานอื่นๆ ที่รับไปปฏิบัติ การออกนโยบายจึงต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งต้องจัดสมดุลระหว่างความมั่นคงของรัฐ กับความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่ง ณ ปัจจุบันทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติในส่วนของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ที่เป็นคนไร้รัฐ ไร้สถานะ ร่วมกับทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ในตอนท้ายผู้แทนจากกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวถึงการกำลังพิจารณาปรับแก้ไขพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การค้ามนุษย์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป มีกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการบังคับทำอาชญากรรม ที่กฎหมายปัจจุบันยังไม่เท่าทันต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลง
หลังจากที่หน่วยงานรัฐได้นำเสนอข้อมูลทั้งหมดแล้ว Rebecca Napier-Moore ผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ข้อเสนอว่า ประเทศไทยควรจะปฏิบัติตามมาตรฐานสากลระหว่างประเทศในการให้หลักประกันของแรงงานข้ามชาติ โดยในตอนนี้มีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องแรงงานชาวเมียนมาที่ต้องไปต่อเอกสารเพื่อขอใบอนุญาตทำงานกับทางสถานทูตเมียนมาในเรื่องความปลอดภัยของตัวแรงงานเมื่อเข้าไปสู่กระบวนการ
“อยากฝากให้หน่วยงานรัฐไทย พิจารณาถึงกระบวนการต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติที่รัดกุม” Rebecca Napier-Moore กล่าว
———