เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้จัดประชุมติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีปัญหาและผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ที่ห้องประชุม 901 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และทางระบบอิเล็กโทรนิค โดยมีตัวแทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมแผนที่ทหาร และตัวแทนภาคประชาชนที่ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบกรณีโครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม และเขื่อนพูงอย เพื่อให้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวปัญหาและความคืบหน้าในระดับพื้นที่
นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากมีประชาชนได้ร้องเรียนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวปัญหาการก่อสร้างโครงการเขื่อนสานะคาม ปากแบง และพูงอย ในสปป.ลาว ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีเขื่อนสานะคามเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566
นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง กล่าวว่าได้ร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) กรณีโครงการเขื่อนสานะคาม ซึ่งสทนช.จัดประชุมแล้ว 4 ครั้ง พบว่าเป็นกระบวนการเร่งรีบและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพิ่มเติมของ MRC นอกจากนี้เป็นเอกสารเป็นข้อมูลภาษาอังกฤษ ซึ่งมีการแปลและเปิดเผยในเวลาที่กระชั้นชิดมาก ทำให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก และรายงานการศึกษาไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุมตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะชุมชนในเขตประเทศไทย
นางสาวไพรินทร์ เสาะสาย เจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่าเมื่อเดือนกันยายน 2567 กลุ่มรักษ์เชียงของได้ส่งหนังสือถึงนายรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ระงับการก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบง จนกว่าจะมีการทำการศึกษาแบบจำลองระดับน้ำท่วม น้ำเท้อจากเขื่อนปากแบงและผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนตอนบนในจีน การติดตั้งสถานีวัดน้ำในแม่น้ำสาขา และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนต่อชุมชนในประเทศไทย และการจัดทำแผนการเยียวยาลดผลกระทบและบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากกรณีเขื่อนปากแบงก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากปี 2567 อำเภอริมแม่น้ำโขงต้องประสบภัยพิบัติน้ำท่วมหลากซึ่งชุมชนต้องสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมเป็นบริเวณกว้าง เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับกรณีเขื่อนปากแบงที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดทำรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนที่ทางบริษัทได้ดำเนินการและหน่วยงานใดจะทำหน้าที่ในการพิจาราณาและบังคับใช้รายงานฉบับนี้
นางสาวสดใส สร่างโศรก เครือข่ายจับตาน้ำท่วมอุบล กล่าวว่าขณะนี้ประชาชนใน จ.อุบลราชธานี ต่างมีความกังวลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนพูงอย ว่าจะก่อผลกระทบข้ามพรมแดนและน้ำเท้อเข้ามายังแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูนในเขตประเทศไทย และจะทำให้จังหวัดอุบลฯ ซึ่งเผชิญน้ำท่วมหนักซ้ำซากทุกปี จะมีน้ำท่วมขังนานกว่าปกติ เขื่อนพูงอยจะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาที่จะขึ้นมายังแม่น้ำโขงตอนบนและแม่น้ำมูน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน จึงอยากให้มีการศึกษาแบบจำลองผลกระทบจากน้ำเท้อที่จะเกิดขึ้นจากกรณีเขื่อนพูงอย ควบคู่ไปกับการศึกษาของบริษัท เพราะตอนนี้ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการศึกษาของบริษัทต่อสาธารณะแต่อย่างใด
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาสทนช. กล่าวว่าสทนช.ดำเนินงานโดยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก กระบวนการ PNPCA เขื่อนสานะคาม เป็นกรณีแรกที่มีความร่วมมือทวิภาคีกับรัฐบาลสปป.ลาว เพื่อขอให้มีการจัดทำข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติม ต่างจากเขื่อนอื่นๆ ที่ผ่านมา แม้โครงการนี้จะเข้าสู่กระบวนการ PNPCA ตั้งแต่ปี 2564 แต่ก็ยืดระยะเวลามาจนถึงตอนนี้ ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อมูลที่จะชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มจะมีผลกระทบอย่างไร โดย PNPCA ไม่ใช่การศึกษาเชิงลึกทั้งหมด เราต้องการได้ข้อมูลที่เป็นวิชาการเพื่อจะเอาไปให้พี่น้องประชาชนได้เห็นและรับว่ามีข้อห่วงกังวลอย่างไร และเราได้รับข้อห่วงกังวลจำนวนมากเพื่อนำไปประกอบการจัดทำ Reply Form เพื่อให้ผู้พัฒนา (บริษัท) ต้องศึกษาเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง สทนช.จะรวบรวม วิเคราะห์ ยกร่างแบบตอบกลับภายในเดือนมีนาคม จะจัดประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและบูรณาการด้านยุทธศาสตร์เพื่อพิจารณาใบตอบกลับในเดือนเมษายน และประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) เพื่อพิจารณา Reply Form ของไทยในเดือนเมษายนนี้
เลขาสทนช. กล่าวอีกว่าสำหรับโครงการเขื่อนปากแบง ขณะนี้อยู่ในขั้น Joint Action Plan (JAP) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) โดยสทนช.ได้ทำหนังสือส่งไปยังกฟผ.ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้า ว่าได้มีการดำเนินการตาม JAPอย่างไรบ้าง และทางกฟผ.ก็แจ้งว่าเอกสารต้องรับการเห็นชอบจากคู่สัญญาและให้ทางสทนช.ประสานไปยัง MRC ส่วนกรณีโครงการเขื่อนพูงอย ยังไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการ PNPCA ทางสนทช.ยังพบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ Tariff MOU เป็นเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ จึงทำให้ไม่สามารถบูรณาการข้อมูลและติดตามการดำเนินการตาม JAP ที่อยู่ในเงื่อนไขสัญญาได้
นายวัฒนพงศ์ คุโรวาท ผู้อำนวยสนพ. กล่าวว่าการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นพลังงานสะอาดและมีราคาถูกและเสถียรภาพด้านราคาตลอดสัญญาสัมปทานต่างจากก๊าซธรรมชาติ และยังช่วยประเทศมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ด้วย ขณะนี้โครงการเขื่อนสานะคาม ยังไม่มี Tariff MOU และตั้งแต่ปี 2564 ทางกระทรวงพลังได้แจ้งไปยังกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของสปป.ลาว ว่าให้ชะลอออกไปก่อนเนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบเรื่องเขตแดน เช่นเดียวกับโครงการเขื่อนพูงอย ส่วนกรณีโครงการเขื่อนปากแบงนั้นมีการลงนามสัญญาซื้อขายไปแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง
นายธวัชชัย ธนพิพิธไพศาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่ากรณีเขื่อนสานะคามและเขื่อนพูงอย ยังไม่มี Tariff MOU ส่วนเขื่อนปากแบงนั้นยังอยู่ในระหว่างการจัดหาเงินกู้สำหรับโครงการ ซึ่งรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นยังไม่ถึงกำหนดส่งตามสัญญา หากมีการส่งเอกสารแล้วกฟผ.จะส่งให้สทนช.ช่วยพิจารณาในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และจะนำขึ้นในเว็บไซต์
ขณะที่ตัวแทนกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กล่าวว่ากรณีประเด็นการปักปันเขตแดนระหว่างไทยลาวอยู่ระหว่างการตรวจสอบเส้นเขตแดนและเกาะดอนของแม่น้ำโขง ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีความเห็นทางเทคนิคที่แตกต่างกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการถ่ายทอดข้อมูลเชิงเทคนิคร่วมกันอยู่ ซึ่งต้องมีการเจรจาต่อไป กรณีเขื่อนสานะคามและเขื่อนอื่นๆจึงยังรอข้อมูลว่าจะมีผลกระทบต่อเส้นเขตแดนหรือไม่ ถ้ากรมรับทราบข้อมูลทางเทคนิคแล้ว กรมจะให้ความเห็นทางกฎหมาย เช่นมาตรการในการรักษาสิทธิของไทย
นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวสรุปในที่ประชุมว่า คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อปี 2566 ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาความสมดุลทางพลังงานและทางเลือกพลังงานหมุนเวียนนั้น แม้พลังงานน้ำจะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่สะอาด แต่ก็อาจจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ จะต้องเอาข้อมูลเหล่านี้มาประกอบด้วย จะต้องมีสมดุลและพิจารณาว่ามีพลังงานอื่นอีกหรือไม่ การจัดตั้งกลไกใปการประสานงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่และจังหวัด ในระดับจังหวัดนั้นแทบจะไม่ทราบความคืบหน้าของการดำเนินงาน และกลไกเหล่านี้จะต้องให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง ส่วนการสื่อสารข้อมูลของหน่วยงาน การเผยแพร่ข้อมูลเว็บไซต์อาจจะไม่เพียงพอ จะต้องมีวิธีที่ทำข้อมูลให้เป็นภาษาไทย เข้าใจง่าย
ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวอีกว่า เขื่อนสานะคามที่จะต้องส่ง Reply Form นั้นจะมีข้อมูลอย่างไร จะมีกรอบการตัดสินใจอย่างไร จะดำเนินการทันเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะข้อมูลการศึกษาก็ยังไม่ชัดเจน ตนอยากให้เป็นการทำการรับฟังความคิดเห็น Public Hearing เต็มรูปแบบตามกฎหมายของไทยเพื่อให้ประชาชนมีเวลา มีข้อมูลเพียงพอและหาทางแก้ไขและป้องกันต่อไปในอนาคต ไม่ใช่เพียงการให้ข้อมูล National Information Sharing เท่านั้น ส่วนประเด็นการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน (TbEIA) ของเขื่อนปากแบง เป็นไปได้หรือไม่ที่ทางกฟผ.จะเสนอให้ทางบริษัทนำเสนอรายงานความก้าวหน้า(Progress Report) เพื่อให้ภาคประชาชนและหน่วยงานอื่นๆได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาผลของรายงานนั้น จะอาศัยอนุกรรมการยุทธศาสตร์ที่ทางสทนช.ได้มีการตั้งขึ้นมานั้นได้หรือไม่
“กรณีโครงการเขื่อนไซยะบุรี แม้จะมีข้อจำกัดแต่ผลกระทบมันเกิดขึ้นจริงกับประชาชนแล้วทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ ทางกฟผ.ในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้าจะต้องเร่งรัดการเยียวชาช่วยเหลือประชาชนและบริษัทผู้พัฒนาโครงการก็เป็นบริษัทไทยเช่นเดียวกัน ก็ต้องใช้หลักการเดียวกัน กรณีโครงการเขื่อนพูงอย จะต้องมีการศึกษาภายในประเทศ ต้องทำคู่ขนานไปกับข้อมูลของประเทศผู้สร้างเขื่อน จะได้มีข้อมูลในส่วนที่เป็นเชิงลึกของเราจากหน่วยงานและประชาชน ทำให้ประชาชนได้ร่วมกันพิจารณาผลกระทบทั้งต่อประชาชนและเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นเรื่องเขตแดนและแม่น้ำโขง เป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อนมาก”ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว
นายทรงศักดิ์กล่าวว่า ควรมีกลไกร่วมกันและมีความถี่ในการประชุมมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงรุนแรและรวดเร็วมาก เขตแดนเปลี่ยนเร็ว หากจัดการได้เร็วก็จะทำให้ประชาชนที่ใช้ประโยชน์โดยตรงไม่ได้รับความเสียหาย เพราะจากการลงพื้นที่ของเรา ประชาชนทั้งสองฝั่งที่เคยไปจับปลาในเกาะแก่ง บางทีก็ไม่แน่ใจว่าเป็นของไทยหรือของลาว อาจจะต้องรับฟังความเห็นจากพื้นที่เพื่อมาประกอบกัน ประชาชนที่ใช้ชีวิตปกติทุกวันจะได้มีความมั่นใจ อาจจะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมาจัดการได้หรือไม่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของชาวบ้านทั้งสองฝั่ง มีมาตรการอะไรที่ชั่วคราวที่ช่วยเหลือประชาชนได้ก็ต้องเร่งรีบทำ
———–