Search

สถานการณ์จัดส่งแรงงานพม่าสู่ไทยชะงัก SACตั้งท่าปิดประตูหลังสร้างเงื่อนไขหลายประการไม่สำเร็จ ผู้ประกอบการไทยส่อขาดแคลนแรงงาน จี้รัฐเร่งแก้ปัญหา



เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 น.ส.สิริกร วรปัญญา นายกสมาคมการค้าพัฒนาแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่ทางการพม่าระงับการส่งแรงงานพม่ามาประเทศไทยว่า ทางการพม่าได้แจ้งทางวาจากับบริษัทจัดหาแรงงานหลายแห่ง แต่ปฏิเสธที่จะออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการระงับนี้ ซึ่งสร้างความสับสนในหมู่ผู้ประกอบการและแรงงานในไทย



น.ส.สิริกร กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศพม่าเริ่มต้นตั้งแต่รัฐประหารและมีการสู้รบอย่างรุนแรง ส่งผลให้รัฐบาลทหารพม่าจำกัดการส่งคนงานออกไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้พม่าเปิดโอกาสให้ชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-55 ปี สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ แต่เมื่อเกิดสงครามได้จำกัดการส่งคนงานที่มีอายุ 18-35 ปี เนื่องจากต้องการนำไปทหาร เมื่อสถานการณ์เริ่มยืดเยื้อนายจ้างในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งทั้งเป็นนายจ้างขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เริ่มพบปัญหาการขาดแคลนคนงานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่หมดสัญญาจ้างงาน


“กรณีที่บริษัทใหญ่ด้านการก่อสร้างแห่งหนึ่งไม่จ่ายเงินเดือนให้กับแรงงานจำนวนหลายร้อยคน ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างในไทยเกิดปัญหาหนักขึ้น พม่าต้องระงับการส่งแรงงานไปทำงานในภาคก่อสร้างของไทย แม้ว่าภาคอื่นๆ เช่น งานในภาคเกษตรกรรม ยังสามารถส่งคนงานได้ตามปกติ ล่าสุดมีการพยายามเร่งให้มีการเซ็นสัญญาการจ้างงานและตรวจสอบการโอนเงินจากนายจ้างในประเทศไทย แต่เกิดการประท้วงไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว คนงานไม่ยอมให้หักเงินและเกิดการจัดการที่ไม่โปร่งใส ทางการพม่าได้ออกคำสั่งทางวาจาห้ามการส่งแรงงานมาทำงานในประเทศไทยทั้งหมด แต่ในวงการเอเจนซี่ คนงานต่างรู้ดีว่าหากมีคำสั่งเช่นนี้ ก็หมายความว่าการส่งแรงงานจากพม่าต้องหยุดชะงักจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือการเจรจาใหม่จากทั้งสองฝ่าย”.น.ส.สิริกรกล่าว
ด้านนางนิลุบล พงษ์พยอม ผู้ก่อตั้งกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว (กลุ่มนายจ้างสีขาว) กล่าวว่า ปัญหานี้เริ่มต้นตั้งแต่การต่อทะเบียนแรงงานในช่วงแรก ๆ ซึ่งมีสัญญาณของความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่ถูกแอบแฝงเข้ามาในมติการต่ออายุ จากเดิมที่การต่อทะเบียนเป็นไปตามปกติ กลับกลายเป็นว่ามีเงื่อนไขที่ซับซ้อน และถูกบิดเบือนให้ดูคล้ายข้อตกลง MOU ใหม่ เมื่อข่าวเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแพร่ออกไป กลุ่มนายจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเริ่มออกมาแสดงความไม่พอใจ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายไทยและพม่า จนนำไปสู่การเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่าที่ดูแลเรื่องแรงงาน และเกิดความขัดแย้งกับสถานทูต เนื่องจากไทยไม่ยอมให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในประเทศ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ควรจัดเก็บจากต้นทางตามข้อตกลงเดิม


“สถานการณ์ทวีความตึงเครียดขึ้นเมื่อพม่าประกาศเงื่อนไขใหม่ เช่น การจำกัดอายุแรงงานที่สามารถเข้ามาทำงานในไทย ช่วงอายุ 18-35 ปี ในภายหลังยกระดับมาตรการโดยระงับการส่งแรงงานเข้ามาอย่างสิ้นเชิง ทำให้ไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก กระทรวงแรงงานของไทยเองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ชัดเจน กลับใช้มาตรการควบคุมที่สร้างความกังวลให้กับนายจ้างและแรงงานมากขึ้น ทางการพม่ายังส่งสัญญาณว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดแรงงานไทยเพียงอย่างเดียว และลงนามข้อตกลงส่งแรงงานไปยังรัสเซียและประเทศอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของนโยบายแรงงานระหว่างไทยและพม่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งนายจ้างและแรงงานในประเทศไทย ขณะที่ไทยเองก็ควรพิจารณาว่าจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรต่อไปในอนาคต”นางนิลุบลกล่าว

ทั้งนี้สำนักข่าวในพม่ารายงานว่า สภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC)ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับทางการรัสเซียเพื่อส่งแรงงานที่มีทักษะไปทำงานในประเทศรัสเซีย ซึ่งต้องการแรงงานราว 400,000 คน โดยเริ่มจัดส่งแรงงานในเดือนเมษายนนี้ ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม เช่น ก่อสร้าง เกษตรกรรม และปศุสัตว์ เบื้องต้น คาดว่าจะมีแรงงานประมาณ 10,000 คนถูกส่งไปทำงานในภาคก่อสร้าง โดยขณะนี้มีบริษัทจัดหางาน 4 แห่งที่ได้รับ Demand Letter แล้ว โครงการนี้ระบุว่าแรงงานสามารถไปทำงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (Zero Cost) และค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ และ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในภาคก่อสร้าง

———-

On Key

Related Posts

“โรม”แนะรัฐใช้มาตรการเข้มกับ “ว้า”หลังพบเป็นต้นเหตุสารพันปัญหาทั้งยาเสพติด-ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำ-รุกล้ำชายแดน กมธ.ความมั่นคงเตรียมลงพื้นที่เชียงรายสอบข้อเท็จจริงสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-สาย เตือนระวังชาวบ้านถาม “มีรัฐบาลไว้ทำไม”

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธาRead More →