
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ที่สวนอาหารบ่อปลา วี.เอส. อ.เมือง จ.หนองคาย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน จัดเสวนา “หยุดเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ค้านการจัดเวที สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” โดยมีประชาชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงกรณีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นคนในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง กรณีเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว อย่างคับคั่ง
นายอำนาจ ไตรจักร ตัวแทนชาวบ้านจาก จ.นครพนม กล่าวว่า ตนได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเวทีของ สทนช. ที่จัดขึ้นเมื่อ 26 ธ.ค.67 ที่ จ.นครพนม และ 21 ม.ค.68 ที่ จ.อุบลราบธานี โดยตนตั้งใจนำเสนอข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา แต่ผู้จัดเวทีกลับให้เวลานำเสนอข้อมูลเพียง 3 นาที ซึ่งไม่เป็นธรรม สำหรับในเวทีตนตั้งข้อสังเกตว่าองค์กรหรือบุคคลที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนนั้น จะได้เวลาในการแสดงความคิดเห็นที่มากกว่า จึงรู้สึกว่าเป็นการไม่ให้สิทธิในการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญ และเป็นเวทีที่ไม่มีชอบธรรมเพียงพอ


“การที่ผมมาพูดในเวทีในวันนี้ รู้สึกว่าเป็นเวทีที่ทำให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านได้อย่างเต็มที่ เห็นชัดว่าเวที สทนช. ที่ผ่านมา ไม่เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เป็นเวทีที่ไม่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายอำนาจ กล่าว
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน กล่าวว่า ถ้าดูจากแผนการรับซื้อไฟฟ้าของประเทศไทยและปริมาณไฟฟ้าสำรอง พบว่า เรามีปริมาณไฟฟ้าสำรองในช่วงปกติมากกว่า 30% ในบางช่วงมากกว่า 50% ฉะนั้นแผนรับซื้อไฟฟ้าที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือกรณีของเขื่อนที่สร้างบนลำน้ำโขง ถ้ารวมปริมาณไฟฟ้าแล้วมากกว่าแผน MOU ที่ซื้อกว่า 10,500 เมกะวัตถ์นั้น พบว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาเขื่อนแม่น้ำโขงและไม่ต้องรับซื้อไฟฟ้า เพราะฉะนั้นข้อเสนอนอกจากกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว คิดว่าไทย ควรจะแสดงจุดยืนให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศไทย

“หยุดการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ปล่อยให้ทุนพลังงานได้กำไร แล้วผลักภาระให้ประชาชนทั้งประเทศ ควรปรับแผนพัฒนาเขื่อนลุ่มน้ำโขงทั้งหมด เพราะว่าเห็นได้ชัดว่าเวลาแม่น้ำโขงมีผลกระทบเกิดขึ้นจริง ไม่มีใครกล้าออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพราะเขื่อนแม่น้ำโขงพัฒนาโดยเอกชน สร้างในประเทศเพื่อนบ้าน แต่การใช้ไฟฟ้าอยู่ในประเทศไทย ทำให้เราโยงหาผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริงไม่ได้ ส่งผลให้ไม่เกิดการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง” นายหาญณรงค์ กล่าว
นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ควรหยุดอ้างว่าเขื่อนเป็นพลังงานสะอาดได้แล้ว เพราะในความเป็นจริงแม้เขื่อนจะไม่เกิดการเผาไหม้เหมือนถ่านหิน แต่ผลกระทบในเชิงระบบนิเวศและเชิงสังคมนั้นรุนแรงและส่งผลเป็นระยะยาวต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงตลอดสาย ซึ่ง
“ขอย้ำว่าแผนการสร้างเขื่อนและการพัฒนาลุ่มน้ำโขงควรทบทวนทั้งหมด รวมถึงข้อตกลง MRC เดิมที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี ล้าสมัยไปแล้ว เพราะไม่ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือแนวทางการพัฒนาที่เปลี่ยน และการมีนวัตกรรมอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาทำให้เรามีทางเลือกพลังงานที่สะอาดจริง เช่น โซลาร์เซลล์ และการดึงพลังงานทางเลือกอื่นในประเทศเข้ามาใช้จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า” นายหาญณรงค์ กล่าว
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก กล่าวว่า ผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนในประเทศไทยคือ ส่งผลให้น้ำท่วมที่นาขยายพื้นที่กว้างขึ้น และเมื่อน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะมีการแพร่ขยายดินเค็มเกิดขึ้น การต่อสู้ของพี่น้องที่ผ่านมาสะท้อนให้เป็นบทเรียนที่รัฐต้องทบทวนนโยบายที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนตัดสินใจ และอำนาจการบริหารจัดการน้ำที่เป็นของกรมชลประทานไม่ใช่เป็นของประชาชนในพื้นที่


“การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงจะก่อให้เกิดผลกระทบไม่ต่างจากเขื่อนในประเทศไทยด้วยระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกัน สทนช. ควรจะมาให้ข้อมูลที่ลงลึกในระดับพื้นที่ ไม่ใช่การจัดเวทีแค่ไม่กี่เวทีแล้วถือว่าประชาชนได้มีส่วนร่วมแล้วนั้นไม่มากพอ และต้องมีเวทีที่เป็นกลางเป็นธรรมต่อพี่น้อง ในรูปแบบของสภาประชาชน ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มองค์กรที่สนับสนุนเขื่อนก็ได้แอบอ้างในการตัวแทนของประชาชน ซึ่งไม่ใช่ตัวแทนของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง” นายสิริศักดิ์ กล่าว
ภายหลังการเสวนา เครือข่ายภาคประชาชนได้ออกแถลงการณ์ “การพัฒนาแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน : เริ่มต้นจากการทบทวนการสร้างเขื่อนสานะคาม” โดยมี 47 องค์กร 535 บุคคล ร่วมลงนามโดยมีเนื้อหาระบุว่า หน่วยงาน เช่น สทนช. ต้องทบทวนบทบาทในทางวิชาการของตนเอง เราเชื่อมั่นว่าการทบทวน คัดค้าน เขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนภูงอย และการค้านเขื่อนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในแม่น้ำโขง จะเป็นการทบทวนแนวทางการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างรอบคอบและสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง
“เชื่อว่าเสียงของทุกคนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาที่มุ่งสู่การลดการสร้างภาระให้ธรรมชาติและแม่น้ำโขง เราต้องสร้างทางเลือกใหม่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”แถลงการระบุ
ทั้งนี้ ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 สนทช. ในฐานะสำนักเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) จะมีการจัดเวทีให้ข้อมูลและรังฟังความคิดเห็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ซึ่งเป็นเวทีสุดท้าย (ครั้งที่ 4) ที่จัดขึ้นที่โรงแรมเกอะวัน อ.เมือง จ.บึงกาฬ เพื่อนำความคิดเห็นของภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ไปจัดทำข้อเสนอของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อรายการต่อรัฐบาลและคณะกรรมธิการแม่น้ำโขง 4 ประเทศ (MRC)
——————