
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ที่บริเวณท่าข้าม 28 บ้านช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ทหารจากหน่วยเฉพาะกิน(ฉก.)ราชมนู กองกำลังนเรศวร ได้นำรถยีเอ็ม 10 คันพร้อมรถคุ้มกัน 8 คัน มารอรับเหยื่อชาวต่างชาติ 261 คนที่ถูกส่งตัวจากแหล่งธุรกิจสีดำของมาเฟียจีนภายใต้การควบคุมดูแลของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army – DKBA) ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า เพื่อส่งตัวไปยังที่ว่าการอำเภอพบพระและเข้าสู่การคัดกรองและกลไกการส่งต่อระดับชาติ(National Referral Mechanism – NRM)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้นำทางทหารของ DKBA และกำลังพลได้เดินทางมาร่วมส่งเหยื่อทั้ง 261 คนขึ้นแพขนานยนตร์ข้ามมายังฝั่งไทย โดยมีชาวบ้านช่องแคบพากันออกมาดูและต่างวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นใจเหยื่อชาวต่างชาติ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการส่งเหยื่อมากถึง 261 คน อย่างไรก็ตามจากการสังเกตพบว่าเหยื่อบางส่วนมีสภาพที่อิดโรย มีเหยื่อชาวมาเลเซียที่ขาพิการ และมีเหยื่อชาวเคนยาที่ท้อง 4 เดือน

หญิงสาวชาวพม่ารายหนึ่งซึ่งมารอรับเพื่อนชาวบังคลาเทศที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่กำลังได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ กล่าวว่ารู้สึกดีใจมากที่เพื่อนๆทั้ง 6 คนได้รับการส่งตัวข้ามมาฝั่งไทย แม้มีอีก 1 คนที่ถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยตนได้ติดต่อทางไลน์กับเพื่อนตลอดเวลาโดยพวกเขาเล่าถึงความโหดร้ายของมาเฟียจีน
“พวกเขาถูกหลอกว่าให้มาทำงานในไทยได้เงินเดือน 1,000-5,000 ดอลล่าร์ เขานั่งเครื่องบินมาลงที่กรุงเทพฯแล้วมีคนไปรับมาที่โรงแรมแห่งหนึ่งในแม่สอด และตอน 1 ทุ่มถูกพาข้ามแม่น้ำเมยไปยังฝั่งเมียวดี พอรู้ตัวว่าถูกหลอกและจะหนีก็สายไปเสียแล้วเพราะมีทหารอาวุธครบมือล้อมไว้หมด”หญิงสาว กล่าว และว่า ครอบครัวของทั้ง 6 คนต่างมีฐานะยากจน ครั้งนี้พวกเขารู้สึกซาบซึ้งใจคนไทยมากที่ช่วยพาลูกๆเขาออกมา


นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม ซึ่งเดินทางมารับเหยื่อด้วยกล่าวว่า ได้รับการประสานจากผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต 4 ประเทศคือเคนยา ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศและปากีสถาน ว่าจะเดินทางมาร่วมรับคนของตัวเอง ซึ่งการรับเหยื่อครั้งนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ในมาตรการระยะสั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางยุทธศาสตร์ใน 3 ระดับ โดยระยะสั้นจำเป็นต้องรีบช่วยเหลือเหยื่อออกมาจากแหล่งสแกมเมอร์ให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้พื้นที่อยู่ในการดูแลของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กำลังได้รับผลกระทบและสะดุดจากมาตรการ 3 ตัดของทางการไทย ซึ่งนอกจาก 261 คนนี้แล้ว ยังมีประชาชนอีกนับหมื่นคนที่กำลังรอความช่วยเหลือในฝั่งเมียวดี


สส.พรรคเป็นธรรมกล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะกลางคือต้องปรามไม่ให้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังแหล่งสแกมเมอร์ได้โดยต้องขอความร่วมมือจากประเทศต้นทางซึ่งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานต้องทำงานในเชิงรุกหารือกับสถานทูตประเทศต่างที่มีประชาชนถูกหลอก นอกจากนี้ในส่วนของวีซ่านักท่องเที่ยวก็ควรมีการกำหนดโซนในพื้นที่ชายแดนที่เปราะบาง และรัฐบาลก็ควรลดอัตตาตัวเองจากเดิมทีมักบอกว่าต้องหารือระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่กรณีที่เกิดขึ้นจากการปล่อยเหยื่อครั้งนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าควรต้องคุยกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ด้วย
นายกัณวีร์กล่าวว่า ส่วนมาตรการระยะยาวคือเป็นเรื่องของความไม่สงบในประเทศพม่า ควรผลักดันแผนสันติภาพให้เกิดขึ้นจริงและสร้างพื้นที่พูดคุยระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังต่างๆ เพราะตราบใดที่สถานการณ์ในพม่ายังเกิดการสู้รบก็จะเป็นช่องทางให้กลุ่มมาเฟียใช้พื้นที่ในพม่าประกอบธุรกิจสีดำได้


ขณะที่ พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร กล่าวว่าขณะนี้ ถือว่ามาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการได้ผล เพราะเป็นผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ แต่เข้าใจว่าบางส่วนอาจจะกระทบกับพี่น้องประชาชนทั้งสองฝ่าย แต่ต้องขอให้เข้าใจรัฐบาล และเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าอยู่ในช่วงที่ทุกคนต้องเสียสละ เพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้มันสำเร็จ
“ถ้าครั้งนี้เราทำไม่สำเร็จ ผมมองว่าไม่มีครั้งไหนที่จะทำสำเร็จแล้ว ครั้งนี้ต้องเดินหน้าเต็มร้อย เพื่อทำให้สำเร็จให้ได้ การปล่อยตัวเหยื่อในครั้งนี้ เป็นเพราะเขาไม่สามารถทำต่อได้ โดยหากเป็นบริษัทเล็ก ๆ จะย้ายฐานการผลิตไปเลย แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่จะลดระดับเหลือ 50% โดยหากยืดระยะในมาตรการนี้ไปอีก คิดว่าพวกเขาจะอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว”พ.อ.ณัฐกร กล่าว


ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กล่าวถึงเรื่องการตรวจจับการลักลอบขนส่งสินค้าต้องห้ามไปยังฝั่งเมียนมา ว่า เป็นการส่งในรายย่อย เพราะฝั่งตรงข้ามต้องการน้ำมัน และก็มีราคาสูง ซึ่งก็จะมีการลักลอบ ซึ่งเราจับได้ทุกวัน ทั้งน้ำมันที่เป็นถังเล็ก ๆ และโซลาร์เซลล์ต่างๆ
พ.อ.ณัฐกร กล่าวถึงการเข้าตรวจสอบชาวต่างชาติพักเกินเวลา ว่า เมื่อวานนี้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วก็พบ 22 รายที่อยู่เกินเวลา และก็เข้าสู่การดำเนินคดีต่อไป และในสถานการณ์แบบนี้ คาดว่ายังคงมีอยู่อีกหลายคน ส่วนการวางตามแนวชายแดนนั้น ทางผู้บัญชาการทหารบก ให้เพิ่มกำลังทหารแล้ว เพื่อการปฏิบัติการ และแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้เหยื่อ 261 คนประกอบด้วย 1.ฟิลิปปินส์ 16 ราย 2. เคนยา 23 ราย 3.แทนซาเนีย 1 ราย 4.บลาซิล 2 ราย 5. เอธิโอเปีย138 ราย 6.ปากีสถาน12 ราย 7.บังกลาเทศ 2 ราย 8.เนปาล 7 ราย 9.กัมพูชา1 ราย 10.ศรีลังกา 1 ราย 11.ยูกันดา 6 ราย 12.ไต้หวัน 7 ราย 13.ลาว 6 ราย 14.อินโดเนเซีย 8 ราย 15.บุรุนดี 2 ราย 16.ไนจีเรีย 1 ราย 17.กานา 1 ราย 18.อินเดีย 1 ราย 19.มาเลเซีย 15 ราย 20.จีน 10 ราย