
สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า กองทัพพม่าใช้ระเบิดที่มีอนุภาพสูงโจมตีกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน และยังมุ่งโจมตีต่อพลเมืองผู้บริสุทธิ์ โดยมีการพบเห็นกองทัพพม่าใช้”ระเบิดแอโรซอล” (ระเบิดเทอร์โมบาริกใน) หรือระเบิดละอองลอย ทั้งในรัฐฉาน รัฐชิน รัฐคะฉิ่นและเขตสะกาย ซึ่งข้อมูลนี้ได้รับการบันทึกจากกลุ่มติดอาวุธต่างๆที่ทำสงครามกับกองทัพพม่า
ร.อ.สิ่นยอว์ อดีตทหารพม่าที่แปรพักตร์กล่าวว่า ปกติแล้วระเบิดเทอร์โมบาริก หรือระเบิดสุญญากาศจะถูกใช้ในช่วงที่การสู้รบรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการป้องกันของศัตรูกำลังพังทลายลง นอกจากนี้ยังใช้ในกรณีที่กองทัพพม่าค้นพบตำแหน่งที่แน่นอนของศัตรู โดยระเบิดนี้ ถูกนำมาใช้กับเป้าหมายทั้งต่อพลเรือนและกลุ่มติดอาวุธ ศัตรูของกองทัพพม่า เช่น ในการสู้รบทางตอนใต้ของรัฐชิน พบว่า กองพันทหารราบของกองทัพพม่าได้รับคำสั่งให้ใช้วัตถุระเบิดเทอร์โมบาริกพร้อมกับเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่า กองทัพพม่านั้นได้ใช้ระเบิดเทอร์โมบาริกตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารแล้ว เพราะมีภาพเก่าแสดงให้เห็นว่า กองทัพพม่าได้ใช้ระเบิดเทอร์โมบาริกขนาด 250 กิโลกรัมติดตั้งบนเครื่องบินขับไล่ A-5 ที่ฐานทัพอากาศทะด่า อู ในเมืองมัณฑะเลย์เมื่อปี 2560
มีรายงานว่า กองทัพพม่าได้ซื้อระเบิดเทอร์โมบาริกจากจีน และผลิตระเบิดจรวดเทอร์โมบาริกเอง โดยโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่า ตั้งอยู่ที่เลขที่ 3 (KaPaSa No. 3) ใกล้หมู่บ้านสิ่นเต่ ตรงข้ามเมืองพะเย ในเขตมะโกย โดยการผลิตระเบิดจรวดเทอร์โมบาริกขนาด 80 มม. ได้ใช้เทคโนโลยีของรัสเซียอีกด้วย
ด้านองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า รัฐบาลพม่าใช้ระเบิดเทอร์โมบาริกในการโจมตีหมู่บ้านพะสี่ จี ในเมืองกั่นบะลู เขตสะกาย เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2023 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 170 ราย รวมถึงการโจมตีในเมืองเล่าก์ก่ายอีกด้วย กองทัพพม่ายังคงเดินหน้าโจมตีในเขตชุมชน ล่าสุดได้ทิ้งระเบิดในงานแต่ง ที่หมู่บ้านโส่งโคน ในเขตมะโกย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 14 ราย และบาดเจ็บอีกนับสิบราย โดยระเบิดได้ตกใส่บริเวณที่ชาวบ้านกำลังทำอาหารสำหรับงานแต่งงาน
ทั้งนี้ระเบิดสุญญากาศมีชนวนระเบิดแยกกันเป็นสองส่วน เมื่อถูกยิงออกไปจากเครื่องยิงจรวดหรือถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินแล้ว ขณะที่โดนเป้าหมายจะเกิดการระเบิดเบา ๆ เป็นครั้งแรก เพื่อปลดปล่อยละลองลอยที่เป็นวัตถุระเบิดออกมา กลุ่มหมอกควันนี้จะแพร่กระจายตัวไปในวงกว้าง รวมทั้งเข้าไปในตัวอาคาร บังเกอร์ หรือซอกหลืบที่ไม่ได้ปิดสนิท จากนั้นจะมีการจุดชนวนระเบิดครั้งที่สอง ทำให้เกิดคลื่นกระแทกรุนแรงและละอองลอยติดไฟลุกไหม้ โดยมันจะดูดเอาออกซิเจนรอบข้างเข้าไปจนเกิดภาวะสุญญากาศและความร้อนมหาศาล สามารถทำลายอาคารที่มีการเสริมความแข็งแกร่ง รวมทั้งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลได้ (ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก BBC)