Search

ผู้เชี่ยวชาญแนะแยกเงินบำนาญจากประกันสังคม-สร้างเป็นกองทุนนิติบุคคล เผยหลายประเทศที่พัฒนาแล้วต่างเดินหน้าแนวทางนี้ ส่วนด้านสุขภาพให้ผู้ประกันตนใช้บัตรทอง-นำเงินสมทบส่วนนี้สะสมเป็นเบี้ยชราภาพ

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2568 ศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้นำงานด้านประกันสุขภาพของกองทุนประกันสังคมไปรวมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ว่า ก่อนหน้านั้นสังคมไทยยังไม่มีบัตรทอง แต่มีประกันสังคม มีสวัสดิการรักษาพยาบาลโดยที่ว่าผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบถึงจะได้สิทธินั้น แต่พอปี 2544 มีสิทธิรักษาพยาบาลสำหรับคนไทยทุกคนโดยที่ไม่ต้องเสียเงินสมทบใช้ภาษีมาสนับสนุน ซึ่งตอนเริ่มต้นอาจจะดูยังไม่ค่อยดีแต่ก็พัฒนามาเรื่อยๆและค่อยๆดีขึ้นจนแซงหน้าประกันสังคม

“ ถ้ามันไม่ดี ลูกจ้างก็คงไม่มีคำถาม แต่นี่มันแซงหน้าประกันสังคมแล้ว เมื่อเขาไม่ได้จ่ายเงิน แต่ได้ของที่ดีกว่าด้วยเหรอ เพราะฉะนั้นลูกจ้างก็ขอย้ายไปใช้อันนั้นกันเถอะ แล้วก็ไม่ต้องเสียเงินด้วย รัฐก็ต้องตอบคำถามว่าเมื่อให้สิทธิกับคนไทยทุกคน ก็ควรให้สิทธิกับลูกจ้างด้วย”ศ.วรวรรณ กล่าว

ที่ปรึกษา TDRI กล่าวว่า ในการจ่ายอัตราเงินสมทบ 5% นั้น 1.5 % เป็นด้านสุขภาพ เมื่อรวมกับนายจ้างอีก 1.5 รวมเป็น 3% โดยถูกใช้ไปกับการคุ้มครองการเสียชีวิต คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชดเชยเวลาป่วย ประมาณ 1% และ ถูกใช้รักษาพยาบาล 2% ดังนั้นหากให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิบัตรทองเหมือนประชาชนทั่วไปโดยไม่ต้องเสียเงินสมทบ 2 เปอร์เซ็นต์ ควรนำเงินสมทบสวนนี้ไปสู่การออมในระบบบำนาญชราภาพเพื่อทำให้กองทุนบำนาญมีเงินสะสมที่มากพอจะใช้ไปยาวขึ้น

ที่ปรึกษา TDRI กล่าวว่า เงินสมทบรักษารักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคมไม่เคยเหลือเลย แม้ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐ 3 ฝ่ายจ่ายรวมกัน 4.5% แต่เอาไปใช้เพื่อการรักษาพยาบาล 3% ซึ่งก็หมดทุกปีโดยไม่เหลือเก็บแถมเริ่มไม่พอด้วย ถ้าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไม่ต้องทำเรื่องรักษาพยาบาล แต่รัฐบาลก็ต้องให้เงินเพิ่มต่อหัวกับ สปสช. แต่รัฐบาลอาจไม่ต้องควักเพิ่มนักเพราะ โยกเอาในส่วนที่จ่ายเงินจ่ายสมทบให้กับ สปส.ไปใช้แทน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าไม่มีการคุ้มครองสุขภาพในประกันสังคม ผู้ประกันตนจะมีแรงจูงใจจ่ายเข้าสู่ระบบประกันสังคมหรือไม่ ศ.ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ประกันสังคมยังมีเรื่องการคุ้มครองทุพพลภาพ การเสียชีวิต การว่างงาน และเงินกองนี้ที่นายจ้างและลูกจ้างยังจ่ายสมทบเรื่องบำนาญชราภาพซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์

เมื่อถามอีกว่าในแง่ของการแข่งขัน ถ้ามี สปสช.เพียงอย่างเดียว ทำให้ประสิทธิภาพลดลงหรือไม่ ที่ปรึกษา TDRI กล่าวว่าที่อังกฤษ แคนาดา ก็มีกองเดียวคือทุกคนใช้สิทธิเหมือนกันหมด และทำให้ สปสช.มีอำนาจไปต่อรองกับโรงพยาบาลเพราะว่าเป็นกองทุนที่ใหญ่มากอยู่ฝ่ายผู้ป่วย เป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองซึ่งตรงนี้โรงพยาบาลเอกชนจะไม่ชอบ โรงพยาบาลรัฐและกระทรวงสาธารณะสุขก็อาจจะไม่ชอบ คือทำให้อำนาจของ สปสช.เพิ่มขึ้น ขณะที่กองทุนประกันสังคมไม่ได้มีเป้าหมายการทำกองทุนคุ้มครองสุขภาพเพื่อสร้างความมั่งคั่ง แต่มีเป้าหมายในการเก็บเงินสมทบมาแล้วก็ใช้ไป

เมื่อถามว่า กรณีสิทธิประโยชน์อื่นๆของประกันสังคมยังควรคงเอาไว้หรือไม่ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม TDRI กล่าวว่า “ใช่ค่ะ มันเป็นเรื่องสวัสดิการแรงงานก็เหมาะสมแล้วที่จะอยู่กระทรวงแรงงาน แต่บำเหน็จบำนาญเป็นลักษณะของการออมเป็นการสะสมเงินเพื่อใช้ในอนาคต เป็นเรื่องของการลงทุน เป็นเรื่องของความมั่งคั่ง การเงิน ควรถูกแยกออกมา มันต้องการการสะสม สร้างความมั่งคั่ง แยกเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญนิติบุคคลออกมาต่างหาก ประเทศที่เขาพัฒนาทั่วโลก เขาก็แยกออกมาหมดแล้ว บริหารโดยผู้เชี่ยวชาญมีความรู้มากที่สุดในประเทศ ควรจะอยู่ตรงนั้นเพราะมันเป็นกองเงินที่ใหญ่ที่สุด”

ศ.ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ส่วนของลูกจ้างถ้ารัฐไม่ได้สมทบกรณีชราภาพ ก็ควรจะถูกแยกออกมาเป็นนิติบุคคลแล้วแยกออกมาบริหารโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมีความรู้จะอยู่ภายใต้กำกับของรัฐก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากกองทุนชราภาพแยกออก สปส.ยังควรเป็นองค์กรอิสระอยู่หรือไม่ ศ.ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ถ้าเหลือแค่สวัสดิการระยะสั้น ตัวสำนักงานไม่จำเป็นแล้ว

“เงินก็จะเหลือไม่เท่าไรแล้ว หลักแสนล้าน เหลือจากการประกันการว่างงานซึ่งไม่ควรถูกนำไปใช้ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา มันต้องใช้เงินก้อนนี้ จะถูกอ้างไปใช้ดูงานต่างประเทศไม่ได้อีกต่อไปเพราะไม่เหลือเงินให้อ้าง ถ้าแยกส่วนที่เป็นนิติบุคคล จึงควรแยกส่วนที่เป็นกองทุนชราภาพ แล้ว สปส.ก็ดูด้านสวัสดิการแรงงานเป็นหลัก” ที่ปรึกษา TDRI กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า 3 กองทุนด้านสุขภาพควรไปทิศทางเดียวกันหรือไม่ ที่ปรึกษา TDRI กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องรวมกันแต่สิทธิประโยชน์ควรจะไปในทิศทางเดียวกัน“เราเป็นคนไทยเหมือนกัน กลุ่มหนึ่งควรจะได้สิทธิประโยชน์มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งหรือ เมื่อเสียภาษีเหมือนกันแล้วสวัสดิการเจ็บป่วยมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ควรจะให้ทุกกลุ่มเหมือนกัน มันคือหลักการ ถ้าเราเห็นตรงกันว่าเกิดมาจะยากดีมีจน คุณป่วยคุณต้องได้รับการดูแลเหมือนกัน ดังนั้น 3 สิทธินี้จะอยู่คนละกองก็ได้ แต่สิทธิประโยชน์ต้องไปในทางเดียวกัน ต้องค่อยๆปรับเพราะมันเกิดมาต่างกรรมต่างวาระ”ศ.วรวรรณ กล่าว

“เราเป็นคนไทยเหมือนกัน กลุ่มหนึ่งควรจะได้สิทธิประโยชน์มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งหรือ เมื่อเสียภาษีเหมือนกันแล้วสวัสดิการเจ็บป่วยมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ควรจะให้ทุกกลุ่มเหมือนกัน มันคือหลักการ ถ้าเราเห็นตรงกันว่าเกิดมาจะยากดีมีจน คุณป่วยคุณต้องได้รับการดูแลเหมือนกัน ดังนั้น 3 สิทธินี้จะอยู่คนละกองก็ได้ แต่สิทธิประโยชน์ต้องไปในทางเดียวกัน ต้องค่อยๆปรับเพราะมันเกิดมาต่างกรรมต่างวาระ”ศ.วรวรรณ กล่าว

On Key

Related Posts

“โรม”แนะรัฐใช้มาตรการเข้มกับ “ว้า”หลังพบเป็นต้นเหตุสารพันปัญหาทั้งยาเสพติด-ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำ-รุกล้ำชายแดน กมธ.ความมั่นคงเตรียมลงพื้นที่เชียงรายสอบข้อเท็จจริงสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-สาย เตือนระวังชาวบ้านถาม “มีรัฐบาลไว้ทำไม”

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธาRead More →