Search

IRC เปิดสถานพยาบาลในศูนย์พักพิงแล้วหลังรัฐบาลสหรัฐฯผ่อนปรนให้บางส่วน แต่ยังไม่จัดงบส่งต่อผู้ป่วย ผู้ลี้ภัยเผยได้รับยาแค่เบื้องต้น



เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 แหล่งข่าวจากศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดนไทย-พม่า เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่สถานพยาบาลในศูนย์พักพิงฯถูกรตัดงบประมาณภายใต้นโยบายตัดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ว่าล่าสุดองค์การอินเตอร์เนชั่นแนล เรสคิว คอมมิตตี (International Rescue Committee: IRC) ซึ่งรับผิดชอบงานด้านสุขภาพในศูนย์พักพิงฯได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอในพื้นที่ชายแดน เช่น อ.ท่าสองยาง อ.พบพระ อ.แม่สอด เพื่อขอแก้ไขคำสั่งระงับการปฏิบัติงาน (Stop Working Order: SWO)



หนังสือที่ IRC ส่งถึงนายอำเภอระบุว่า ได้รับคำสั่งเพิ่มเติมจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมบางส่วนได้ในช่วงระยะเวลา 90 วันโดยกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการนั้นมุ่งเน้นการสนับสนุนรัฐบาลไทยในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้ง 7 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย 1.การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่ผู้ป่วยใน (IPD) 1.1 การดูแลต่อเนื่องสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคลมชัก 1.2 การแจกจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยวัณโรคและโรคเอชไอวี 2.การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่ผู้ป่วยนอก (OPD)

3.การให้บริการฝากครรภ์ การคลอด และการดูแลหลังคลอด 4.การให้บริการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค 5.การเฝ้าระวังโรคและการตอบสนองต่อโรคระบาด 6.การดำเนินโครงการมาลาเรียของกองทุนโลก (Global Fund Malaria Programming) 7.การจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 8.การจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล 9.การตรวจทางห้องปฏิบัติการขั้นพื้นฐาน10.การให้บริการยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อให้บริการที่กล่าวมาข้างต้น 11.การจัดทำการฝึกอบรมสำหรับผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 12.การสนับสนุนแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่จำเป็นเพื่อให้บริการที่กล่าวมาข้างต้น 13.บริการยานพาหนะเพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลในพื้นที่

หนังสือที่ IRC ส่งถึงนายอำเภอยังระบุว่าอย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ องค์การฯ ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปนี้ได้ 1.ไม่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งต่อและค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลของไทย 2.ไม่สามารถให้บริการด้านวางแผนครอบครัว 3.ไม่สามารถให้บริการด้านสุขภาพจิตและการสนับสนุนกิจกรรมด้านจิตสังคม 4.ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านสุขภาพ

“องค์การฯ จะเริ่มการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ในระดับต่างๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมข้างต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามคำสั่ง 90 วัน องค์การฯ ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะตัดสินใจให้ทุนสนับสนุนบริการด้านการดูแลสุขภาพต่อไปหรือไม่ และจะมีการแจ้งผลการตัดสินใจเมื่อใด
องค์การฯ” หนังสือระบุ

ทั้งนี้ศูนย์พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมา ทั้ง 7 แห่งที่ IRC รับผิดชอบประกอบด้วย ศูนย์พักพิงฯบ้านแม่สุริน อำเภอขุนยวม และศูนย์พักพิงบ้านใหม่ในสอย อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์พักพิงฯบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง ศูนย์พักพิงฯบ้านอุ้มเปี้ยมใหม่ อำเภอพบพระ และศูนย์พักพิงฯบ้านนุโพ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ศูนย์พักพิงฯบ้านต้นยาง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และศูนย์พักพิงฯบ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

ผู้ลี้ภัยในศูนย์พักพิงบ้านแม่หละรายหนึ่งเปิดเผย ว่า โรงพยาบาลของ IRC เพิ่งเปิดได้ไม่นานมานี้ และตนเพิ่งได้รับยามาเพียง 3 วัน แต่ความจริงแล้วต้องกินทั้งเดือน พอสอบถาม เขาบอกว่าตอนนี้จ่ายได้เท่านี้ ต้องไปซื้อยากินเองต่อ ทราบว่าโรงพยาบาลที่ดำเนินการโดยองค์กร IRC ได้กลับมาเปิดให้บริการ และ โรงพยาบาลที่ได้ตั้งขึ้นโดยผู้ลี้ภัยที่เปิดชั่วคราวภายหลังจากที่มีการหยุดให้บริการทางการรักษาของ IRC ได้ปิดตัวลงหลังจากที่ทาง IRC กลับมาให้บริการอีกครั้ง



On Key

Related Posts

“โรม”แนะรัฐใช้มาตรการเข้มกับ “ว้า”หลังพบเป็นต้นเหตุสารพันปัญหาทั้งยาเสพติด-ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำ-รุกล้ำชายแดน กมธ.ความมั่นคงเตรียมลงพื้นที่เชียงรายสอบข้อเท็จจริงสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-สาย เตือนระวังชาวบ้านถาม “มีรัฐบาลไว้ทำไม”

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธาRead More →