เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 แหล่งข่าวจากพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์พื้นที่แถบหมู่บ้านสิงขร ซึ่งเป็นชุมชนคนไทยพลัดถิ่น เขตตะนาวศรี ในฝั่งเมียนมา ยังคงมีการสู้รบอย่างต่อเนื่องระหว่างทหารพม่ากับฝ่ายต่อต้านคือ กองกำลังทหารกะเหรี่ยง KNU (Karen National Union-สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) และกลุ่ม PDF- (People’s Defence Force) โดยชาวบ้านต้องหนีตายออกจากหมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้ยังสามารถสังเกตเห็นควันไฟ มีเสียงปืนและเสียงระเบิดอยู่ โดยไม่รู้ว่าเกิดจากการโจมตีของฝ่ายใด และไม่รู้ว่ากองกำลังฝ่ายใดอยู่ในหมู่บ้าน จึงไม่มีใครกล้ากลับไปที่หมู่บ้าน
“บ้านสิงขรมีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยกว่า 140 หลังคาเรือน ทุกคนต้องหนีตายไปอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านทุ่งทองหลาง บ้านญวณ บ้านบกเปี้ยน บางส่วนหนีข้ามไปอยู่กับญาติที่ระนองและประจวบฯ โดยไม่รู้ว่าสถานการณ์จะสงบลงเมื่อใด” แหล่งข่าวกล่าว
ชาวบ้านสิงขรรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ทหารพม่าเข้ามาในหมู่บ้านสิงขร ไล่ชาวบ้านทุกคนให้เร่งออกจากหมู่บ้าน และบอกว่าจะมีการสู้รบกับกลุ่มต่อต้าน โดยให้ไปอยู่รวมกันที่วัด จนกระทั่งเริ่มมีการสู้รบชาวบ้านต้องหนีตายโดยแทบไม่ได้นำเสื่อผ้าหรือทรัพย์สินติดตัวกันออกมา ต้องหลบหนีไปตามเส้นทางเดินเท้าในป่า ลัดเลาะออกมาให้ไกลจากพื้นที่หมู่บ้านสิงขร
“บางคนหนีตายมาแต่ตัว ผ้าขาวม้าสักผืนก็ไม่มี ลุงคนหนึ่งแกเตรียมกระเป๋าไว้หนี มีทอง 2 สลึง มีเงินพม่าใส่กระเป๋าแขวนไว้ที่เสาบ้าน ก่อนหนีแกจะหยิบกระเป๋าก็โดนทหารกระชากกระเป๋ายึดเอาไว้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เลยไม่มีทรัพย์สินติดตัวมา ต้องอาศัยญาติพี่น้องในฝั่งไทยช่วยกันดูแล” ชาวบ้านสิงขรกล่าว
ชาวบ้านสิงขรกล่าวอีกว่า อยากให้ฝั่งไทยช่วยเหลือคนไทยสิงขร เพราะตอนนี้หนีมาอยู่กับญาติฝั่งประเทสไทย บ้านเรือนก็คับแคบต้องอยู่อย่างแออัด อาหารการกินมีน้ำพริก มีแกงเลียงก็แบ่งปันกับญาติพี่น้อง ได้แต่ปลอบใจกันเองว่าไม่ต้องเครียด เพราะเครียดไปคดข้าวมาก็กินไม่ลง ช่วยกันไปหาผักบุ้งไปจับปลามาทำกับข้าวกินกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกันไปก่อน
“ชาวบ้านสิงขรหลายคนเริ่มคุยกันว่า ถ้าสถานการณ์สู้กันแบบนี้ไปนานๆ ก็ไม่กล้ากลับไปที่หมู่บ้าน เพราะไม่รู้ว่าทหารที่ขึ้นยึดบ้านจะยอมออกจากบ้านหรือไม่ จะไปเชิญให้เขาออกเราก็กลัวโดนยิงตาย ถ้ากลับไปคงต้องไปสร้างกระต๊อบอยู่ในสวน เพราะเรายังมีกล้วย อ้อย หมากพลู ทุเรียนที่ปลูกไว้ก็พอจะหากินได้ บางคนก็อยากอยู่ที่ประเทศไทย เพราะไม่อยากไปอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงชีวิตอีกแล้ว” ชาวบ้านสิงขร กล่าว
ด้านนางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจากบ้านสิงขรหนีภัยสงครามเข้ามายังพื้นที่ชายแดนในฝั่งไทยนั้น ทุกฝ่ายควรยอมรับว่าชาวบ้านเหล่านี้เป็นพี่น้องคนไทยโดยตรงที่อาศัยอยู่ในฝั่งเมียนมา แตกต่างจากคนต่างด้าวทั่วไป ดังนั้นเมื่อพี่น้องเหล่านี้หนีภัยสงครามเข้ามา ทางการไทยควรมีกระบวนการช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่ง
“ในอดีตที่ผ่านมาคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้พยายามดูแลตัวเองมาโดยตลอด ไม่เคยมารบกวนขอความช่วยเหลือ เพราะเขาตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่ที่นั่น ไม่ได้กลับมาขอสัญชาติไทย แต่ยังคงมีความผูกพันธ์กับญาติพี่น้องฝั่งไทย รัฐบาลไทยก็ควรดูแลพวกเขาเพราะวันนี้กำลังเดือดร้อนหนัก ควรสั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ ไม่อย่างนั้นทุกฝ่ายจะมองว่าไม่เกี่ยวข้อง หรือทำเพียงให้ความช่วยเหลือแบบปกติโดยไม่ได้ช่วยอย่างเต็มที่ในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน” นางสุนี กล่าว
นางสุนี กล่าวอีกว่า สิ่งจำเป็นเร่งด่วนหน่วยงานรัฐต้องเข้าไปดูแลความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน ด้านสุขภาพ ที่มีทั้งผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ โดยจำเป็นต้องประสานกับเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายญาติพี่น้องในฝั่งไทยเพื่อรับรองสถานะ โดยต้องมีมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นสามารถอาศัยหลบภัยสงครามอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวก่อน
นายภควินท์ แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น กล่าวว่า ในวันเดียวกันนี้ได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อขอให้ช่วยเหลือคนไทยพลัดถิ่นที่หนีภัยสงครามเข้ามายังฝั่งไทยให้ชัดเจน ทั้งที่อยู่อาศัยอยู่กับกับญาติพี่น้อง หรือหลบภัยอยู่ในป่า ไม่ใช่ปล่อยให้พี่น้องคนไทยพลัดถิ่นต้องเผชิญสถานการณ์ยากลำบากแบบนี้ เนื่องจากตาม พรบ. สัญชาติ ฉบับที่ 5 ได้ให้ความหมายว่าคนไทยพลัดถิ่นก็คือคนไทยด้วยกัน
“ในอดีตคนไทยพลัดถิ่นบ้านสิงขรไม่ได้อพยพมาอยู่ในฝั่งไทยเพราะว่าพวกเขามีพื้นฐานวิถีชีวิตอยู่ที่นั่นมีสวน มีชุมชน มีการสอนภาษาไทย ดำรงวิถีประเพณีแบบคนไทยมาโดยตลอด” นายภควินท์ กล่าว
นายภควินท์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเคยมีการอพยพใหญ่ครั้งแรกในปี 2532-2535 มีพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นหนีการสู้รบการปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ของทหารพม่า จนนำไปสู่การได้มาของ พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 ส่วนเหตุการณ์ปัจจุบันนับเป็นครั้งที่สองที่ชาวบ้านหนีตายเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ ซึ่งพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นไม่ใช่กลุ่มติดอาวุธ จึงอยากให้มีการเร่งให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลและระดับพื้นที่
“ผู้ว่าราชการจังหวัดควรเร่งสั่งการ ให้มีแนวทางช่วยเหลือดูแลพี่น้องคนไทยพลัดถิ่น สำรวจขึ้นทะเบียนเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ จัดการและให้ความช่วยเหลือต่อได้สะดวก ไม่ใช่มีท่าทีข่มขู่สั่งห้ามเครือข่ายที่จะเข้าไปช่วยเหลือ เช่น หน่วยงานในพื้นที่ไม่ตั้งจุดรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ แต่พอเครือข่ายเข้าไปทำก็มีการสั่งห้าม” นายภควินท์ กล่าว
___________