
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.เขต 7(อ.แม่อาย อ.ฝาง)จ.เชียงใหม่ พรรคประชาชนให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ชาวบ้านริมแม่น้ำกก ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ร้องเรียนกรณีน้ำในแม่น้ำสายขุ่นข้นเนื่องจากการทำเหมืองทองบริเวณต้นแม่น้ำกกในเขตรัฐฉาน ประเทศพม่า ว่าได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนฯแล้ว ซึ่งคาดว่าภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐบาล คณะ กมธ.จะลงพื้นที่
นายสมดุลย์ยังได้โพสต์ข้อความลงเฟสบุคด้วยว่า ต้องการให้มีการตรวจสอบเนื่องจากมีการทำเหมืองทองคำ บนต้นน้ำกก ห่างจากชายแดนไทยเพียง 7 กิโลเมตร หรือห่างจาก สะพานแม่น้ำกก ต.ท่าตอน ประมาณ 12 กิโลเมตร อาจปล่อยสารพิษปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำกก ส่งผลให้แหล่งน้ำขุ่นข้น เป็นเหตุให้มีปลาในแม่น้ำตายเป็นจำนวนมาก และประชาชนสองฝั่งแม่น้ำ ต่างกังวลในเรื่องของคุณภาพน้ำ เกรงว่าจะไม่สามารถใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงน้ำหลากที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมและปกคลุมด้วยโคลนตมจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่ลุกลามและรุนแรง
นายสมดุลย์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เป็นปัญหาความเป็นความตายของประชาชนและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการ 1. ต้องมีการเร่งตรวจสอบ คุณภาพน้ำว่ามีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำเพื่อการบริโภคอุปโภคอย่างไร ให้จัดส่งคณะทำงานลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณภาพนํ้า และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อย่างเร่งด่วน 2. ผลักดันให้มีมาตรการถาวร เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายลุ่มนํ้าข้ามพรมแดนในลักษณะเช่นนี้อีก รวมถึงปัญหาฝุ่นควันด้วย ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งสองประเทศในขณะนี้
“แม่น้ำกกเป็นมากกว่าลำน้ำธรรมชาติ แต่คือชีวิตและความมั่นคงของชุมชนทั้งสองฝั่ง เราทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันปกป้อง ก่อนที่ความเสียหายจะเกินกว่าจะเยียวยา” นายสมดุลย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การสร้างเหมืองทองเกิดขึ้นบริเวณต้นน้ำที่อยู่นอกประเทศ จะทำอย่างไร นายสมดุลย์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพราะเกี่ยวข้องไปถึงกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม แต่รัฐบาลควรเข้ามาดำเนินการแก้ไขเพราะเป็นปัญหาผลกระทบข้ามแดน
“เท่าที่สำรวจทางกูเกิลเอิร์ทในเบื้องต้น คาดว่ามีการเปิดหน้าดินกว่า 1,000 ไร่ บริเวณต้นน้ำกก มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าเป็นสถานที่แต่งแร่หรือไม่ เพราะในพื้นที่มีกองกำลังคอยคุ้มกันห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปเด็ดขาด เรื่องนี้ใหญ่ ไม่ใช่แค่ปัญหาของชาวท่าตอน แต่เป็นปัญหาของคนตลอดลุ่มน้ำกก เพราะทราบมาว่าน้ำกกที่เชียงรายก็ขุ่นเช่นเดียวกัน แถมที่เชียงรายยังใช้น้ำกกทำน้ำประปาด้วย หากมีสารปนเปื้อนก็เป็นการตายผ่อนส่ง ”นายสมดุลย์ กล่าว
ขณะที่นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย ประสานสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำกกในจังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ ในวันที่ 24 มีนาคม 2568
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสจ.)เชียงราย กล่าวว่า ปรากฎการณ์น้ำขุ่นของน้ำกกในปีนี้มีความผิดธรรมชาติมาก เพราะปกติในหน้าแล้งน้ำกกจะใส และไม่เคยเกิดน้ำขุ่นแบบนี้มาก่อนในฤดูนี้ หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายสั่งการ ทาง ทสจ.เชียงราย ก็ได้ประสานปลัดจังหวัด สำนักงานจังหวัดเชียงราย นายอำเภอเมือง และอำเภอแม่สรวย ในการตรวจคุณภาพน้ำ แม้ว่าจังหวัดเชียงใหม่จะมีการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจแล้ว หากชาวบ้านเชียงรายยังมีความกังวล ทาง จ.เชียงรายก็จะดำเนินการประสานเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ สำนักสิ่งแวดล้อมภาค 1 เชียงใหม่ ให้มาตรวจในวัน 24 มีนาคมนี้ด้วย โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการประปาภูมิภาคเชียงรายเข้าร่วมหารือและเก็บตัวอย่างน้ำอย่างน้อยสามจุด ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“การตรวจคุณภาพปกติจะเป็นการตรวจน้ำผิวดิน ปีละ 4 ครั้ง รายไตรมาส แต่เมื่อมีความกังวลเรื่องโลหะหนักก็จะดำเนินการตรวจอย่างละเอียดปริมาณโลหะหนักในน้ำด้วย”เจ้าหน้าที่ ทสจ.กล่าว
————-