
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่น้ำในแม่น้ำกกที่ไหลผ่าน อ.เมืองเชียงราย มีสีขุ่นข้นแตกต่างจากฤดูแล้งในทุกๆ ปี ว่ายังไม่ทราบเรื่อง แต่จะสั่งการให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.)ไปเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจสอบ
คนขับเรือรับจ้างในแม่น้ำกก อ.เมือง จ.เชียงราย รายหนึ่งกล่าวว่า น้ำกกขุ่นข้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ซึ่งเกิดภัยพิบัติใหญ่เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ยังไม่มีช่วงใสเลย ทั้งๆที่ตามปกติเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงเวลาที่น้ำกกมีความใสและน่าลงเล่นน้ำ สอดรับกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตามพวกตนได้สอบถามไปยังเพื่อนๆคนขับเรือที่อยู่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงราย ก็ได้รับคำตอบว่าน้ำกกขุ่นมาจากเมืองสาดในรัฐฉาน เพราะมีการขุดเหมืองทองที่นั่น ทำให้รู้สึกกังวลว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำหรือไม่
“ถ้าทางพม่าเห็นใจก็ควรหยุดทำเหมืองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้เราก่อน เพื่อให้น้ำใส ตอนนี้ไม่มีใครอยากลงเล่นน้ำ เขาไม่มั่นใจ น้ำกกขุ่นข้นมาก เขาไม่รู้ว่าลงไปแล้วจะเจอสารอะไรบ้าง จริงๆแล้วหน่วยงานราชการ ควรลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบและประกาศให้ประชาชนได้รับรู้ว่ายังเล่นน้ำได้อยู่หรือไม่หรือควรมีข้อระมัดระวังอย่างไร จริงๆ แล้วน้ำกกขุ่นข้นมาตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่นี่ผ่านมา 6 เดือนแล้ว เขาน่าจะผิดสังเกตกันบ้าง เพื่อจะได้เข้ามาแก้ปัญหา” คนขับเรือรายนี้กล่าว กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการใช้กูเกิลเอิร์ทสำรวจพื้นที่ริมแม่น้ำกกในรัฐฉานประเทศพม่า พบว่าตลอดลำน้ำกก ในเขตเมืองสาด ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยแค่เพียงราว 30 กม.มีการเปิดหน้าดินขนาดใหญ่กระจัดกระจายตลอดลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาขาซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เมืองสาดซึ่งมีญาติพี่น้องฝั่งไทยเล่าว่า เป็นการทำเหมืองทองของกลุ่มคนจีนที่ได้รับสัมปทานจากกองกำลังว้า UWSA (United Wa State Army) ที่เข้ามายึดครองพื้นที่แทนกองกำลังไทใหญ่เมื่อกว่า 20 ปีก่อน โดยพื้นที่เหล่านี้มีชายฉกรรจ์ถือปืนคุมเข้มไม่ให้ชาวบ้านท้องถิ่นเข้าไปใกล้บริเวณที่ทำเหมืองนี้และห้ามถ่ายภาพเด็ดขาด
ด้าน น.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยและผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กล่าวว่าสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือกรณีที่ดินโคลนไหลมามาท่วมพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย และ อ.แม่สาย เพราะหากดินโคลนเหล่านั้นไหลมาจากการทำเหมืองทองก็จะทำให้ชุมชนและระบบนิเวศตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงจากการปนเปื้อนสารพิษ โดยการทำเหมืองทองแบบเปิดหน้าดินและนำมากองก่อนเอาเข้าโรงแต่งแร่ ถ้าเป็นดินส่วนนี้ที่ไหลมากับน้ำท่วมใหญ่ ทำให้เสี่ยงต่อสารหนูที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในดิน ทำให้แพร่กระจาย จึงควรมีการต้องตรวจพิสูจน์อย่างถูกต้อง
น.ส.สมพรกล่าวว่า หากมีการเอาแร่ทองคำเข้าไปในโรงแต่งแร่ การหลอมทองการที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มักใช้สารไซยาไนด์ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังไม่ให้สารนี้หลุดรอดออกมาสู่ระบบนิเวศ ซึ่งหากหลุดรอดแต่ไม่เข้มข้นก็ยังจัดการได้ ส่วนใหญ่เหมืองขนาดกลางและเล็กมักใช้ปรอทเป็นตัวหลอมทอง หวั่นว่าหากหลุดเข้าสู่ระบบนิเวศและสู่ห่วงโซ่อาหารและอยู่ในตัวปลา หากไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้วไปตรวจก็จะใช้วิธีตรวจที่ผิดและไม่ได้ความจริงออกมา หากต้องการตรวจโลหะหนักต้องตรวจตะกอนดินว่ามีสารหนูหรือไม่ หากเกี่ยวข้องกับสารปรอท ก็ควรต้องเอาปลามาตรวจควรและต้องเป็นปลานักล่า ดังนั้นหากไม่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจอาจจะไม่เจออะไร
“ควรตรวจตะกอนดินหาสารหนู และหาปรอทในปลาซึ่งเป็นปลานักล่า ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น คนหาปลามาร่วมด้วยเพราะเขารู้ว่าควรตรวจปลาชนิดไหนบ้างที่เป็นปลานักล่า ถ้าเราวางตัวชี้วัดผิด ใช้วิธีผิด แปลผลผิด การอธิบายต่อประชาชนก็จะผิด เราควรให้ชาวบ้านรู้ข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น เพราะเขาจะได้รับมือกับมันได้ แต่เบื้องต้นเราต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าเป็นเหมืองทองแบบไหน เราต้องจัดการกับแหล่งต้นกำเนิดให้ได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพรายนี้ กล่าว
————–