
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ชาวบ้านและเครือข่ายหลายองค์กรในประเทศไทยเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อปกป้องแม่น้ำและเยียวยาระบบนิเวศ เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Actions for Rivers) ในวันที่ 14 มีนาคมนี้ โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านปากมูล จ.อุบลราชธานี และคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล เตรียมจัดกิจกรรม “หยุดสร้างเขื่อนใหม่ แก้ไขปัญหาเขื่อนเก่า” ในวันที่ 13 – 14 มีนาคม ณ วัดสว่างคงคา บ้านวังสะแบงใต้ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยมีการล่องแพสำรวจปัญหา ความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำมูน และร่วมสวดมงคลเย็นที่วัด
ทั้งนี้การสร้างเขื่อนปากมูล ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นตัวอย่างความล้มเหลวของการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูล ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพราะทำลายระบบนิเวศและชุมชนลุ่มน้ำมูลตอนล่างตั้งแต่ปี 2536 จนปัจจุบันซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ภาคประชาชนในนามเครือข่ายแม่น้ำโขงได้เตรียมจัดกิจกรรมในหลายพื้นที่ โดยในวันที่ 13 มีนาคม เวลา 10.00 น. ที่ร้านส่งสาร จ.อุบลราชธานี จะจัดวงพูดคุย ประเด็น “คนอุบล เอาบ่? น้ำท่วม เขื่อนใหม่ ค่าไฟแพง” โดย มี ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นางบุญทัน เพ็งธรรม ประธานเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันพิบัติจังหวัดอุบลราชธานี (อชปภ.) ทีม#SaveUbon มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และนายสันติชัย อาภรณ์ศรี จาก JustPow มีการ Live ผ่านเพจอยู่ดีมีแฮง และ JustPow
ด้านโฮงเฮียนฮักแม่น้ำของ บ้านตามุย อ.โขงเจียม เตรียมจัดกิจกรรม “วันบอกรักแม่น้ำโขง” ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคมโดยมีกิจกรรมร้องเล่นเต้นรำ คุยภาษาฮักแพง โดยพ่อครูแม่ครู และล่องเรือขบวนไปทำกิจกรรม ”ปักธูปเทียนบอกกล่าวแม่น้ำโขง“ บายศรีสู่ขวัญ ณ หาดวิจิตรา และตั้งวงคุย ”แนวทางอนุรักษ์ วงพูดคุยแลกเปลี่ยน หัวข้อ “14:14 วันบอกรักแม่น้ำโขง” และกิจกรรมเยาวชนเด็กไทฮิมของ
ทั้งนี้แม่น้ำโขง ท้ายน้ำโขงด้าน อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ มีโครงการสร้างเขื่อนภูงอย กั้นแม่น้ำโขงใน แขวงปากเซ สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนถึงแผ่นดินไทยในภาคอีสาน
ส่วนที่แม่น้ำสาละวิน เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เตรียมจัด กิจกรรมน้ำใจใสสะอาด รักษ์โลก รักษ์แม่น้ำ ที่บ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยในวันที่ 12 มีนาคม เวลา 8.00 น ที่สะพานแม่เงา และแม่น้ำสองสี โดยจะมีกิจกรรมเดินขบวนเพื่อปกป้องแม่น้ำ และกิจกรรมเยาวชน
ทั้งนี้ชาวบ้านลุ่มน้ำเงา-ยวม มีความกังวลต่อโครงการผันน้ำยวม (เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล มูลค่า 2.2 แสนล้าน ที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน) เนื่องจากในแผนงานจะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ซึ่งชุมชนมีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อนิเวศผืนป่า 3 จังหวัดภาคเหนือ ที่สำคัญคือในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ทางการใช้อ้างอิงนั้น ชาวบ้านเห็นว่ามีการบิดเบือนข้อมูลและนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง

ในส่วนของชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวิน ได้เตรียมจัดงานที่บ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ และซูแมท่า ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งคาดว่าจะมีชาวบ้านนับพันคนมาร่วมงานเนื่องจากในปีนี้พื้นที่ชายแดนสาละวินทั้งสองฝั่งมีความความหวาดกลัวลดลงมาก เนื่องจากทหารกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) สามารถผลักดันทหารพม่าพ้นจากฐานปฏิบัติการริมแม่น้ำสาละวินหมด โดยจะมีเวทีสรุปข้อมูลสถานการณ์แม่น้ำสาละวิน ซึ่งแม่น้ำสาละวินเป็นนานาชาติที่ยาวที่สุดสายสุดท้ายที่ยังคงไหลอย่างอิสระ จากต้นธารหิมะละลายบนเทือกเขาหิมาลัย สู่ทะเลอันดามัน อย่างไรก็ตามล่าสุดมีข่าวว่ารัฐบาลทหารพม่าพยายามผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนสาละวิน ในรัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ทำให้ชาวบ้านต่างรู้สึกวิตกกังวล
นส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค Internaitonal Rivers กล่าวว่า วันอนุรักษ์แม่น้ำเกิดขึ้นครั้งแรกจากการเคลื่อนไหวของชุมชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน และกลุ่มนักอนุรักษ์ที่ทำงานปกป้องแม่น้ำ ครั้งแรกเมื่อปี 1997 ในการประชุมนานาชาติของผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่บราซิล ซึ่งที่ประชุมครั้งนั้นเป็นจุดเชื่อมโยงของผู้คนจากหลายประเทศ ซึ่งล้วนมีเรื่องราวคล้ายกัน คือเขื่อนขนาดใหญ่ทำให้พวกเขาต้องพลัดถิ่น สูญเสียที่ดินทำกิน สูญเสียแหล่งรายได้ดำรงชีพ วัฒนธรรม และทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำ ปีนี้มีการลงทะเบียนจัดกิจกรรมจาก 25 แห่งทั่วโลก ทั้งในเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกา และแนวโน้มในขณะนี้หลายประเทศเริ่มยอมรับแนวคิดสิทธิของแม่น้ำ Rights of Rivers มากขึ้นเรื่อยๆ
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสายต่าง ๆ บนโลกใบนี้ ได้สร้างความเสียหายมาตลอด ผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนโยบายและความคิดที่มองว่าเขื่อนเป็นพลังงานสะอาดทำให้เขื่อนเดินหน้า ที่ชัดเจนคือเขื่อนแม่น้ำโขง ได้สร้างผลกระทบมากมายมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่เขื่อนไฟฟ้าก็ยังถูกสร้างเพิ่มขึ้นทั้งแม่น้ำโขงตอนบนและตอนล่างอย่างไม่มีท่าทีที่จะหยุด ในวาระวันหยุดเขื่อนโลก ในฐานะประชาชนก็ต้องต่อสู้และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้หันมาให้ความสำคัญกับแม่น้ำและหยุดทำลายแม่น้ำจากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ต่าง ๆ
นายมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) กล่าวว่า สถานการณ์ผลกระทบเขื่อนจีนต่อแม่น้ำโขงในปีนี้รุนแรงขึ้น โดยฤดูแล้งปีนี้จีนระบายน้ำจากเขื่อนทำให้น้ำโขงขึ้นลง 3 ครั้งแล้ว โดยล่าสุด ระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ในปริมาณที่สูง เกือบ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำเพิ่มทุกสถานีวัดน้ำแม่น้ำโขง โดยสูงต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์แล้ว
“วันหยุดเขื่อนโลกปีนี้ ระดับน้ำผิดฤดูกาลแม่น้ำโขงจะคงระดับนี้ไปหลายพื้นที่ ตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี ลงไป ปีนี้ถือว่าระบบนิเวศน์ฤดูแล้งถูกทำลายอย่างรุนแรง ปลาสร้อยที่อพยพในช่วงฤดูแล้งแต่น้ำผันผวน นกวางไข่ที่เกาะดอนแม่น้ำโขงปีนี้ถูกน้ำท่วมไปเป็นวงกว้าง และความผันผวนในหน้าแล้งปีนี้ไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”นายมนตรี กล่าว
นายมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาสร้างความเสียหายรุนแรงต่อระบบนิเวศน์รุนแรงขึ้นทุกขณะ รวมถึงระบบนิเวศน์ฤดูฝนที่มีการกักน้ำทำให้น้ำไม่ยกระดับขึ้นตามฤดูกาลสร้างความเสียหายเช่นกัน นี่คือการประกาศว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ คือ พลังงานสะอาด แต่เป็นการซ่อนสิ่งสกปรกไว้ ที่ปิดอย่างไรก็ไม่มิด