โดย ภาสกร จำลองราช

แม่น้ำเมยซึ่งเป็นเส้นแบ่งแดนไทยกับรัฐกะเหรี่ยงของพม่า มีแหล่งต้นน้ำจาก อ.พบพระ ไหลผ่าน อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และอ.ท่าสองยาง จ.ตาก ก่อนไหลไปบรรจบแม่น้ำสาละวินที่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
แม่น้ำเมยช่วงที่ไหลผ่าน อ.พบพระ และ อ.แม่สอด ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้งเนื่องจากเป็นที่ตั้งของแหล่งอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งมีชาวต่างชาตินับหมื่นคนจากกว่า 30 ประเทศ ถูกหลอกลวงให้มาทำงานอยู่ต้มตุ๋นอยู่ในนี้ ภายใต้การบริหารของกลุ่มมาเฟียจีนที่ใช้แผ่นดินไทยเป็นระเบียง เป็น gateway หรือประตูสู่นรกริมแม่น้ำเมย

พื้นที่แหล่งอาชญากรรมทั้งหมดในเมืองเมียวดีตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองกำลังกะเหรี่ยง 2 กลุ่มคือ BGF และ DKBA(Democratic Karen Buddhist Army ) ขณะที่กันพื้นที่โดยรอบเป็นสนามรบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA(Karen National Liberation Army หรือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) กับกองทัพพม่า ที่ปัจจุบันคือสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (State Administration Council-SAC)
กะเหรี่ยงทั้ง 3 ฝ่ายต่างมีที่มา ที่ไป และเป้าหมายในการต่อสู้แตกต่างกันไป
1.กองกำลังกะเหรี่ยง BGF (Karen Border Guard Force -กองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง) มีผู้นำคือชิตตู หรือหม่องชิตตูโดยก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นทหารของ KNU ต่อสู้กับกองทัพพม่า แต่ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาความแตกแยกใน KNU โดยมีบางฝ่ายหยิบยกเรื่องศาสนามาสร้างเป็นประเด็น ทำให้ KNU เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ พร้อมกับการก่อกำเนิดของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army-DKBA) ที่หันไปจับมือกับทหาพม่าโจมตี “มาเนอร์ปลอว์” ฐานที่มั่นของ KNU ณ ริมแม่น้ำเมย จนแตก
เมื่อรัฐบาลทหารพม่ากำหนดกลยุทธ์ให้พื้นที่ชายแดนจัดตั้งเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF เมื่อ พ.ศ.2551 เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่อสู้กันเอง กองกำลัง DKBA ของชิตตูจึงได้แปลงสภาพเป็น BGF และต่อมาเมื่อกลุ่มทุนจีนต้องการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษคู่ขนานกับเมืองแม่สอด และได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่า จึงได้มีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก่ขึ้นมา ก่อนจะแปรสภาพกลายเป็นสแกมเซ็นเตอร์ในเวลาต่อมา และขยายใหญ่สร้างเป็นเคเค ปาร์ค และยิบย่อยอีกกว่า 30 แห่งในพื้นที่การดูแลของ BGF
รายได้จากแหล่งอาชญากรรมจำนวนมหาศาลทำให้บารมีของชิตตูขจรขจาย โดยเฉพาะเมื่อสามารถต่อสายตรงกับนักการเมืองและ “คนในเครื่องแบบ” ของไทยได้
ผู้นำ BGF ร่ำรวยมหาศาลเนื่องจากรายได้ทั้งหมดเข้ากระเป๋าผู้นำมากกว่าองค์กรเพราะ BGF ไม่ได้มีโครงสร้างองค์กรกระจายตัวการปกครองเหมือน KNU แต่ผูกติดอยู่กับตัวผู้นำ
2.กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือ DKBA ซึ่งแม้เกิดก่อน BGF แต่ภายหลังสิ้นผู้นำ “นะคะมวย” ทำให้ DKBA ไม่รุ่งเรืองนัก พื้นที่ยึดครองของกะเหรี่ยงติดอาวุธกลุ่มนี้อยู่ตอนใต้ของเมืองเมียวดีไปจนถึง อ.พบพระสลับกับพื้นที่ยึดครองของ KNU แต่ฐานที่มั่นสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือเขตพญาตองซู ตรงข้ามกับด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี
ภายหลังจากแหล่งสแกมเมอร์ในเมืองเล้าก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้าง รัฐฉานเหนือ ติดชายแดนจีนถูกทลาย ทำให้เหล่ามาเฟียจีนและโกก้างมากมายมุ่งหน้าเข้ามายังพื้นที่ช่องแคบฝั่งเมียวดีซึ่งมี “โกซาย”หรือซายจ่อละ (Kyaw Hla) ผู้นำเบอร์ 3 ของ DKBA เป็นผู้ดูแล ขณะที่ผู้นำเบอร์ 1 คือนายพลซอ สตีล (General Saw Steel) ค่อนข้างเป็นคนเก็บตัว
แหล่งอาชญากรรมเมืองช่องแคบนี้โด่งดังเพราะมีความชั่วร้ายครบทุกรส ตั้งแต่ยาเสพติด การค้ามนุษย์ จนถึงสแกมเมอร์ และขึ้นชื่อในความโหดเหี้ยมทรมานเหยื่อ ซึ่งชาวต่างชาติหลายคนที่ได้รับการไถ่ตัวหรือหนีออกมาได้ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน
3.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU เป็นองค์กรทางการเมืองของชาวกะเหรี่ยงซึ่งจัดตั้งเมื่อกว่า 70 ปีก่อน และสู้รบกับกองทัพพม่าเพื่อความเป็นอิสระและสันติภาพของชาวกะเหรี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เป้าหมายของ KNU คือโจมตีรุกไล่ให้ฐานทหารพม่าออกไปจากแนวชายแดนรัฐกะเหรี่ยงด้านตะวันออกให้หมดซึ่งก็คือชายแดนไทย อย่างไรก็ตามผู้นำKNU บางคนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนในครอบครัวมีผลประโยชน์กับธุรกิจสีดำในแหล่งของ BGF
KNU มีโครงสร้างการบริหารของตัวเอง โดยมีคณะกรรมการบริหารซึ่งมีอำนาจสูงสุด และแบ่งการปกครองเป็น 7 เขต โดยเมืองเมียวดีอยู่ในการดูแลของกองกำลังทหารพล 6 และ 7
ถ้าดูจากแผนที่ (สำนักข่าวชายขอบ Transborder News ผลิตขึ้นเองโดยนำข้อมูลจากแหล่งข่าวมาประกอบ ดังนั้นรายละเอียดในเรื่องปริมาณพื้นที่อาจมีความคลาดเคลื่อน เพียงแต่ต้องการให้เห็นภาพรวม) เห็นได้ว่าพื้นที่ที่ BGF ยึดครองเป็นเสมือนไข่แดงซึ่งซีกหนึ่งล้อมรอบด้วยทหาร KNU ส่วนอีกซีกหนึ่งติดกับแม่น้ำเมยพรมแดนไทย ดังนั้น “มาตรการ 3 ตัด” ของทางการไทยจึงสร้างผลสั่นสะเทือนให้กับ BGF เป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งชเวโก๊กโก่ เคเคปาร์ค และแหล่งอาชญากรรมยิบย่อยในพื้นที่ BGF ต่างพึ่งพาประเทศไทยเป็นหลัก เนื่องจากเส้นทางสายหลัก(AH1)ที่เชื่อมต่อกับเมืองพะอันซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ถูกตัดขาดมาราว 2 ปีแล้ว เนื่องจาก KNU และกองกำลังฝ่ายต่อต้านได้สกัดกั้นไว้แถวเมืองกอกะเร็ก เพื่อไม่ให้ทหารพม่าเข้ามาได้ ขณะเดียวกันเส้นทางการค้าหลักจึงพลอยถูกปิดไปด้วย
ในส่วนของพื้นที่แหล่งอาชญกรรมของ DKBA ก็เช่นเดียวกันคือด้านหนึ่งถูกล้อมไว้ด้วย KNU อีกด้านหนึ่งติดแม่น้ำเมยซึ่งเป็นชายแดนไทย ดังนั้นเมื่อถูกมาตรการ 3 ตัดของรัฐบาลไทย ทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และมีแผนย้ายไปยังพื้นที่พญาตองซู แต่แผนดังกล่าวก็ต้องล้มลงเพราะพื้นที่พญาตองซูก็ถูกมาตรการ 3 ตัดเช่นเดียวกัน
วันนี้แหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยฝั่งเมืองเมียวดีกำลังตกอยู่ในสภาพย่ำแย่หลังจากถูกมาตรการ 3 ตัดเพียงไม่กี่วัน แต่สายป่านของเหล่าผู้นำกะเหรี่ยงเทาดำที่เชื่อมต่อมายังฝั่งไทย ช่วยประคองให้ธุรกิจต้มตุ๋นหลอกลวงเดินหน้าต่อไปได้
ตราบใดที่บรรดาอาชญากรข้ามชาติยังไม่ถูกกวาดล้าง เหล่าผู้นำกะเหรี่ยงเทาดำยังได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจต้มตุ๋นหลอกลวง และประเทศไทยไม่กวาดบ้านของตัวเอง มาตรการ 3 ตัดที่รัฐบาลออกมาก็เป็นเพียงผลสะเทือนในช่วงสั้นๆ
เพราะอีกไม่นานกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะกลับมาก่อกรรมทำเข็นและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนไทยและทั่วโลกได้อีก
———