Search

จากเหยื่อ “เมียวดี”ถึงอุยกูร์
กับ “เด็กดี”ของรัฐบาลจีน
มุมมองของ รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช

บทบาทและท่าที่ของรัฐบาลไทยที่มีต่อจีนกลายเป็นเรื่องที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในกรณีที่ปล่อยให้เหยื่อและมาเฟียจีนกว่า 600 คนจากแหล่งอาชญากรรมเมืองเมียวดีผ่านทะลุไทยมาขึ้นเครื่องบินกลับประเทศโดยไม่ได้มีการรีดเค้นข้อมูลของขบวนการค้ามนุษย์และต้มตุ๋นหลอกลวงทางออนไลน์ และล่าสุดรัฐบาลยังส่งชาวอุยกูร์ 40 คนที่ต้องการเดินทางไปประเทศที่ 3 ให้กับทางการจีน จนทั่วโลกต่างรุมประณาม

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายกสมาคมภูมิภาคศึกษา มองนโยบายการต่างประเทศของไทย ที่วางท่าทีเหยียบเรือหลายแคมคือเอาด้วยกับทั้งจีน สหรัฐ และรัฐบาลทหารพม่า น่าสนใจ

“การปรับปรุงนโยบายต่างประเทศของไทยหลังจากที่จีนแผ่อิทธิพลลงมาในลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทสำคัญของจีนในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รัฐบาลไทยก็ยินดีให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับจีนอยู่แล้ว และไทยยังเป็นตัวเชื่อมกัมพูชา เมียนมาและลาวได้ แม้ว่าจีนจะเชื่อมเองได้แต่ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์แล้วจีนก็อยากให้ไทยเป็นตัวเลือกที่มีบทบาทสำคัญ” รศ.ดร.ดุลยภาค ฉายภาพรวมความสัมพันธ์ไทยจีน

โดยท่าทีของไทยที่อิงแอบกับจีน รศ.ดร.ดุลยภาค มองว่า เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับจีนในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยถือเป็นประจักษ์พยานถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นของทั้ง 2 ประเทศ

“แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งผมคิดว่ามีเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ต้องระวัง นั่นหมายความว่า แม้ว่าไทยจะตระหนักดีว่าเรามีข้อจำกัดในเรื่องของทรัพยากรในการทำงานสืบสวนสอบสวนระบบยุติธรรมกับการรับมือเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือจีนเทาจำนวนมาก โดยเราอาจจะใช้วิธีมอบภาระนี้ให้จีนเข้าไปจัดการเลย แต่มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเราก็ปัดอะไรที่เป็นภาระให้พ้นทางเมื่อเป็นปัญหาจีนเทาก็ให้จีนจัดการ อีกแง่มุมหนึ่งเป็นปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเพราะจีนเทาหลอกลวงคนไทยเป็นจำนวนมาก ถ้าเจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปสืบสวนสอบสวนเอากระบวนการยุติธรรมเข้าไปสกรีนสักหน่อยเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหาเบาะแสที่เป็นประโยชน์กับไทยเราทำไม่ค่อยได้เพราะเรามอบภาระนี้ไปให้จีนแล้ว ทั้งๆที่คนเหล่านี้ข้ามแดนมาในอธิปไตยของเรา ดังนั้น มันก็หมิ่นเหม่เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งถ้าเกิดแบบนี้บ่อยๆเราก็ต้องระวังว่ากรอบอธิปไตยแห่งรัฐไทยของเราวางไว้ตรงส่่วนไหนกันแน่” นักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งข้อสังเกต

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือนโยบายการต่างประเทศของไทย รศ.ดร.ดุลยภาค วิเคราะห์ว่าที่ผ่านมา ไทยดำเนินลักษณะการทูตแบบเป็นกลางที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ (Flexible Neutrality) คือไม่เลือกข้างระหว่างจีนกับสหรัฐฯแบบร่วมหัวจมท้ายในทุกๆมิติ แต่จะเอนไปหามหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่งตามแต่ประเด็นและสถานการณ์

“วันนี้ก็น่าติดตามดูว่าบทบาทของจีนที่เพิ่มขึ้นกับการที่สหรัฐระงับความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขหรือมิติอื่นๆในพม่า ทำให้เกิดสุญญากาศบางอย่างที่ทำให้จีนเข้ามาเติมเต็มอำนาจ แม้ว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐจะคุยกับ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่าสหรัฐพร้อมช่วยเหลือไทยในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ยังไม่รู้ว่าจะยันอิทธิพลของจีนได้มากน้อยแค่ไหนเหมือนกัน ซึ่งไทยต้องมาพินิจอีกทีว่าถ้าจะโปรจีนมากขึ้นจะมีข้อดีข้อเสียอะไร” นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา ให้ความเห็น

ไม่เฉพาะการรักษาความสัมพันธ์กับ 2 มหาอำนาจใหญ่ของโลกเท่านั้น จุดยืนของไทยต่อสถานการณ์ในพม่าก็ดูเหมือนว่าไทยยังให้น้ำหนักกับรัฐบาลทหารพม่า

“ผมคิดว่าไทยยังคงให้น้ำหนักกับรัฐบาลทหารเมียนมาอยู่ แต่ก็มีช่องทางติดต่อกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ด้วย ซึ่งนายอันวาร์ อิบราฮิม ประธานอาเซียน มอบภารกิจให้คุณทักษิณ ชินวัตร พยายามเจรจากับกลุ่มต่างๆตามคอนเนคชั่นที่คุณทักษิณมีเพื่อสร้าง peace process ในพม่า แต่หากพิจารณาจากเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยความมั่นคงไทยกับฝั่งพม่า น้ำหนักมันยังเป็นการให้ความสำคัญกับรัฐบาลทหารพม่าอยู่ ซึ่งถ้าดูคอนเนคชั่นของฝั่งไทย โครงสร้างการติดต่อของกองทัพบก หน่วยงานด้านความมั่นคงไทย แม้ว่าจะดูเข้าถึงกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์แต่เขาก็ไม่ได้ละทิ้งความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมา ทหารและหน่วยความมั่นคงทั้งสองประเทศต้องไปคุยกันเพื่อแก้ปัญหาชายแดนในวงประชุมTBC RBC ดังนั้น จึงตัดทหารเมียนมาไม่ได้”

“มองออกมานอกเมียนมาในเรื่องมหาอำนาจการเมืองโลกผมคิดว่าทางการไทยไม่ว่าจะเป็นกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก ก็ยังให้ความสำคัญกับจีน ส่วนน้ำหนักสหรัฐเนื่องจากหน่วยงานด้านความมั่นคงไทยติดต่อกับสหรัฐมาเป็นเวลานานตั้งแต่สงครามเย็นจนกระทั่งถึงวันนี้มันก็คงไม่ได้หายไปไหนยังคงหล่อเลี้ยงให้พลังสหรัฐประคับประคองถ่วงดุลจีนได้เป็นเปราะๆ” รศ.ดร.ดุลยภาค วิเคราะห์

นอกจากนี้ รศ.ดร.ดุลยภาค ยังให้ความเห็นด้วยว่า มีอีกประเทศที่ประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญนั่นคืออินเดีย หลังจากกองบัญชาการกองทัพไทยมีภารกิจเข้าไปเยี่ยมเยือนพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงอินเดียเพื่อดึงอินเดียเข้ามาถ่วงดุลกับจีนซึ่งจะเป็นประโยชน์กับไทยมากขึ้น

“อาจดูว่าความสัมพันธ์ของไทยกับจีนดูแนบแน่นขึ้น แต่อีกภาพหนึ่งก็มีการดำเนินกิจกรรมทางการทูตบางอย่างที่แสดงว่าพลังของอินเดียและสหรัฐยังมีอยู่” นักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สรุปมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย

ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณมากว่ารัฐบาลไทยไม่มีนโยบายด้านชายแดนที่ชัดเจนโดยเฉพาะชายแดนด้านตะวันตก ซึ่งในบางพื้นที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลทหารพม่า รศ.ดร.ดุลยภาค มองว่าการเข้ามามีบทบาทของจีนทำให้รัฐบาลไทยมียุทธศาสตร์ชัดเจนเพิ่มขึ้น 2 ประเด็น

“ผมเห็นภาพชัดเจนขึ้น 2 เรื่องคือ 1.การตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง โดยทางไทยอาจจะประเมินการตัดสิ่งเหล่านี้เป็นวงรอบรายเดือน ไตรมาสหรือมากสุดไม่เกิน 6 เดือน อาจมีการพิจารณาจ่าย 3 สิ่งนี้กลับคืนไปฝั่งเมียนมาซึ่งรัฐบาลไทยจะเน้น Bargaining Power โดยดูว่าฝั่งโน้นจะให้ความร่วมมือกับไทยและจีนอย่างไรในเรื่องการกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์อาชญากรรมข้ามชาติ 2. การที่ประเทศจีนชมประเทศไทยบ่อยๆ ก็สะท้อนว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคี หรืออย่างน้อยๆในอาเซียน ลุ่มแม่น้ำโขง ไทยก็อยากมีบทบาทประมาณนี้บ้างแต่ก็ต้องให้จีนมีบทบาทนำหลายๆเรื่องเพราะเรามีข้อจำกัดจริงๆกับการรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์และจีนเทา” รศ.ดุลยภาควิเคราะห์บทบาทของไทยที่กำลังจัดความสัมพันธ์ของตนเองกับประเทศในภูมิภาค

“แต่อีกเรื่องที่ยังไม่เห็นชัดคือ ณ วันนี้ประเทศไทยไม่ควรโฟกัสอยู่กับการถ่วงดุลแต่กับประเทศมหาอำนาจอย่างเดียว มันไม่ช่วยทำให้เราเป็นรัฐที่มีอำนาจยืนด้วยขาของเราเองได้ เป็นการปรับตัวไปตามประเทศใหญ่ ผมคิดว่าประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์เกี่ยวกับชายแดนตะวันตกและชายแดนภาคเหนือที่เคลื่อนไหวทะลุออกนอกแผนที่ประเทศไทย ทำให้เราไปทำงานด้านมนุษยธรรมด้านสันติภาพ การตลาด หรือวัฒนธรรม ที่ทำให้ไหลลื่นแล้วทำให้ประเทศไทยสามารถโน้มน้าวตัวแสดงหรือกลุ่มอำนาจในทางฝั่งโน้นได้มากขึ้น

“ไทยยังไม่มีอำนาจตามแนวชายแดนและการเพิ่มอำนาจต่อรองของเรา เราต้องขีดเส้นบนพื้นที่ยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนว่านี่คือพื้นที่โดยประมาณที่เป็นเขตผลประโยชน์ของไทย เช่น กรอบยุทธศาสตร์ชายแดนตะวันตก เราควรขีดเส้นอย่างน้อยจากแนวแม่น้ำเมยแล้วลากปาดเข้าไปตรงแนวเทือกเขาดาวนะหรือที่ภาษาไทยเรียกว่าเทือกเขาถนนธงชัยตะวันตก เขตตรงนี้นี่แหละ คือเขตผลประโยชน์ที่ไทยจะต้องทำงานหนักขึ้นในการจะเข้าไปมีบทบาทกับตัวแสดงหลายกลุ่มในการเข้าไปเผยแพร่ให้การศึกษากับพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างนี้อยู่ ถ้าเรามีรูปแบบในการให้ความช่วยเหลือคนในฝั่งนั้นมากขึ้นแล้วมีโจทย์ท้าทายคือให้พี่น้องฝั่งนั้นลดปัญหายาเสพติด ลดความสัมพันธ์กับจีนเทาลง เราก็ต้องมีกลไกช่วยเหลือพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อให้เรามีอิทธิพลมากขึ้น แต่จุดเบื้องต้นก่อนจะไปสู่กระบวนการที่ลึกซึ้งต่างๆ ไทยต้องระบุให้ได้ว่าพื้นที่ไหนตรงชายแดนที่ควรเป็นเขตอิทธิพลหรือเขตผลประโยชน์ของเรา” นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ช่องทางยุทธศาสตร์พื้นที่ชายแดน

ซึ่งจุดยืนของรัฐไทยในเวทีอาเซียน รศ.ดร.ดุลยภาค มองว่าเป็นท่าทีที่ทำให้เพื่อนบ้านไม่เกรงใจ

“รัฐบาลไม่ควรดูเบา ต้องหันมาดูฐานคะแนนของตัวเองซึ่งเป็นคนไทยในโซเชียลมีเดีย เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าคนไทยมองท่าทีของรัฐบาลชุดนี้ต่อเพื่อนบ้านอาจไม่ได้ดูแข็งแรงเท่าไหร่นัก และดูเหมือนว่าทั้งๆที่ประเทศไทยมีอำนาจพอประมาณในระดับอาเซียนแต่ท่าทีนโยบายต่างประเทศของไทยที่ปลดปล่อยออกไป กลับทำให้รัฐไทยดูประหนึ่งว่าเป็นรัฐชาติขนาดเล็กเท่านั้น ขาดอำนาจต่อรองกับประเทศเพื่อนบ้านและดูเหมือนว่าเพื่อนบ้านไม่เกรงใจ ผลลัพธ์เช่นนี้ จะทำให้ในระยะกลางและระยะยาว ความนิยมของรัฐบาลชุดนี้จะได้รับผลกระทบ รัฐบาลควรใส่ใจกับเสียงเรียกร้องที่ไม่พอใจท่าทีรัฐบาลที่ยอมอ่อนต่อเมียนมาหรือรัฐเพื่อนบ้านมากไป รัฐบาลไม่ควรดูเบาหากยังต้องการได้รับความนิยมจากประชาชนต่อไป” รศ.ดุลยภาคสะท้อนมุมมอง

ในขณะที่ปัญหากองกำลังว้ารุกล้ำเข้ามาในเขต จ.เชียงใหม่และ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้นั้น รศ.ดร.ดุลยภาค เผยข้อมูลล่าสุด

“รับทราบว่ามี 2 กระแส คือตรงหนองหลวง ดอยหัวม้า(ชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน) ว้าเริ่มถอนกำลังทหารไปแล้วแต่ไม่มีการออกข่าว อาจเป็นเรื่องศักดิ์ศรีเกียรติภูมิเลยไม่ให้ออกข่าวว่าถอนทหารออกไป แต่อีกกระแสได้ยินจากหน่วยในพื้นที่หลายจุดว่าว้ายังอยู่ที่เดิมหมด ไม่ใช่แค่หนองหลวงกับดอยหัวม้า 2-3 จุด ที่อยู่แถบเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังเท่านั้น แต่ชายแดนไทยเมียนมาตลอดสามจังหวัดชายแดนภาคเหนือทั้งหมด ก็มีอยู่ประมาณ 9 จุด ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าว้าแดงรุกล้ำอธิปไตยไทย

“พื้นที่ที่เราถูกรุกล้ำยังอยู่กันครบ ปัญหาคือหน่วยความมั่นคงของไทยเน้นการเจรจา แต่ผลการเจรจาผลอย่างเป็นรูปธรรมในตอนนี้ ก็คือ เขาอาจยังไม่ถอนทหาร แถมเพิ่มกำลังทหารเข้ามาด้วย ผมจึงคิดว่าทางการไทยจะต้องคิดยุทธศาสตร์เพิ่มเติมแล้วว่าเราจะกดดันว้าอย่างไร กองทัพบกมีมติวางกองกำลังเพิ่มทางภาคเหนือ ต้องดูว่ากองร้อยที่จะไปวางเพิ่มตรงจุดไหนมีศักยภาพมากพอหรือไม่ ต้องรอดูสมรรถนะทางการทหารอีกที ผมให้น้ำหนักไปที่ว่าเขายังไม่ถอน” นายกสมาคมภูมิภาคศึกษาซึ่งลงพื้นที่และติดตามปัญหานี้มาตั้งแต่ต้นให้ความเห็น

เมื่อถามว่าขณะนี้รัฐบาลไทยค่อนข้างเป็นเด็กดีของรัฐบาลจีน และจีนก็คือลูกพี่ใหญ่ของกองทัพว้า ควรให้จีนช่วยกดดันว้าให้ออกจากพื้นที่ที่รุกล้ำหรือไม่“ หน่วยงานความมั่นคงไทยโฟกัสไปที่จีนเพราะเขาเชื่อว่าจีนช่วยเหลือว้า ถ้าไปโน้มน้าวจีนได้ จีนก็สามารถสั่งว้าให้ถอนทหารได้ แต่อย่าลืมว่าจีนไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่คืบหน้ากับไทยฝ่ายเดียว จีนก็มีความสัมพันธ์ที่คืบหน้ากับว้าด้วย ดังนั้นถ้าจะให้ว้าถอนทหาร มันต้องแลกกับอะไร ถอนช่วงเวลาไหน ซึ่งคงไม่ใช่ให้ถอนกำลังออกไปเร็วไว ว้าแดงก็มีกระบวนการต่อรองกับจีนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าว้าก็มีความสัมพันธ์กับจีนในทางยุทธศาสตร์ที่ยาวนาน ไทยเอง แม้จะสัมพันธ์กับจีนอย่างยาวนาน แต่เราไม่มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับศูนย์อำนาจว้าที่ปางซาง และศูนย์อำนาจว้าที่ปางซาง ก็กำลังต่อรองกับคุนหมิง ปักกิ่ง อยู่เช่นกัน นี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่งในการเจรจาของฝั่งไทย ปัญหานี้อาจจบลงด้วยว้ายอมถอนทหาร แต่ไทยจะต้องแลกกับอะไร หรือ จบตรงที่ว้ายังไม่ยอมถอนทหาร แล้วไทยจะกดดันว้าในลักษณะไหนต่อไปอีก แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ไทยได้เสียอิทธิพลหรือสูญเสียอธิปไตยในบางพื้นที่ตรงชายแดนภาคเหนือไปแล้วจริงๆ ” รศ.ดร.ดุลยภาคสะท้อนมุมมองในหลายมิติถึงการที่จะดึงจีนเข้ามาช่วยจัดการปัญหาว้ารุกล้ำแดนไทย

“ หน่วยงานความมั่นคงไทยโฟกัสไปที่จีนเพราะเขาเชื่อว่าจีนช่วยเหลือว้า ถ้าไปโน้มน้าวจีนได้ จีนก็สามารถสั่งว้าให้ถอนทหารได้ แต่อย่าลืมว่าจีนไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่คืบหน้ากับไทยฝ่ายเดียว จีนก็มีความสัมพันธ์ที่คืบหน้ากับว้าด้วย ดังนั้นถ้าจะให้ว้าถอนทหาร มันต้องแลกกับอะไร ถอนช่วงเวลาไหน ซึ่งคงไม่ใช่ให้ถอนกำลังออกไปเร็วไว ว้าแดงก็มีกระบวนการต่อรองกับจีนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าว้าก็มีความสัมพันธ์กับจีนในทางยุทธศาสตร์ที่ยาวนาน ไทยเอง แม้จะสัมพันธ์กับจีนอย่างยาวนาน แต่เราไม่มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับศูนย์อำนาจว้าที่ปางซาง และศูนย์อำนาจว้าที่ปางซาง ก็กำลังต่อรองกับคุนหมิง ปักกิ่ง อยู่เช่นกัน นี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่งในการเจรจาของฝั่งไทย ปัญหานี้อาจจบลงด้วยว้ายอมถอนทหาร แต่ไทยจะต้องแลกกับอะไร หรือ จบตรงที่ว้ายังไม่ยอมถอนทหาร แล้วไทยจะกดดันว้าในลักษณะไหนต่อไปอีก แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ไทยได้เสียอิทธิพลหรือสูญเสียอธิปไตยในบางพื้นที่ตรงชายแดนภาคเหนือไปแล้วจริงๆ ” รศ.ดร.ดุลยภาคสะท้อนมุมมองในหลายมิติถึงการที่จะดึงจีนเข้ามาช่วยจัดการปัญหาว้ารุกล้ำแดนไทย

On Key

Related Posts

“โรม”แนะรัฐใช้มาตรการเข้มกับ “ว้า”หลังพบเป็นต้นเหตุสารพันปัญหาทั้งยาเสพติด-ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำ-รุกล้ำชายแดน กมธ.ความมั่นคงเตรียมลงพื้นที่เชียงรายสอบข้อเท็จจริงสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-สาย เตือนระวังชาวบ้านถาม “มีรัฐบาลไว้ทำไม”

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธาRead More →